Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ควายน้ำทะเลน้อย บ้านๆ สะท้านโลก

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 65
เรื่อง/ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์

ควายน้ำทะเลน้อย บ้านๆ สะท้านโลก

            เย็นวันนั้น ภาพแรกที่ปรากฏให้ผมเห็นเมื่อเปิดประตูรีสอร์ต Wetland Camp ออกไปนั่งสบายๆ ที่ระเบียง คือผืนน้ำกว้างใหญ่ไพศาลของทะเลน้อย พื้นที่ชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ที่โลกยกย่อง ไม่ไกลนัก มียอยักษ์ที่ชาวบ้านใช้จับปลาตัวจิ๋วแต่ราคาแพงสมกับคุณค่าทางอาหารที่คนกินได้รับ ยามเย็นเช่นนี้ ยอยักษ์ยืนสงบนิ่งแตกต่างกับยามอรุณรุ่งมาก

            แล้วพลันก็มีสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวมาเข้าฉาก ราวกับมีผู้กำกับการแสดงสั่งให้ “แอ็กชั่น” นั่นคือขบวนแถวของควายปลัก หรือที่ชาวบ้านเรียก “ควายน้ำ” กำลังว่ายน้ำเป็นระเบียบแถวตอนเรียงหนึ่งตามจ่าฝูงไปอย่างเคร่งครัด ผ่านเข้าฉากหน้าห้องพักผมพอดี

            ควายในประเทศไทยแบ่งเป็นสองพันธุ์หลักๆ คือ ควายปลัก หรือควายน้ำ มีนิสัยชอบนอนแช่ปลักโคลน รูปร่างล่ำสัน แข็งแรงบึกบึน เหมาะกับงานไถในท้องนา กับควายนมหรือควายมูร่าห์ มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เข้ามาแพร่หลายในเมืองไทยเมื่อมีคนนิยมบริโภคนมควายมากขึ้น

            แต่นับวันที่ควายเหล็กเข้ามาแทนที่ควายจริงในท้องไร่ท้องนามากขึ้นเท่าไร ควายปลักก็ค่อยๆ ลดจำนวนลง ยกเว้นชุมชนในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ยังคงอนุรักษ์และสืบสานวิถีการเลี้ยงควายน้ำแบบดั้งเดิมที่ทำกันมานานถึงกว่า ๒๕๐ ปีมาแล้ว คู่ขนานไปกับการทำประมงโดยใช้ยอขนาดใหญ่ จับปลาลูกเบร่ (ปลาทะเลตัวเล็กที่จับด้วยยอยักษ์แห่งทะเลน้อย) อันอุดมด้วยแคลเซียมและวิตามิน กิโลกรัมละถึง ๘๐๐ บาท ทำรายได้ให้ชาวบ้านอย่างต่ำวันละ ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาท อย่างสูงได้ถึงวันละ ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ บาททีเดียว

            นอกจากนั้นชาวชุมชนทะเลน้อยยังมีรายได้จากการทำศิลปหัตถกรรมเครื่องจักสานเป็นกระบุง ตระกร้า กระเป๋าถือ กระเป๋าหิ้ว และของที่ระลึกอีกสารพัด จากต้นจูดที่มีชุกชุมในทะเลน้อย ด้วยลวดลายและวิธีการสานที่สืบทอดจากมรดกภูมิปัญญาที่บรรพชนมอบให้ ซึ่งเมื่อชิ้นงานหัตถกรรมเหล่านี้ไปวางตามห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศจะมีราคาสูงมาก

            ทะเลน้อยจึงนับเป็นทะเลสาบอันอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ จนได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นเขต “พื้นที่ชุ่มน้ำโลก” หรือ “แรมซ่าร์ ไซท์” (Ramsar Site) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑ ล่าสุดเป็นที่น่ายินดีที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็น “มรดกโลกทางการเกษตร” แห่งแรกของไทย (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) อันน่าภาคภูมิใจยิ่งนัก โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา คือเป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหาร ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดี มีความหลากหลายทางชีวภาพเกษตร มีระบบความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดมายาวนาน มีวัฒนธรรมและองค์กรทางสังคมเข้มแข็ง และมีลักษณะทางภูมิทัศน์ดีเยี่ยม

About the Author

Share:
Tags: พนางตุง / ทะเลสาบน้ำจืด / ธรรมชาติ / Wetland Camp / มรดกโลก / สิ่งแวดล้อม / ควายปลัก / สัตว์ / ควายน้ำ / พัทลุง / มรดกโลกทางการเกษตร / ฉบับที่ 65 / ควาย / ทะเลน้อย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ