Tuesday, May 21, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

หมู่บ้านอีสาน ความรู้ที่ปลูกผ่าน สถาปัตยกรรม

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 22
เรื่อง: อรรยา
ภาพ: จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

หมู่บ้านอีสาน

ความรู้ที่ปลูกผ่าน สถาปัตยกรรม

เคยมีคํากล่าวว่า หากต้องการเรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคนใดให้เริ่มต้นที่ เรือนที่อยู่อาศัยก่อนเป็นหลัก เพราะนั้นคือสิ่งที่ผูกพันชีวิตของคนคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนถึงวันตายจาก ดังนั้น ด้วยเจตนารมณ์ของจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ภายใต้การดูแลของบริษัท อุตสาหกรรม ไหมไทย จํากัด ที่ส่งเสริมและให้ความสําคัญกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาวไทยเชื้อสายลาวหรือชาวอีสานมาโดยตลอด ในวันหนึ่งที่ตั้งใจขยายโครงการจากการท่องเที่ยว เชิงเกษตรบนพื้นที่ ๖๐๐ ไร่ เชิงเขาพญาปราบ ตําบลตะขบ อําเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ที่เดิมเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของหนอนไหม การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การทอผ้า ตลอดจนแปลงพืชผักปลอดสารพิษและดอกไม้สีสวยในฟาร์ม จึงไม่ใช่แค่การเพิ่มจุดท่องเที่ยวหรือสิ่งก่อสร้างในฟาร์มแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะถ่ายทอดและปลูกความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานที่ลึกซึ้งกว่านั้นผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเที่ยวชม ด้วยเหตุนี้ “หมู่บ้านอีสาน” จึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่เป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานขององค์ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐

เฮือนเกย หนึ่งในกลุ่มเฮือนอีสาน

อาจารย์พหลไชย เปรมใจ ผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกพอดี จำกัด ซึ่งรับหน้าที่เป็นสถาปนิกที่ปรึกษาโครงการและทำงานร่วมกับจิมทอมป์สัน ฟาร์ม มาตั้งแต่ช่วงต้น ตลอดจนเป็นผู้ดูแลโปรเจ็กต์การสร้าง “หมู่บ้านอีสาน” หรือที่ในระยะเริ่มแรกให้ชื่อว่า “อีสานสปิริต”

กล่าวว่า การวางโครงการดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความคิดเห็นที่แตกต่างและไม่อยากทำฟาร์มแบบตามกระแสทั่วไป “ตอนนั้นเราคิดถึงการปลูกสิ่งอื่นที่ไม่ใช่แค่การปลูกพืชพรรณทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เช่นการปลูกความรู้เกี่ยวกับอีสาน เราอยากรวมทุกสิ่งที่เป็นอีสานไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ความเชื่อ ฯลฯ จึงให้ชื่อโซนใหม่ว่า อีสานสปิริต จากนั้นการสื่อสารจึงเริ่มที่งานสถาปัตยกรรมหรือตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างก่อนเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วจึงนำวัฒนธรรม ความเชื่อ อาหารการกินค่อยๆ เติมเข้าไปทีละนิด”

ฝาปรือ ซึ่งใช้สำหรับ ทำฝาเรือนในเรือนโคราช
เรือนนางเอื้อย หนึ่งในเรือนโคราชที่ตั้งอยู่ในจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม

เริ่มต้นหมู่บ้าน
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ อีสานสปิริตจึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น “หมู่บ้านอีสาน” บนพื้นที่กว่า ๑๐ ไร่ โดยรวบรวมเรือน หรือเฮือนอีสานในรูปแบบต่างๆมารวมไว้ จากนั้นจึงบูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดีก่อนเปิดโอกาสให้เข้าชมและเรียนรู้ร่วมกัน “งานสถาปัตยกรรมทางฝั่งอีสานในสมัยก่อน Reference มีค่อนข้างน้อย เราจึงพยายามแยกกลุ่มลักษณะให้เข้าใจง่าย คือ กลุ่มเฮือนอีสานที่แบ่งได้ย่อยๆ เป็นอีสานเหนือ กลาง ใต้ ซึ่งต่างกันเพียงแค่วัสดุที่ใช้และความสามารถของช่างเฉพาะถิ่นที่ไม่เหมือนกัน ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มเรือนโคราช ที่ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่ใช่เฮือนอีสาน เนื่องจากมีรูปแบบเรือนที่เป็นการผสมผสานระหว่างเรือนภาคกลางกับอีสาน” อาจารย์พหลไชยกล่าว

เรือน ๓ หลังแรกได้แก่ เรือนนางแป้ มรดกที่ตกทอดมากว่า ๓ ชั่วอายุคน เป็นเรือนโคราชที่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี มีรูปแบบที่ผสมกันระหว่างเรือนไทยภาคกลางและเฮือนอีสานอย่างลงตัว สังเกตได้จากลวดลายของการแกะสลักต่างๆ และการทำฝาปะกนแบบไทยภาคกลาง “การตั้งชื่อเรือนจะใช้ชื่อเจ้าของเรือนคนสุดท้ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เพราะตามวัฒนธรรมอีสานบ้านจะตกทอดเป็นสมบัติของลูกสาว เรือนหลังนี้ได้มาจากในปักธงชัยนี่เอง ตัวเรือนโคราชส่วนใหญ่ใช้ไม้เนื้อดี ทำเป็นแบบถอดประกอบเหมือนเรือนภาคกลาง ไม่มีตะปู ฝาเรือนเป็นชิ้นใหญ่ เมื่อซื้อแล้วสามารถถอดแล้วนำมาประกอบใหม่ได้ ตอนที่เราได้เรือนนี้ ผมให้ช่างเข้าไปตอน

เกย (กันสาด) ของเฮือนเกยในหมู่บ้านอีสาน ลักษณะเดียวกับปีกนกในเรือนไทยภาคกลาง

๙ โมงเช้า ส่วนผมตามไปประมาณ ๑๑ โมงตอนนั้นช่างถอดออกมาจนเหลือแต่เสาแล้วเรียกว่าใช้เวลารื้อแค่วันเดียว แต่ตอนประกอบคืนต้องใช้เวลาประมาณ ๒-๓ สัปดาห์เพราะต้องใส่ทุกชิ้นกลับเข้าไปในตำแหน่งเดิม” อาจารย์พหลไชยกล่าว

เรือนนางสาหร่าย

ส่วนเรือนอีก ๒ หลังนั้นเป็นกลุ่มเฮือนอีสาน ซึ่งเป็นเรือนที่สร้างขึ้นใหม่โดยช่างพื้นบ้านฝีมือดีชาวภูไทซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านหนองสูงจังหวัดสกลนคร โดยเรือนหลังแรกจำลองจากเฮือนเหย้าของชาวภูไทที่ใช้รูปแบบและวิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิม แสดงถึงภูมิปัญญาในการใช้วัสดุและแบ่งพื้นที่ตามประโยชน์ใช้สอยอย่างงดงาม อีกเรือนเป็นเฮือนเครื่องผูกซึ่งเป็นเรือนเสาจริง หลังคามุงหญ้าแฝก ส่วนที่เหลือเป็นไม้ไผ่ผูกด้วยหวายทั้งหลัง “เฮือนอีสานส่วนใหญ่ที่ยังหลงเหลือ ถ้ามีอายุมากจะผุพังและไม่สามารถถอดประกอบได้เหมือนกับเรือนโคราชจึงจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่แทน ผมได้ไปเจอช่างที่ยังรับปลูกเรือนอยู่ชื่อลุงแสนเพชร จึงขอให้มาช่วยสร้างเรือน ๒หลัง แค่บอกจุดที่จะสร้าง คุณลุงก็ทำให้หมดทุกอย่าง เรือนแรกที่สร้างคือเฮือนเหย้าซึ่งถือเป็นกึ่งเรือนชั่วคราว โดยผมให้เปลี่ยนวัสดุเล็กน้อยจากหลังคามุงหญ้าเป็นไม้เพื่อความคงทน ส่วนอีกเรือนเป็นเฮือนเครื่องผูก ลุงใช้

พื้นที่ชานในของเรือนนางสาหร่าย เรือนโคราชที่ถูกใช้เป็นบ้านของคำแก้ว จากละครเรื่องนาคี

เวลาสร้างแค่ ๓ วันก็เสร็จเรียบร้อย วันแรกขึ้นโครงสร้าง วันที่ ๒ ทำพื้นและฝาเรือน วันสุดท้ายเก็บหลังคาและรายละเอียด เรียกว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง”

หลังจากเรือนทั้ง ๓ หลังสร้างเสร็จเรียบร้อย ในปีต่อๆ มา ทางทีมงานก็ยังพยายามรวบรวมและเสาะแสวงหาบ้านเก่าในลักษณะต่างๆ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตของชาวอีสานดั้งเดิมซึ่งนับวันจะหาชมได้ยากเพื่อนำมามารวบรวมไว้ในพื้นที่ให้ครบถ้วน โดยค่อยๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย มียุ้งข้าวแบบต่างๆ รวมถึงเถียงนา (กระท่อมกลางนา) ตูบ คอกควาย กองฟาง และเมื่อรวบรวมเรือนโคราชได้มากขึ้น จึงมีการแยกเป็น “หมู่บ้านโคราช” ที่มองเห็นได้ชัดเจนจากทุ่งนาจำลองของฟาร์ม มีทั้ง เรือนนางแตงอ่อน ซึ่งมีจุดเด่นคือฝาบ้านเป็นฝาปรือ (ปรือ คือพืชตระกูลกก ขึ้นได้เฉพาะแหล่งน้ำที่สะอาดเท่านั้น มีอายุการใช้งานนับ ๑๐๐ ปี) อายุเท่ากับตัวบ้านคือมากกว่า ๑๕๐ ปีแต่ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ภายในตัวเรือน เรือนนายแช่ม มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีลักษณะเป็นเรือนแฝด ๒ หลังต่อเชื่อมกันด้วยชานบ้าน ใช้บันไดร่วมกัน เรือนนางสาหร่ายเป็นเรือนหลังใหญ่ที่มีการใช้งานในส่วนของชานกลางบ้าน โดยทำหลังคาตรงกลาง โดยโครงสร้างจะเป็นขื่อที่วิ่งยาวเชื่อมติดกันทั้ง ๓ เรือน ทำให้บ้านหลังนี้เป็นเรือนสามจั่วที่เชื่อมติดกันคล้ายเรือนแฝด (เรือนหลังนี้คือเรือนของคำแก้ว ที่ใช้ถ่ายทำละครเรื่อง นาคีนั่นเอง) เรือนนางอ้อยใจ นับเป็นเรือนโคราชอีกหลังที่มีการพัฒนารูปแบบผสมผสานกับรูปทรงของเฮือนอีสานจนมีสัดส่วนที่พอดี ถูกย้ายมาในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ องค์ประกอบของเรือนใหญ่ยังอยู่ครบ มีฝาบ้านป่องเอี่ยมและประตูที่ยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ดี

นอกจากนี้ยังมี เรือนนางเผอะ ซึ่งมีอายุเก่าแก่นับ ๒๐๐ ปี ถือเป็นเรือนที่ยังมีความสมบูรณ์งดงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นเรือนครูของเรือนโคราช และเรือนนางเผอะยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๘ ประเภทอาคารเคหสถานและบ้านเรือนเอกชน จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย ส่วน เรือนนางเอื้อย เป็นเรือนโคราชเพียงหลังเดียวในหมู่บ้านโคราชที่สร้างจำลองขึ้นมา นับเป็นเรือนโคราชที่มีสัดส่วนงดงามลงตัวที่สุด เรือนหลังนี้ได้รับอิทธิพลของช่างชาวอีสานค่อนข้างมาก โดยสังเกตได้จากความชันของหลังคาที่ใกล้เคียงกับเฮือนอีสานในบริเวณอื่น แต่ยังคงรูปแบบของการทำฝาปะกนและการมีช่องแมวลอด

เรือนนางเผอะ อายุเก่าแก่นับ ๒๐๐ ปีมีความสมบูรณ์งดงามจนได้รับการยกย่องให้เป็นเรือนครูของเรือนโคราช

About the Author

Share:
Tags: นครราชสีมา / สถาปัตยกรรม / อีสาน / architecture / interior / ฉบับที่ 22 / หมู่บ้าน / จิม ทอมป์สัน / หมู่บ้านอีสาน / โคราช /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ