Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

ประสงค์ ลือเมือง กับดาบกายสิทธิ์

เรื่อง/ ภาพ: ตัวแน่น

‘นักดาบ’ พ.ศ. 2529-2530 เทคนิคสีฝุ่นและดินสอบนกระดาษเยื่อไผ่รีดบนผ้าใบ
ขนาด 160 x 102.5 เซนติเมตร ศิลปิน ประสงค์ ลือเมือง

ลองนึกตามกันดู ในช่วงเวลาที่ใกล้จะเรียนจบ ถ้ามีอาจารย์ชมเราว่าฝีมือดีมาก เก่งกาจขนาดนี้ไม่ต้องมาเรียนก็ยังได้ เราในฐานะศิษย์จะทำยังไง? เชื่อเถอะเกือบร้อยทั้งร้อยต่อให้เป็นใครก็แล้วแต่ คงสุขสันต์เก็บคำหวานเหล่านี้ไว้ใช้เป็นกำลังใจต่อไป ถ้าทนไม่ไหวเก็บงำไว้เฉยๆ คนเดียวไม่ได้ อย่างมากเอาไปเล่าให้พ่อให้แม่ฟังให้ท่านภูมิใจ หรือไม่ก็นัดกินเลี้ยงสาธยายให้ญาติสนิทมิตรสหายรู้กันทั่วว่าฉันนั้นไม่ธรรมดานะจะบอกให้

ว่ากันว่าสำหรับนักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรนาม ประสงค์ ลือเมือง คำชมที่พรั่งพรูออกมาจากปากของปรมาจารย์ทางศิลปะที่เขานับถืออย่าง ชลูด นิ่มเสมอ นั้นกลับทำให้เขาตัดสินใจลาออก เลิกกันทีกับการเป็นนักศึกษา และหันมาเป็นศิลปินอิสระอาชีพที่เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างเต็มตัว 

ประสงค์นั้นมีพื้นเพเป็นคนลำพูน เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ในครอบครัวช่างที่ถนัดไปทางสร้างบ้าน สร้างเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือน ที่มาชอบศิลปะเพราะสมัยอยู่ ม.ศ.๑ หรือสมัยนี้เทียบเท่ากับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ ประสงค์เห็นเพื่อนวาดตัวการ์ตูนสไตล์กังฟูเก่ง แล้วอยากจะมีฝีมือเจ๋งแบบนั้นบ้าง เลยเริ่มฝึกฝน รวมทั้งอาสาเป็นคนวาดป้ายอะไรต่างๆ ให้โรงเรียน ในยุคนั้นประสงค์ยังเป็นแฟนคลับคอลัมน์ อาร์ตสแควร์ โดย เปี๊ยก โปสเตอร์ ในนิตยสารสตาร์พิค ซึ่งคอลัมน์นี้จะมีศิลปินสมัครเล่นจากทางบ้านส่งภาพวาดฝีมือตัวเองไปให้เปี๊ยกวิเคราะห์แนะนำ คนที่คอยตามอ่านเลยได้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและทฤษฎีทางศิลปะไปด้วย

ยิ่งโตประสงค์ยิ่งอินกับศิลปะยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ขนาดที่ว่าวิชาอื่นๆ นี้แทบจะไม่สนเลย มีช่วงหนึ่งที่ไปสอบเข้าเรียนที่เทคโนภาคพายัพ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ เรียนได้ปีเดียวก็โดนรีไทร์เพราะใจไม่ได้ชอบ แต่อย่างน้อยที่เทคโนฯ เขาก็ได้พบ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งมาเป็นวิทยากรพิเศษ ประสงค์ไม่รู้ว่าถวัลย์เป็นใคร แต่ประทับใจกับคาแรคเตอร์ท่าทางการแต่งตัวของครูผู้นี้มาก เพราะบางมุมก็คลับคล้ายคลับคลากับตัวละครในหนังจีนกำลังภายใน บางมุมก็เหมือนผู้ทรงภูมิในหนังสือแนวปรัชญาเต๋าและเชน ที่ประสงค์กำลังสนใจคลั่งไคล้ โอกาสนี้ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ประสงค์อยากเป็นศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะผู้ไม่ยี่หระหากจะมีบุคลิกพิเศษเฉพาะตัว

‘นักดาบ’ พ.ศ. 2529-2530 ศิลปิน ประสงค์ ลือเมือง

เมื่อต้องออกจากเทคโนฯ ประสงค์จึงได้ย้ายมาเรียนด้านศิลปะตามใจหวังที่ โรงเรียนสิริกรศิลปวิทยา ในเชียงใหม่ ณ สถาบันแห่งนี้ประสงค์มีความสุขมากที่ได้ฝึกฝนการวาดภาพจนช่ำชอง เป็นพื้นฐานที่แน่นหนาสำหรับการไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในลำดับสูงๆ ขึ้นไป ประสงค์ก็ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจากคำแนะนำ และการติวอย่างเคี่ยวกรำจากรุ่นพี่ที่ปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงถึง ๒ ท่านคือ เมืองไทย บุษมาโร และ มิตร ใจอินทร์ 

ชีวิตนักศึกษาในรั้วศิลปากรของประสงค์นั้น ส่วนใหญ่จะหมดไปกับการขลุกตัวอยู่ในห้องสมุดและอ่านหนังสืออย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ภาพผลงานของศิลปินระดับโลกชาวต่างชาติก็ได้เห็นอย่างครบถ้วนจากที่นี่ จริตก็เริ่มถูกใจกับสไตล์การวาดของ ฮวน มิโร  (Joan Miro’) มาร์ก ชากาล (Marc Chagall) และ วาซิลี คันดินสกี (Wassily Kandinsky) ที่รวบรวมองค์ประกอบของภาพให้เต็มไปด้วยตัวละครและฉากพื้นบ้านรอบตัวที่ศิลปินคุ้นเคย นำมาลดทอน เสริมแต่ง และจัดเรียงใหม่โดยปล่อยให้ทุกสิ่งดูล่องลอยดั่งอยู่ในภาพฝัน ไม่ยึดติดกับแรงโน้มถ่วงและมิติความเป็นจริงตามธรรมชาติ

ด้วยแรงบันดาลใจจากภาพผลงานศิลปะที่เห็น ผลักดันให้ประสงค์สามารถต่อยอดไปยังจุดที่แม้แต่ มิโร ชากาล หรือ คันดินสกี ก็ไม่สามารถไปถึงได้ 

นั่นคือ การใช้แรงบันดาลใจจากพื้นเพล้านนา ทุกสิ่งอย่างที่เคยสัมผัสจากบ้านพันตาเกินบ้านเกิดอันเป็นที่รัก วิถีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ อัธยาศัยอันสนุกสนาน เปี่ยมล้นด้วยไมตรีจิต เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างบริสุทธิ์ใจให้กันและกันของเหล่าญาติมิตรชาวชนบท ซึ่งเหมือนจะตรงกันข้ามกับสังคมเมืองหลวงอันยุ่งเหยิงที่ประสงค์กำลังประสบพบอยู่และแล้วประสงค์ก็กลับกลายเป็นผู้บรรลุ ค้นพบสไตล์ที่ใช่ของตนเองตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ผลงานในยุครุ่งอรุณนี้จึงมีเอกลักษณ์ของความเป็นประสงค์อยู่แล้วอย่างชัดเจน ทุกสิ่งอย่างล้วนล้านนาทั้งหมด แม้กระทั่งสถานที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ขณะที่เพื่อนๆ วาดภาพกันที่สตูดิโอในมหาวิทยาลัย ประสงค์กลับหอบผ้าหอบผ่อนกลับมายังลำพูน แม้จะมีเวลาช่วงสั้นๆ ก็ตาม ถึงบ้านเสร็จสรรพก็บรรจงเตรียมวัสดุในแบบท้องถิ่น กระดาษสาทำมือ กระดาษสีสะท้อนแสง ถูกคัดสรรอย่างพิถีพิถันมาใช้สร้างผลงานที่มีรูปแบบไม่ซ้ำใครตั้งแต่เริ่ม หลังจากนั้นประสงค์ก็บรรจงลงเส้นบนผลงาน โดยมีภาพและรายละเอียดอันยุบยิบพิสดารชัดเจนอยู่ในหัวสมองหมด แบบที่ไม่ต้องพึ่งแบบร่าง แต่ละเส้นแต่ละสายประสงค์ลงน้ำหนักอ่อนแก่ได้อย่างแม่นยำที่สุดในหนึ่งจังหวะ ไม่ต่างอะไรกับยอดซามูไรลงดาบ ส่งผลให้ภาพดูลื่นไหลเร้าใจ สดสะอาดไร้เส้นขาดแม้แต่เส้นเดียว

ปกหนังสือ ‘ปรัชญาชีวิต’ เขียนโดย คาลิล ยิบราน แปลโดย ระวี ภาวิไล พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504

ปกหนังสือ ‘ปรัชญาชีวิต’ เขียนโดย คาลิล ยิบราน แปลโดย ระวี ภาวิไล พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504

ผลงานในยุคนี้ประสงค์เลือกใช้วัสดุอย่างถ่อมตน และมีราคาถูกอย่างสีฝุ่น และดินสอในการสร้างสรรค์ ไม่ได้สนใจว่าจะต้องใช้ผ้าใบนำเข้าและสีน้ำมันแบรนด์ดังให้ดูวิลิศมาหรา แต่นั่นก็ไม่ได้จำกัดพลังอันดุดันของผลงานที่เปล่งเปรี้ยงออกมาเลย ดั่งเช่น ภาพวาดนักดาบที่ประสงค์สร้างสรรค์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ ในขณะที่เป็นนักศึกษาปี ๔ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพนี้เป็นภาพชายผมยาวถือดาบเล่มใหญ่ ขนาบข้างด้วยตุงที่มีลวดลายประยุกต์ แต่ก็ยังคงกลิ่นอายพื้นถิ่น บนใบหน้าและผมของชายผู้นี้ยังถูกประดับประดาไปด้วยลวดลายดอกไม้และพรรณพฤกษาในแบบล้านนา ประสงค์เลือกลงน้ำหนักแสงเงาแต่เฉพาะบริเวณศีรษะและธงทิว หากดูไกลๆ จึงเห็นแค่ส่วนที่ว่า แต่ถ้าขยับเข้ามาพิจารณาใกล้ๆ จะสัมผัสได้ถึงเส้นดินสอซึ่งเรียงร้อยประกอบกันเป็นรูปร่างของมือ และดาบ การลงเส้นโค้ง ตรง อ่อน แก่ เป็นเอกลักษณ์ยากนักที่ใครจะลอกเลียนแบบได้

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสำคัญในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อชิ้นนี้ คือตัวตนที่ประสงค์อยากมี อยากเป็น ถึงประสงค์ชอบหนังจีนกำลังภายใน แต่ก็ไม่ได้ชื่นชอบพระเอกเท่ากับนักพรตผู้ทรงภูมิ เพราะฉะนั้นดาบเล่มใหญ่ในภาพถึงไม่ได้ถูกแกว่งไกวเพื่อใช้เข่นฆ่าใคร แต่อุปมาอุปมัยดั่งปัญญาของผู้ตื่นรู้ อันเป็นอาวุธคู่กายที่ไม่มีวันตกหล่นหักหายของผู้ครอบครอง อีกทั้งปัญญาเมื่อยิ่งลับก็ยิ่งแหลมคม ดุจใบมีดชั้นดีที่สามารถตัดผ่านอุปสรรคใดๆ จนทุกสิ่งที่ซับซ้อนก็สามารถกลับกลายเป็นเรื่องง่าย 

เพื่อยืนยันความเป็นปราชญ์ประสงค์จึงนำใบหน้าของ คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) มาเป็นใบหน้าของนักดาบ ภาพใบหน้านี้เป็นภาพที่ถูกตีพิมพ์บนปกหนังสือ ‘ปรัชญาชีวิต’ หรือ ‘The Prophet’ งานเขียนชิ้นโด่งดังของยิบราลที่ถูกแปลเป็นหนังสือกว่า ๔๐ ภาษา รวมถึงภาษาไทยที่ประสงค์ได้มีโอกาสอ่าน ปรัชญาชีวิตเป็นเรื่องของตัวละครที่มีชื่อว่า อัลมุสตาฟา ผู้รอเรืออยู่ถึง ๑๒ ปีเพื่อที่จะกลับไปยังเกาะแห่งการเวียนเกิด ก่อนจะจากไปชาวเมืองออร์ฟาลีส เมืองที่อัลมุสตาฟาพำนักอยู่ ก็พากันขอร้องให้ท่านอยู่ต่อแต่ก็ไม่เป็นผล หญิงสาวคนหนึ่งชื่อว่า อัลมิตรา จึงขอให้อัลมุสตาฟาเล่าสัจธรรมให้แก่ชาวเมือง เรื่องราวต่อมาจึงเป็นคำสอนของอัลมุสตาฟาที่กล่าวไว้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่มนุษย์ทุกหมู่เหล่าต้องเจอและก้าวผ่านไป

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ประสงค์ ลือเมือง นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรปี ๕ ผู้เปี่ยมล้นด้วยฝีมือและเข้าใจสัจธรรมของชีวิตที่ เกินอายุอานามชายหนุ่มในวัยสะรุ่น ได้เริ่มส่งผลงานเข้าประกวดประขันชิงชัยในเวทีใหญ่ๆ ระดับชาติ และก็เป็นดังคาด ภาพวาดที่พร้อมสรรพไปด้วยฝีมือและแง่คิดอันลึกซึ้ง คว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จจากการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงโดยธนาคารกรุงเทพ หลังจากนั้นผลงานของประสงค์ก็คว้ารางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ และงานอื่นๆ มาครองอีกมากมาย

ด้วยเงินรางวัลจากการประกวด ที่อาจจะไม่มากมายสำหรับคนสุรุ่ยสุร่าย แต่เหลือกินเหลือใช้สำหรับศิลปินผู้ใฝ่หาความเรียบง่ายในวิถีชนบท กอปรกับการที่ ชลูด นิ่มเสมอ ชื่นชมยกย่องประสงค์ จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยทั้งๆ ที่ใกล้จะเรียนจบอยู่รอมมะร่อ และกลับไปใช้ชีวิตที่ลำพูน หาเลี้ยงชีพด้วยการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เขาแน่ใจว่า นี่แหละคือรักแท้ที่ถูกลิขิตไว้ของชีวิตทั้งๆ ที่ไม่รู้เลยว่าภายภาคหน้าจะลำบากหรือสุขสบาย 

‘เมื่อความรักเรียกร้องเธอ จงตามไปเถิด แม้หนทางจะขรุขระและสูงชัน เมื่อปีกแห่งรักโอบรอบกายเธอ จงอดทน แม้จะถูกเสียดแทงจากหนามแหลมอันซ่อนอยู่ใต้ปีก และเมื่อมันพูดกับเธอ จงเชื่อตาม’ – ปรัชญาชีวิต, คาลิล ยิบราน

About the Author

Share:
Tags: ศิลปิน / ฉบับที่ 66 / ประสงค์ ลือเมือง / artist /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ