Monday, May 20, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

นกแต้วแล้วท้องดำ สัตว์ป่าไทยที่ใกล้สูญพันธุ์

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 22
เรื่อง: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์
ภาพ: Wikipedia/ภาพวาด-นกคู่ : มงคล วงศ์กาฬสินธุ์ (อ้างอิงจากเว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว greenworld.or.th),
ภาพวาด-นกเดี่ยว : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร (www.seub.or.th)

นกแต้วแล้วท้องดำ

สัตว์ป่าไทยที่ใกล้สูญพันธุ์

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาแถลงข้อมูลที่น่าตกใจเกี่ยวกับสถานการณ์นกแต้วแล้วท้องดำว่าสัตว์ป่าชนิดนี้กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นหนึ่งในสายพันธ์ุวงศ์นกแต้วแล้วที่พบเฉพาะในแถบพม่าและไทย กระจายพันธุ์เฉพาะถิ่นป่าที่ราบต่ำซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑๕๐ เมตร สำหรับประเทศไทย นกแต้วแล้วท้องดำพบเฉพาะที่เขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อ. คลองท่อม จ. กระบี่ เท่านั้น

ตามข้อมูลการสำรวจพบว่า เมื่อก่อนมีการพบนกแต้วแล้วท้องดำครั้งสุดท้ายในเมืองไทยราวปี พ.ศ. ๒๔๙๕ และกลับมาพบใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ซึ่งทำให้เกิดการประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขึ้น ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๔๓ มีการสำรวจพบนกแต้วแล้วท้องดำเพิ่มจำนวนขึ้นถึง ๑๖ ตัว และในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้มีการขึ้นทะเบียนให้นกแต้วแล้วท้องดำเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วย สำหรับการสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ พบนกแต้วแล้วท้องดำเหลือเพียง ๓-๔ ตัวเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

Fun Fact

ปัจจุบัน สัตว์ป่าสงวนของไทยมีทั้งสิ้น ๑๙ ชนิด

(จากประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ ต.ค. ๒๕๕๘)

๑. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae)
๒. แรด (Rhinoceros sondaicus)
๓. กระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis)
๔. กูปรี หรือโคไพร (Bos sauveli)
๕. ควายป่า (Bubalus bubalis)
๖. ละอง หรือละมั่ง (Rucervus eldi)
๗. สมัน หรือเนื้อสมัน (Rucervus schomburki)
๘. เลียงผา หรือเยือง หรือกูรำหรือโครำ (Capricornis sumatraensis)
๙. กวางผาจีน (Naemorhedus griseus)
๑๐. นกแต้วแล้วท้องดำ(Pitta gurneyi)
๑๑. นกกระเรียนไทย (Grus antigone)
๑๒. แมวลายหินอ่อน (Pardofelis marmorata)
๑๓. สมเสร็จ (Tapirus indicus)
๑๔. เก้งหม้อ (Muntiacus feai)
๑๕. พะยูน หรือหมูน้ำ (Dugong dugon)
๑๖. วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni)
๑๗. วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai)
๑๘. เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)
๑๙. ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus)

แหล่งข้อมูล : Wikipedia และ วิชาการ.คอม

การลดจำนวนลงของนกแต้วแล้วท้องดำตามธรรมชาติก็เนื่องมาจากการทำเกษตรกรรมบุกรุกพื้นที่ป่าตลอดจนสัมปทานป่าไม้ที่ทำให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลงเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมไปจนถึงสัตว์ป่านานาชนิด อย่างไรก็ตามในปี ๒๕๖๐ นี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชก็ได้วางแผนและออกนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยกันปกป้องนกแต้วแล้วท้องดำ ตลอดจนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อให้สัตว์สงวนชนิดนี้กลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้งในอนาคต

About the Author

Share:
Tags: อนุรักษ์สัตว์ป่า / Environment / green / วันคุ้มครอง สัตว์ป่าแห่งชาติ / สัตว์ / สัตว์ป่า / นกแต้วแล้ว / นกแต้วแล้วท้องดำ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ