Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย

ผ้าทอมือชุมชนบ้านเชิงดอย สกลนคร

วิถีชีวิตอันเรียบง่าย สภาพแวดล้อม ธรรมชาติ น้ำใจไมตรีของผู้คน ใส่ใจในการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้เรื่องการย้อมครามและการทอแบบผ้าแบบโบราณ ไม่ใช้สารเคมีหรือผสมสีเคมี ทุกกระบวนการเป็นวิธีทางธรรมชาติรวมไปถึงการทอผ้าด้วยมือ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มนุษย์เรียนรู้วิธีการทอผ้าเพื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม นับตั้งแต่ผ้าผืนแรกที่ถูกทอขึ้นด้วยสองมือเปล่าของมนุษย์ยุคหินเมื่อประมาณ ๑๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว กระบวนการทอผ้าก็ได้รับการพัฒนาเรื่อยมามีการประดิษฐ์กี่ทอผ้าแทนการใช้นิ้วมือถักทอ จากกี่ไม้หน้าตาเรียบง่ายแบบต่างๆ พัฒนาให้มีความสลับซับซ้อน และกลายเป็นกี่จักรกลในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีที่แล้ว

จนมาถึงปัจจุบันกี่ทอผ้าได้พัฒนาสู่ความเป็นสมองกลอัจฉริยะที่สามารถทอผ้าได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส มนุษย์เดินทางมายาวนานบนประวัติศาสตร์การทอผ้าที่เปลี่ยนผ่านมาจากมือสู่เครื่องจักร จนกระทั่งมาถึง AI ช่วงเวลาหมื่นกว่าปีที่ผ่านมายาวนานพอที่จะทำให้มนุษย์หลงลืมพลังอันแสนวิเศษของสองมือตนเองไปเสียแล้ว

ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งบริเวณตีนเทือกเขาภูพาน ผู้คนที่นั่นยังคงทอผ้าด้วยกี่ไม้หน้าตาเรียบง่ายแบบโบราณราวกับว่ากาลเวลาไม่อาจเปลี่ยนแปลง “ชีวิต” และความ “เป็นอยู่” ของพวกเขาได้ ชุมชนแห่งนี้คือ ชุมชนบ้านเชิงดอย ตั้งอยู่ที่ตำบลน่าม่อง อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีชาวบ้านอยู่ประมาณ ๕๐ หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูพานบริเวณตีนเทือกเขาภูพาน ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากร ธรรมชาติ ชาวบ้านที่นี่่จึงมีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายด้วยการทำเกษตร เลี้ยงสัตว์ และทอผ้าเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ
ก้านสวย (กระสวย) ไม้ที่เป็นรูปเรียวตรงปลายทั้งสองข้าง ตรงกลางใหญ่
และมีรองสำหรับใส่ ด้ายพุ่ง ใช้สำหรับพุ่งสอดไปในช่องด้ายยืนระหว่างการทอผ้า

วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เรียกได้ว่า “ดั้งเดิม” อย่างแท้จริง เป็นชีวิตที่ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในป่ามีหน่อ มีหอย” ยามว่างจากงานนางานสวนก็ย้อมผ้าทอ ผ้ากันอยู่ใต้ถุนบ้าน

แม่ครูปรารี พิมมะทา ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ได้รับการยกย่องเป็น แม่ครูครามและช่างทอผ้าของจังหวัดสกลนครเล่าให้ฟังว่า “หมู่บ้านเราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ย้ายกันมาอยู่ตั้งแต่แม่ยังเด็กๆ ก็อยู่กันมาตามประสาที่พ่อแม่เราเคยอยู่กันมายังไงก็อยู่กันอย่างนั้น ก็อย่างที่เห็นนี่แหละ” คำว่า “อยู่กันอย่างนั้น” ของแม่ปรารีคือ วิถีชีวิตอันเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือน ไม่ว่าจะด้วยสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ น้ำใจไมตรีของผู้คน รวมไปถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาความรู้เรื่องการย้อมครามธรรมชาติและการทอแบบผ้า ไม่หวงวิชาเลยแม้แต่น้อย ทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้การย้อมครามธรรมชาติและการทอด้วยมือที่มีนักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้ที่สนใจการทอผ้าด้วยมือและการย้อมครามธรรมชาติเดินทางมาศึกษาดูงานกันอยู่เสมอ

บ้านเชิงดอยได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านที่ทอผ้าได้สวยงามมีคุณภาพดี ทั้งนี้ เนื่องมาจากนโยบายของกลุ่มสตรีทอผ้าและย้อมครามของหมู่บ้านเชิงดอยซึ่งมีแม่ครูปรารีเป็นประธานในปัจจุบันยึดถือหลักการการทำงานของพวกตนอย่างเคร่งครัด นั่นก็คือ การรักษาวิธีการย้อมผ้าครามธรรมชาติแบบโบราณ ไม่ใช้สารเคมีหรือผสมสีเคมี ทุกกระบวนการของการย้อมครามเป็นวิธีทางธรรมชาติรวมไปถึงการทอผ้าด้วยมือ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ยังคงรักษาภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมไว้ เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้ายและการผลิตเส้นด้ายจากฝ้ายด้วยมือ และการนำเส้นด้ายมาทอผ้าด้วยมือ

“สมัยก่อนตอนที่แม่ยังเด็กๆ ทุกบ้านต่างก็ทอผ้าใช้เอง สมัยนั้นชาวบ้านยังปลูกฝ้ายบนภูเขา เวลาฝ้ายแตกปุยสีขาวสวยงามมาก ชาวบ้านจะนำฝ้ายที่ตนเองปลูกมาเข็นเป็นเส้นด้าย (เรียกว่า ด้ายฝ้ายเข็นมือ) แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้าสำหรับทำผ่าห่ม ที่นอน และเสื้อผ้า แม่ก็ทำแบบที่ปู่ย่าตายายทำกันมานั่นล่ะ เขาทำกันยังไงแม่ก็ทำอย่างนั้น“
แม่ครูปรารี พิมมะทา ปราชญ์ชาวบ้าน

และด้วยความสัตย์ซื่อต่อภูมิปัญญาและวิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนในชุมชนทำให้ ผลงานผ้าทอย้อมครามธรรมชาติของบ้านเชิงดอยได้รับการคัดสรรเป็นโอทอป ๕ ดาว และได้รับตราสัญลักษณ์ GI ว่าเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะท้องถิ่น

ทุกคนที่มาบ้านเชิงดอยจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น แม่ครูปรารีในฐานะประธานกลุ่มแม่บ้านสตรีฯ ของหมู่บ้านจะต้อนรับขับสู้แขกผู้มาเยือนอย่างขยันขันแข็ง ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่เดินทางมาเรียนรู้เรื่องการย้อมผ้าครามหรือการทอผ้าด้วยมือ แม่ครูปรารีจะดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องการหาที่หลับที่นอน อาหารการกิน ไปจนถึงการถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยตนเอง

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทอผ้าและต้องการเรียนรู้กระบวนการทอผ้าด้วยมือก็สามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่เริ่มต้นของการผลิตเส้นฝ้าย โดยการนำปุยฝ้ายมาอิ้วเอาเมล็ดออก เรียกว่า “การอิ้วฝ้าย” จากนั้นนำปุยฝ้ายมาดีดให้ฟู เหมือนขนมสายไหม แล้วนำมาม้วนอย่างเบามือเป็นหลอดเล็กๆ หลังจากนั้นจึงนำไปเข็นด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “หลา” ให้กลายเป็นเส้นด้าย เรียกว่า “ด้ายเข็นมือ”

สมัยก่อนที่ยังไม่มีเส้นด้ายจากโรงงาน ชาวบ้านต้องเข็นเส้นด้ายด้วยมือแบบนี้ ผ้าทอ ทุกผืนล้วนทำจากเส้นด้ายที่เข็นด้วยมือทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน เรียกว่า “ผ้าทอฝ้ายเข็นมือ” เป็นผ้าที่มีความนุ่มนวล เส้นใยสวยงาม สวมใส่สบายไม่ร้อน ปัจจุบันผ้าทอฝ้ายเข็นมือมีราคาแพงและมีชุมชนที่ผลิตไม่มากนัก เนื่องจากขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน ทำให้ช่างทอส่วนใหญ่หันมาทอผ้าจากเส้นด้ายที่ซื้อมาจากโรงงาน

เมื่อผลิตเส้นด้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างทอจะนำเส้นด้ายไปทุบล้างเพื่อกำจัดไขมันในเส้นฝ้ายให้สะอาด ก่อนนำไปย้อมด้วยสีครามหรือสีธรรมชาติอื่นๆ เส้นด้ายที่ย้อมแล้วจะนำไปลงแป้งที่เรียกว่า “ฆ่าฝ้าย” เพื่อให้เส้นใยแข็งแรงก่อนนำไปทอ จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทอผ้าซึ่งก็มีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะเริ่มทอผ้าได้ เริ่มจากนำเส้นด้ายมา “ค้นหูก” หมายถึง การนำเส้นด้ายมาขึงเส้นด้ายตามแนวยาว (ด้ายยืน) ให้ได้ความกว้างและความยาวตามต้องการ รวมถึงการออกแบบลวดลายของผืนผ้าก็สามารถทำได้ในขั้นตอนนี้ จากนั้นนำเส้นด้ายยืนมา “สืบ” เข้ากับฟืม (หวีฟืมสำหรับใส่เส้นด้ายทีละช่องเพื่อแยกเส้นด้ายยืนออกจากกันเป็นเส้นๆ) เสร็จแล้วจึงนำเส้นด้ายยืนขึ้นกี่เพื่อเตรียมพร้อมทอผ้า จะเห็นได้ว่ากระบวนการทอผ้าด้วยมือมีขั้นตอนซับซ้อน ผ้าแต่ละผืนจึงใช้เวลาทอนานหลายสัปดาห์กว่าจะสำเร็จให้เรานำไปตัดเย็บ ด้วยเหตุนี้ผ้าทอมือจึงเป็นงานที่มีคุณค่า และมีคนทำน้อยลงทุกที เนื่องมาจากความเชื่องช้าและวิธีการอันซับซ้อน

ผู้เรียนหลายคนที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้การทอผ้าด้วยมือที่บ้านเชิงดอยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต่อไปนี้เวลาซื้อผ้าทอจะไม่ต่อราคาอีกแล้ว และผ้าที่มาทอกันวันนี้ใครจะให้ราคากี่บาทก็ไม่ขาย” นั่นก็เพราะเมื่อเราได้ลงมือทำทุกสิ่งด้วยตนเอง เราจะรู้ว่าไม่ใช่เพียงแค่ “เวลา” ที่ต้องมีให้มากพอสำหรับการทอผ้าด้วยมือ หากยังต้องมี “ใจรัก” มากพอที่จะยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการทอผ้าอันแสนเรียบง่าย หากทว่ามีกรรมวิธีอันซับซ้อนนี้ และเมื่อมีทั้งสองสิ่งนี้และเราก็จะได้กลับไปสัมผัสตัวตนและจิตวิญญาณที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ผ่านการทำงานด้วยมือของเรา

เรื่อง : จันทน์สุภา ชมกุล ภาพ : นิโคลัส โซ

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / ชุมชน / บ้านเชิงดอย / สกลนคร / ทอผ้ามือ / ผ้าทอย้อมคราม / ภูมิปัญญาไทย / ภูมิปัญญาท้องถิ่น /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ