Monday, May 20, 2024
ภูมิปัญญาไทย

น้ำอบไทย ใช้ได้ทุกวัย ใช้ได้ทุกวัน

เรื่อง/ภาพ: ศิริรัตตะ 

มะลุลีหอมหื่นฟุ้ง  มะลิวัน
ปรูประยงค์ก็หอมหรรษ์    หื่นห้า
หอมกลกลิ่นจอมขวัญ     ขวัญพี่ พระเอย
หอมห่อนเห็นหน้าหน้า      ใคร่กลั้นใจตาย
ลิลิตพระลอ สมัยอยุธยา

กวีมักเปรียบเทียบความหอมของดอกไม้นานาชนิดกับหญิงสาวที่ตนผูกพัน ความหอมอันตรึงใจนี้คงเป็นความหอมที่ได้จากเครื่องประทินผิวต่างๆ ดังปรากฏในวรรณกรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่อง “ราชาธิราช” ซึ่งทำให้เห็นประเภทและวิธีการใช้งานเครื่องหอม ดังในตอนที่กล่าวถึง การจัดของบรรณาการที่พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจัดถวายพระเจ้าราชาธิราช “เป็นสิ่งของแพรลายขบวนอย่างดีสิบพับ….น้ำดอกไม้เทศสิบเต้า….” นอกจากนี้ ยังกล่าวถึง การนำเครื่องหอมอย่างกระแจะน้ำดอกไม้มาเป็นเครื่องต้อนรับ  อีกทั้งกล่าวถึงวิธีการใช้งานไว้ว่า เวลาเช้าเจ้าสมิงนครอินทร์อาบน้ำทาแป้งหอม น้ำมันหอม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ เครื่องประทินผิวซึ่งเป็นที่นิยมในชนชั้นสูง ได้แก่ น้ำอบ น้ำปรุง โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ พระขนิษฐาทรงมีฝีพระหัตถ์ในการปรุงพระสุคนธ์เป็นอย่างยิ่ง 

ในปัจจุบันยังคงมีกลุ่มคนที่สืบสานการทำน้ำอบ หากแต่วิธีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยยังคงมีหลักที่คล้ายคลึงกัน การคัดเลือกวัตถุดิบซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ตั้งแต่การคัดเลือกแหล่งน้ำจากธรรมชาติ เช่น น้ำฝน ก้านชะลูด ไม้จันทน์หอม หัวน้ำมันหอม แป้งหิน รวมทั้งวัตถุดิบในการร่ำ ได้แก่ กำยานผิวมะกรูด น้ำตาลทรายแดง น้ำอบ จึงเป็นการรวมตัวกันระหว่างน้ำ แป้ง และกลิ่นดอกไม้หอมตามฤดูกาล 

ต้องช่างสังเกตธรรมชาติที่อยู่รอบตัว
รู้จักกลิ่นหอมของดอกไม้แต่ละชนิด
รู้จักธรรมชาติของดอกไม้ว่า
เด็ดดอกไม้เวลาใดจะมีกลิ่นหอมทนนาน

ขั้นตอนแรกในการทำน้ำอบ คือ นำชะลูด ไม้จันทน์หอม มาต้มในน้ำที่เตรียมไว้จนกลายเป็นสีเหลืองทอง ตั้งพักไว้ให้น้ำเย็น นำแป้งหินมาปรุงกับหัวน้ำมันหอมที่สกัดจากดอกไม้หลากหลายชนิด และนำมาผสมลงในน้ำที่เตรียมไว้ข้างต้น  ขั้นตอนที่สำคัญมากคือการ โกรก คือการใช้กระบวยตักน้ำอบขึ้นลงโดยยกกระบวยขึ้นสูงราว ๑ ศอก ทำซ้ำจนกว่าน้ำกับแป้งรวมตัวกัน ขั้นตอนสุดท้ายคือ วิธีการอบร่ำด้วยเครื่องร่ำ อันประกอบด้วย กำยาน น้ำตาลทรายแดง และผิวมะกรูด การอบร่ำเป็นขั้นตอนเพิ่มความหอมโดยเผาตะคัน และนำเครื่องร่ำใส่ตะคันเพื่อให้เกิดควัน ซึ่งเป็นวิธีร่ำที่ทำให้น้ำอบหอมทนนาน   

ในปัจจุบันน้ำอบยังใช้ในงานพิธีกรรม ในเทศกาลสำคัญ เช่น เทศกาลสงกรานต์ ในการสรงน้ำพระ และไหว้ผู้ใหญ่ นอกจากนี้น้ำอบคู่กับเเป้งร่ำเพื่อเพิ่มความหอมให้กลิ่นกาย แป้งร่ำทำมาจากแป้งหินนำมาบดให้ละเอียด แล้วนำมาผสมกับผิวมะกรูด พิมเสนจีน และน้ำอบ เมื่อแป้งมีลักษณะเหลวจึงนำมาหยอดให้มีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ เมื่อแป้งแห้งแล้วนำมาร่ำด้วยเทียนร่ำเพื่อเพิ่มความหอม วิธีใช้คือ นำแป้งมาละลายด้วยน้ำอบ ปะพรมร่างกายเป็นการถนอมผิวกาย และสร้างความรู้สึกผ่อนคลายไปด้วย 

การทำน้ำอบ แป้งร่ำนั้นมีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อนหากแต่ผู้ทำต้องช่างสังเกตธรรมชาติที่อยู่รอบตัว รู้จักกลิ่นหอมของดอกไม้แต่ละชนิด รู้จักธรรมชาติของดอกไม้ว่าเด็ดดอกไม้เวลาใดจะมีกลิ่นหอมทนนานมปัจจุบันมีกลุ่มคนที่ยังทำน้ำอบ  และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย

อเชิญชวนกลับมาลองใช้น้ำอบ แป้งร่ำไปด้วยกัน เพราะ “น้ำอบไทยใช้ได้ทุกวัย ใช้ได้ทุกวัน” 

About the Author

Share:
Tags: fragrance / นิตยสารอนุรักษ์ / Thai perfume / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / anurakmagazine / ภูมิปัญญาไทย / อนุรักษ์ออนไลน์ / น้ำอบ / แป้งร่ำ / โกรก /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ