Sunday, May 19, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

THE WORLD’S GREATEST LIBRARY ตำนานการเรียนรู้ของโลก

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 5
เรื่อง : สาริสา


THE
WORLD’S
GREATEST
LIBRARY


ตำนานการเรียนรู้ของโลก

การที่ ‘กูเกิล’ เริ่มโปรเจ็กต์สแกนหน้าหนังสือทุกเล่มที่มีบนโลกเพื่อจัดทำห้องสมุดออนไลน์ขึ้นมา นับว่าเป็นข่าวดี ที่ทุกคนจะได้ค้นหาข้อมูลได้สะดวกขึ้นมีความรู้ผ่านการอ่านมากขึ้น อนุรักษ์ขอพาคุณย้อนวัฒนธรรมก่อนเก่าในการสืบค้นข้อมูลของมนุษยชาติ ด้วยการไปออนทัวร์ห้องสมุด ๕ แห่งที่สวยงามและทรงคุณค่า เป็นมรดกทางปัญญา และตำนานการเรียนรู้ของโลก

Admont Library

Austria
A-๘๙๑๑ เมือง Admont ๑ ออสเตรีย

ปูพื้นสู่ห้องสมุดแห่งแรก อันมีฉากหลังเป็นภูมิประเทศสวยๆ ของประเทศออสเตรีย ณ แถบแม่น้ำ Enns ในเมือง Admont เป็นที่ตั้งของคริสต์ศาสนสถานนิกาย Benedictine ในนามเดียวกัน ภายในบริเวณนั้นมีห้องสมุดประจำโบสถ์ อันเป็นที่เลื่องลือในความสวยงามไม่แพ้
สถาปัตยกรรมใดๆ ในโลก

ห้องสมุดแห่ง Admont ได้รับการยกย่องให้เป็นห้องสมุดสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ ๑๘ ไม่เพียงเท่านั้น ยังรั้งตำแหน่งห้องสมุดสงฆ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วยความโดดเด่นของห้องสมุดนี้ Admont อยู่ที่การตกแต่งและงานสถาปัตยกรรมยุคบาโรกสุดตระการตา ภายในชุ่มฉ่ำไปด้วยศิลปะ และต้นฉบับพระคริสต์ธรรมคัมภีร์เก่ากรุที่ประเมินค่ามิได้ถึง ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม และมีราวๆ ๕๓๐ เล่ม ที่ได้รับการตีพิมพ์ก่อนช่วงศตวรรษที่ ๑๕ เสียอีก

ตามประวัติการก่อสร้างบันทึกไว้ว่า คริสต์ศาสนสถานแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. ๑๐๗๔ ทว่ากว่าที่ตัวห้องสมุดจะแล้วเสร็จ ก็กินเวลาอีกถึง ๗๐๒ ปีให้หลังทีเดียว ภายในห้องสมุดแบ่งเป็น ๓ โซนหลัก บนเพดานที่สูง ๑๑ เมตรประดับประดาด้วยจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ๗ จุดรังสรรค์โดย Bartolomeo Altomonte ส่วนประติมากรรมที่ตั้งตระหง่านในห้องสมุด เป็นผลงานของประติมากรคนสำคัญในยุคบาโรก นั่นคือ Josef Stammel

The National Library of France

France
Quai Fran’ois Mauriac, ๗๕๐๑๓

กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ปิดวันจันทร์) อีกหนึ่งงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของมวลมนุษยชาติ “หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส” จุดกำเนิดของหอสมุดแห่งนี้ย้อนรอยกลับไปได้ในปี ค.ศ. ๑๓๖๘ โดยตั้งต้นมาจากการใช้งานเป็นหอสมุดในราชสำนัก ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๕ และได้รับการสนับสนุนอย่างมากในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ภายหลังในปี ค.ศ. ๑๖๙๒ หอสมุดแห่งนี้จึงเปิดให้สาธารณชนเข้าไปค้นคว้าความรู้ได้อย่างเสรี จนกระทั่งศตวรรษที่ ๑๙ ก็กลายเป็นคลังเก็บหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เนื่องจากมีผู้ให้การสนับสนุนบริจาคหนังสือและสิ่งตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องหนึ่งในนั้นคือ นักประพันธ์ชื่อก้องโลกอย่าง วิกเตอร์ ฮูโก นั่นเองในปี ค.ศ ๑๙๘๘ ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตเตอรองด์ ประกาศโครงการขยายห้องสมุดแห่งนี้ให้มีความยิ่งใหญ่และหรูหรา อีก ๑๐ ปีให้หลัง ห้องสมุดแห่งนี้ก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกสมัยใหม่ ด้วยเป็นสถานที่รวบรวมเก็บเอกสารสำคัญกว่า ๑๓ ล้านฉบับ หนังสืออย่างน้อยๆ ๓๑๕ ล้านเล่ม หนังสือพิมพ์ นิตยสารทั้งภาษาฝรั่งเศสและนานาชาติ กว่า ๓,๐๐๐ ฉบับ แน่นอนว่าที่นี่ ย่อมเป็นคลังความรู้และคลังประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์แห่งชนชาติฝรั่งเศส ด้วยการเก็บสะสมสิ่งพิมพ์จากสื่อทุกสำนักของฝรั่งเศสไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๖ เลยทีเดียว

The George Peabody Library

United State of America
๑๗ E. Mount Vernon Place, บัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา

โครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ประกอบขึ้นจากเหล็ก ให้กำเนิดทิศทางใหม่แก่ห้องสมุดในยุคศตวรรษที่ ๑๙ ห้องสมุด George Peabody ออกแบบโดยสถาปนิกชาวบัลติมอร์ Edmund G.Lind ก่อสร้างใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ห้องสมุดแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมแห่งองค์ความรู้ในยุคดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเสา ระเบียงแต่ละชั้น ราวจับ หรือแม้กระทั่งเพดาน ล้วนแล้วแต่กรุขึ้นจากเหล็กกล้า แต่ออกแบบก่อสร้างได้อย่างอ่อนช้อย โดยเฉพาะในส่วนโค้งของระเบียง และลวดลายสลักเสลาบนเหล็ก ซึ่งงดงามหาใครเทียบเทียม

ปัจจุบัน คอลเล็กชั่นหนังสือที่เก็บในห้องสมุดแห่งนี้มีกว่า ๓๐๐,๐๐๐ เล่ม ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่สะสมตั้งแต่ช่วงสมัยศตวรรษที่ ๑๘ถึงต้นศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งลือเลื่องในส่วนที่เก็บสะสมคอลเล็กชั่นหนังสือโบราณคดี สถาปัตยกรรม ศิลปะอังกฤษ ประวัติศาสตร์อังกฤษและอเมริกา ชีววิทยา วรรณกรรมอังกฤษและอเมริกัน วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ตลอดจนคอลเล็กชั่นแผนที่ และตัวห้องสมุดยังเปิดให้บริการเป็นสถานที่จัดงานพิธีในวาระสำคัญๆ เช่นงานแต่งงาน หรือพิธีอันทรงเกียรติลองจินตนาการดูสิว่า ถ้าได้สมรสภายในบรรยากาศอาคารเพดานสูงโปร่งที่สลักเสลาอย่างงดงาม ห้อมล้อมด้วยมนตร์ขลังของหนังสือจากศตวรรษที่ ๑๘ จะโรแมนติกขนาดไหน

ตั้งอยู่ในส่วนของสถาบันดนตรี Feabody อันเป็นส่วนหนึ่งของคอลเล็กชั่นพิเศษในหอสมุด Sheridanในมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอบกินส์ปัจจุบันห้องสมุดแห่งนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานพิธีสำคัญๆ ในบัลติมอร์ ผู้จัดงานส่วนใหญ่นิยมเริ่มงานตั้งแต่ช่วงหัวค่ำโดยการเสิร์ฟ ค็อกเทล และออเดิร์ฟ ให้รายล้อมไปด้วยบรรยากาศของหนังสือสวยๆหายากในส่วนห้องนิทรรศการ

Wiblingen Abbey Library

Germany
เมือง Ulm แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี

ผลิตผลของศิลปะอันรุ่งเรืองเฟื่องฟูในยุคสมัยโรโคโค บันดาลให้เกิดห้องสมุดที่มีความสวยงามตระการตาที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ห้องสมุดสงฆ์ Wiblingen Abbey ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. ๑๗๔๔ การตกแต่งของห้องสมุดนี้ รุ่มรวยด้วยสีสันที่ผสมผสานกันอย่างวิจิตร ตั้งแต่สีทองอร่าม สีชมพูอ่อน และสีน้ำเงิน ทุกตารางนิ้วเต็มไปด้วยรายละเอียดของการออกแบบตกแต่งเพราะจุดเด่นของศิลปะสมัยโรโคโคคือ “ความเยอะไว้ก่อน” อาจเป็นสไตล์ที่ชาวมินิมัลลิสต์ไม่ใคร่จะถูกจริตนัก

แต่หากได้มีโอกาสไปเยือนและสัมผัสสถานที่จริงสักครั้ง คำว่า “สวยจนแทบหยุดหายใจ” น่าจะหลุดออกมาจากห้วงคำนึงของคุณ ทำให้สถานที่นี้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ด้วยขนาดพื้นที่กว้างขวาง ปัจจุบันจึงเป็นสถานที่เก็บรวบรวมต้นฉบับตำรากับคัมภีร์เลอค่าทางคริสต์ศาสนจักรไว้กว่า ๑๕,๐๐๐ ชิ้น

Biblioteca Malatestiana

Italy
Piazza Bufalini ๑, ๔๗๕๒๑, เมือง Cesena อิตาลี

เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Malatesta Novello Library ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้อยู่ที่เมือง Cesena ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี เพดานอิฐรูปทรงโค้งฉาบด้วยปูนสีเขียวดังที่เห็นในรูปนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ทนต่ออัคคีภัย ห้องสมุด Biblioteca Malatestiana อนุรักษ์ความดั้งเดิมในรูปแบบของห้องสมุดยุคกลางตอนปลายเอาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ห้องสมุดโบราณแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๔๕๒ ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ Matteo Nutti ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาหนังสือยุคก่อนเก่า ที่ใช้กรรมวิธีคัดลอกด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ละเล่มยังถูกจัดวางในตำแหน่งเดิมไม่มีผิดเพี้ยน และมีปราการปกป้องกับโต๊ะอย่างแน่นหนาเพื่อป้องกันการโจรกรรม โดยวัฒนธรรมการใช้ห้องสมุดของยุคกลาง ไม่มีบริการบรรณารักษ์คอยสืบค้นหนังสือให้ แต่หนังสือจะถูกจัดเตรียมวางไว้บนโต๊ะอ่านหนังสือตัวนั้นๆ เลย

About the Author

Share:
Tags: หนังสือ / architecture / interior / ฉบับที่ 5 / LIBRARY / ห้องสมุด /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ