Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ สัมภาษณ์ บทความแนะนำ

ศิลปะกำมะลอ สัมภาษณ์อาจารย์ สนั่น รัตนะ ราชบัณฑิต

“Kammalo”

Long Lost Thai Traditional Art


อนุรักษ์ ฉบับที่ 60 เรื่อง นิรมล เรืองสอาด ภาพ ธนิต มณีจักร ปกรณ์ พฤษเจริญ

กระดานแผ่นใหญ่ และอุปกรณ์ศิลปะมากมายวางอยู่เบื้องหน้าบนโต๊ะไม้ ฉากหลังเต็มไปด้วยกองหนังสือมากมายจนล้นตู้ออกมา หน้าวันนี้อนุรักษ์ได้อยู่กับบรมครูท่านหนึ่ง ที่หลายๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดี อาจารย์ท่านนี้ ถนัดสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมตามแบบธรรมเนียมแบบเทคนิคศิลปะไทย อาจารย์ค่อยๆ สาธิตวิธีการที่ถนัด เริ่มต้นด้วยการ ปรุผง – ดินสอขาว แล้วจึงใช้ยางรักดำทาไป และตัดเส้นดำทับเป็นเลเยอร์ แล้วจึงระบายสี ทีละหนึ่งเลเยอร์โดยใช้สีฝุ่น ขั้นสุดท้ายของการลงสีคือทารักเคลือบ รอจนแห้งแล้วขัดออก เพื่อให้ได้ผิวเสมอกัน และขัดเงาด้วยมือ และใบตองแห้ง บริเวณที่ลงรักเอาไว้ก็ค่อยๆ เอาทอง ด้วยเทคนิคการจาม หรือการใช้เหล็กแหลมค่อยๆ สะกิดออกจนเป็นลวดลายที่สวยงาม เทคนิคนี้เห็นจะเรียกกันว่า เทคนิค รักสี 

อาจารย์ สนั่น รัตนะ ราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจิตรศิลป์ ศิลปะไทย

เมื่อพูดเทคนิคไทย หลายๆ คนคงนึกออกเพียงแค่ “ลายรดน้ำ” เพราะสามารถเห็นได้ทั่วไปตามวัดวาอารามต่างๆ ส่วนมากจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าคือ “ประตูวัด” แต่ลายรดน้ำเป็นมากกว่านั้น วันนี้เราจะมาหาคำตอบว่าลายรดน้ำจริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่  

อาจารย์สนั่น รัตนะ ราชบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญเรื่องลายรดน้ำ และลายกำมะลอของไทย อาจารย์ได้ใช้เวลาศึกษาเรื่องเทคนิคไทยมาตลอดชีวิต จนถึงปีนี้ก็ร่วมเข้าปีที่ 44 แล้ว ถือว่าอาจารย์นั้นเป็นบุคคลสําคัญในวงการศิลปะไทย ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2562 ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรม สํานักศิลปกรรม เป็นศิลปิน อาจารย์ นักเขียน และได้คุณูปการมากมายแก่วงการศิลปะไทย

คำว่า “ลายรดน้ำ” แท้จริงแล้วคือ หนึ่งในเทคนิค หรือ วิธี/กระบวนการในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมวิธีหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ โดยการลงรักปิดทองก่อน แล้วจึงใช้น้ำรดลงไปเพื่อให้เกิดเป็นลวดลายซึ่งเป็นเกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศไทย

นอกจากลายรดน้ำแล้ว อาจารย์สนั่น ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเรื่องเทคนิคการเขียน “ลายกำมะลอ” ที่คนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักการใช้เทคนิคนี้ เนื่องจากลายกำมะลอเป็นเทคนิคที่ต้องเตรียมอุปกรณ์เยอะ และใช้เวลาที่นานกว่าเทคนิคอื่นๆ อีกทั้งยังไม่ค่อยปรากฏในประวัติศาสตร์เท่าใดนัก อาจารย์ได้ใช้เวลากว่า 12 ปีในการสืบค้นเกี่ยวกับลายกำมะลอ จนพบว่า ลายกำมะลอนี้ ปรากฏตั้งแต่ในสมัยอยุธยาแล้ว 

อาจารย์เล่าว่า คำว่า “กำมะลอ แปลว่า ไม่แท้ เป็นเทคนิคผสมระหว่างงานรักสีและงานลายรดน้ำ ไม่ได้ไปทางใดทางหนึ่งคำนี้ได้มาจาก“สมเด็จครู” หรือ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2465 ความว่า ลายรดน้ำกับกำมะลอเป็นคนละประเภท ลายรดน้ำนั้นลงรักพื้นแล้วที่ไหนจะไม่ให้ทองติด เอาจุลดินหรือหิน (หรดาร) เขียนห้ามเสีย แล้วเอารักใสเช็ด ตรงที่มีจุลดินหรือหินจะหลุดออกมา มีลักษณะลายกับพื้นราบเท่ากัน ส่วนกำมะลอ เมื่อลงรักพื้นแล้ว เอารักผสมสีทาเป็นลายพื้นลาย และใช้รักตัดเป็นเส้น เอาทองผงโรยอย่างลายรดน้ำจะมีลักษณะลายโปนขึ้นสูงกว่าพื้น การรดน้ำไม่ว่าจะมาจากที่ไหน แต่ไทยทำกันมานานแล้วจัดว่าเป็นการทำวิธีของไทย ลายกำมะลอเป็นวิธีของจีนเท่าที่อาจารย์ได้ศึกษามา ลายกำมะลอ เห็นจะแบ่งออกเป็น 3 ยุค 


1. จีนแท้ เป็นคนจีนที่ได้เรียนวิชามาจากบรรพบุรุษ เป็นการเขียนรักสีลงบนเฟอร์นิเจอร์ แล้วนำส่งมาขายที่ไทย 
2. ช่างจีนและลูกจีนที่เกิดในประเทศไทย เริ่มมีการผสมผสานเทคนิคและรูปทรงของไทย 
3. ช่างไทยที่เลียนแบบงานจีน เป็นการวาดรูปทรง รูปร่าง และเรื่องราวของไทย แต่ใช้เทคนิคจากคนจีน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
อยุธยา

แต่ก็ยังไม่สามารถแบ่งยุคออกได้อย่างชัดเจนเท่าใดนัก เพราะว่าในแต่ละช่วงเวลาก็จะมีความนิยมที่ต่างกัน เช่น ในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 1 งานกำมะลอที่ปรากฏในหอไตรวัดสระเกศ ด้านหน้าและด้านข้างเป็นภาพของเรื่องราวสามก๊ก ด้านหลังเป็นภาพปราสาทไทย คือการผสมผสานระหว่างไทยและจีน เมื่อเริ่มเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ปรากฏฉากงานลับแลเรื่องอิเหนา ที่แสดงความเป็นไทยขัดเจนที่สุด แต่ในช่วงรัชกาลที่ 3 ที่ท่านนิยมและชื่นชอบศิลปะแบบจีน ก็ได้วนกลับไปใช้แนวความคิด รูปร่างรูปทรง อย่างจีนอีกครั้งหนึ่ง ทำให้การสืบค้นเรื่องราวของลายกำมะลอมีความยากขึ้นไปอีกหลายเท่าเมื่อเทียบกัยเทคนิคแบบอื่น

หัวใจสำคัญของทั้ง 2 เทคนิคที่กล่าวมา คือ “รัก” ยางไม้ชนิดหนึ่ง หรือเรียกง่ายๆ ในภาษาช่างว่า แชล็ค (lacquer) นอกจากความเงางามที่ได้ หน้าที่หลักของสิ่งนี้คือ เอาไว้เคลือบไม้ เพื่อรักษาเนื้อไม้ให้ผุกร่อนได้ช้าที่สุด ไม้ชนิดนี้ขึ้นดีที่สุดในแถบเอเชียอาคเนย์ ยางรักในทวีปเอเชียเท่าที่สืบค้นมาได้ จะมีปรากฏในประวัติศาสตร์ประเทศจีน (ทำชแลกเคลือบเหล็ก), ญี่ปุ่น, เกาหลี และประเทศเวียดนาม (ทาเคลือบศพมัมมี่จี) รวมแล้วประมาณ 1,000 ปี 

“การตามหารักชนิดนี้ต้องเวียดนามกว่า 6 ครั้ง ต้องเดินตามหาตามตรอกซอกซอยกว่าจะได้มา จนในที่สุดอาจารย์ได้รักใสนี้มาจากเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ขนาดเท่าขวดน้ำดื่ม 500 ml ในราคา 700 บาท”

ในประเทศไทยมีต้นไม้ที่ให้ยางแบบยางรักประมาณ 15 สายพันธุ์ ที่นิยมใช้ และมีประสิทธิภาพที่สุดคือ รักใหญ่ (ฮักใหญ่หรือฮักหมู) ที่ได้มาจากทางภาคเหนือของไทย, รักไชยา หาได้ตั้งแต่สุราษฎ์ธานีจนถึงปัตตานี เป็นยังรักที่ดีที่สุดในไทย ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยมาก และรักอุบล (ต้นน้ำเกลี้ยง) การค้นคว้าของอาจารย์ไม่ได้หยุดลงแต่ในประเทศไทย เมื่ออาจารย์ได้ทราบว่า การใช้เทคนิครักสี มีใช้ทั่วไปทั้งเอเชีย อาจารย์สนั่น จึงได้ออกเดินทางตามหา “รัก” ที่เขาว่ากันว่าดีที่สุด นั่นก็คือ รักเวียดนาม

ในเวียดนามจะเรียกรักใสว่า รักญี่ปุ่น หรือ รักแมลงสาป เนื่องจากรักชนิดนี้ มีสีน้ำตาลแดง เงา เหมือนเปลือกแมลงสาป แต่เมื่อสืบไปว่าในญี่ปุ่นมีรักชนิดนี้ใช้หรือไม่กลับไม่มี และคนญี่ปุ่นก็ดันเรียกรักชนิดนี้ว่ารักเวียดนาม เป็นเรื่องที่ชวนสับสนอย่างมาก รักใสในเวียดนามมี 2 ประเภทคือ รักญี่ปุ่น และรักใสที่ศิลปินเวียดนามทำใช้กันเองซึ่งมีราคาสูงมาก มีคุณสมบัติคือแห้งช้า สามารถทำให้ศิลปินสามารถวาดรูปแบบเรียลลิสติกได้เลย อาจารย์ได้เล่าว่า การตามหารักชนิดนี้ต้องเวียดนามกว่า 6 ครั้ง ต้องเดินตามหาตามตรอกซอกซอยกว่าจะได้มา จนในที่สุดอาจารยได้รักใสนี้มาจากเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ขนาดเท่าขวดน้ำดื่ม 500 ml ในราคา 700 บาท แต่ถ้าหากซื้อที่เมืองฮานอย จะราคาสูงกว่านี้มาก และไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ เนื่องจากไม่มีฉลาก ดังนั้นการเดินทางของรักขวดนี้ จึงต้องเดินทางจากเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เข้าประเทศลาว แล้วจึงนั่งรถทัวร์เข้ามาไทยได้แต่ทว่า เมื่อนำมาผสมกับสีฝุ่นของไทยแล้ว กลับไม่ออกสี ดังนั้นจึงต้องกลับไปซื้อสีฝุ่นที่ประเทศเวียดนามอีกครั้ง

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่การซื้ออุปกรณ์ในไทยนั้น มีขายในไม่กี่ร้านค้า ต่างจากในประเทศเวียดนามที่มีร้านขายอยู่เกือบทุกถนน ทำให้นักเรียนศิลปะของที่นั่น นิยมเลือกเทคนิครักสีในการสร้างงานจิตรกรรม และความสนุกของการเขียนรักสีในเวียดนามคือ ประเทศของเขามียางรักใสถึง 5 เฉดสี คือ สีอมแดง, สีอมม่วง, สีอมส้ม, สีอมเขียว และสีอมม่วง ทำให้การสร้างสรรค์ถึงทำได้เยอะกว่างานเขียนในไทย เพราะการจับคู่เฉดสีของรักและสีฝุ่นจะให้อารมณ์ที่ต่างกันไป ตามแต่ละเฉดสี

ท่านอาจารย์จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ (ราชบัณฑิต)  ท่านได้บอกว่าสิ่งที่อาจารย์สนั่น ค้นคว้าทดลองนั้นได้ถูกต้องตามหลักโบราณแล้ว 80% อีก 20% นั้นยังขาดอยู่ เพราะวัตถุดิบบางอย่างหาไม่ได้แล้วในปัจจุบัน และสิ่งนี้ควรค่าแก้การสืบทอดต่อไป ขอให้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นตำราไว้ ก่อนที่จะหายไปอีกครั้ง ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในอีก 2 เดือนต่อมา ให้เป็นพินัยกรรมให้สืบต่อไปให้ลูกศิษย์

ณ เวลานี้ อาจารย์สนั่นได้ออกหนังสือเกี่ยวกับเทคนิคในศิลปะไทยมากมายหลากหลายเล่ม เช่น ศิลปะลายรดน้ำ, ศิลปะลายกำมะลอ, ตำราศิลปะไทย ชุด ตัวภาพเดี่ยว เป็นต้น สามารถหาซื้อได้ที่ตามร้านหนังสือทั่วไป เช่น ร้านริมขอบฟ้า

ตำราศิลปะไทย ศิลปะกำมะลอ โดย สนั่น รัตนะ ราชบัณฑิต

ประวัตินายสนั่น รัตนะ คัดลอกจากสำนักงานราชบัญฑิตสภา

วัน เดือน ปี เกิด วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓

ราชบัณฑิต โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๒ สาขาวิชาจิตรกรรม ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ สำนักศิลปกรรม

ตำแหน่งสำคัญในราชบัณฑิตยสถาน/ราชบัณฑิตยสภา

– ประธานคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมหัตถศิลป์ไทย ฉบับที่ราชบัณฑิตยสภา – กรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ลายไทย ฉบับที่ราชบัณฑิตยสถาน

ประวัติการศึกษา

– ปมช. (ศิลปศึกษา) วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร (พ.ศ. ๒๕๒๓) – กศ.บ. (ศิลปศึกษา) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) (พ.ศ. ๒๕๒๗)

ผลงานวิชาการ

– ภาพประกอบหนังสือ พุทธประวัติสำหรับเยาวชน ของสำนักงานเอกลักษณ์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๙ – ภาพประกอบวรรณกรรม เรื่อง พระอภัยมณี ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ของกระทรวง วัฒนธรรม – เขียนซ่อม ภาพจิตรกรรมและลวดลายฝาผนังพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร, พ.ศ. ๒๕๒๗ – เขียนภาพฉากบังเพลิงพระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, ๒๕๓๙ – ออกแบบ เขียนฉากบังเพลิงพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และการออกแบบลวดลายใหม่เพื่อใช้ในงานพระเมรุ ชื่อลายแก้วกัลยา, ๒๕๕๑ – ออกแบบ เขียนฉากบังเพลิงพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, ๒๕๕๕ – ออกแบบ เขียนลายรดน้ำ บานประตู หน้าต่าง พระมหามณฑป วัดไตรมิตรวิทยาราม, พ.ศ. ๒๕๕๒ – บทความเรื่อง “จิตรกรรมภาพเทวดาที่ปรากฏในการสร้างพระเมรุมาศหรือพระเมรุ” วารสารราชบัณฑิตยสถาน, ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๖ (น. ๑๗๑-๑๘๑)

– บทความเรื่อง “ฉากบังเพลิง : จิตรกรรมลวดลายเทวดาบนพระเมรุ” เครื่องประกอบ พระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, ๒๕๕๕ (น. ๒๘๐-๒๙๓) – บทความเรื่อง “ฉากบังเพลิง” เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, ๒๕๕๑ (น. ๒๕๙-๒๗๘) – บทความเรื่อง “งานเขียนฉากบังเพลิงพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในหน้าที่ของวิทยาลัยช่างศิลป” ๘๕ ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร, ๒๕๓๙ (น. ๖๖-๗๓) – หนังสือ ศิลปะไทย ชุด ภาพจิตรกรรมไทย สำนักพิมพ์วาดศิลป์, ๒๕๔๑ – หนังสือ ศิลปะลายรดน้ำ สำนักพิมพ์สิปประภา, ๒๕๔๕ – หนังสือ ศิลปะไทยชุด ตัวภาพเดี่ยว สำนักพิมพ์ษาริน, ๒๕๔๘ – หนังสือ ศิลปะลายกำมะลอ สำนักพิมพ์สิปประภา, ๒๕๔๙ – กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจัดพิมพ์หนังสือไตรภูมิกถา ฉบับที่รัชกาลที่ ๙ ของกระทรวง วัฒนธรรม, ๒๕๕๔

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

คลิปน่าสนใจ ศิลปะไทยเรื่องลายรดน้ำ โดย สนั่น รัตนะ ราชบัณฑิต

About the Author

Share:
Tags: ศิลปะไทย / สนั่น รัตนะ / ราชบัณฑิต / ศิลปะกำมะลอ / ลายรดน้ำ / ตำราศิลปะไทย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ