Monday, May 20, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

ดอกซากุระ และพระปรางค์

            ราวเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาพิเศษที่ชาวเมืองโตเกียวและผู้ที่มาเยือนตั้งตารอคอย เพราะดอกซากุระจะบานสะพรั่งพร้อมๆกันทั่วมหานครแห่งนี้ ในปีพ.ศ. 2488 ก็เช่นกัน การที่หันไปทางไหนก็เห็นสีชมพูระเรื่อของกลีบดอกไม้พรึ้บไปหมดได้สร้างแรงบันดาลให้ จิตร บัวบุศย์ นักศึกษาจากต่างแดน ถึงกับต้องรีบออกไปบันทึกภาพประทับใจอันยากจะลืมเลือนนี้ไว้ด้วยสีน้ำมัน ลงบนแผ่นกระดานไม้สนญี่ปุ่น

            จิตรใช้เกรียงเล็กๆบรรจงปาดสีหนาๆทับๆกันในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่ตนเองถนัด สลับกับจิ้มขิงดองป้อนแฟนสาวชาวอาทิตย์อุทัยด้วยเกรียงเล่มเดียวกัน ท่ามกลางบรรยากาศสุดโรแมนติกห้อมล้อมไปด้วยซากุระนับล้านๆดอกในสวนสาธารณะอุเอโนะใกล้ๆกับหอพักนักศึกษา

ดอกซากุระ

และ

พระปรางค์

            สำหรับจิตรที่ติดอยู่ในประเทศญี่ปุ่นโมเมนท์ที่ว่าน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ดีๆที่น่าจดจำไม่กี่เหตุการณ์ของปีนั้น เพราะในเวลาไม่ห่างกันกับที่จิตรวาดภาพนี้ เครื่องบินของสหรัฐอเมริกาก็ได้ทิ้งระเบิดปูพรมถล่มเมืองโตเกียว จนชาวเมืองนับแสนต้องสิ้นชีวิตไปในกองเพลิง ทั่วญี่ปุ่นเหตุการณ์ร้ายๆจากภัยของสงครามเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ประชาชนต้องอยู่กันด้วยความหวาดระแวงจากความตายที่คืบคลานมาหาได้ทุกเมื่อเชื่อวัน คลาเคล้าไปกับคราบน้ำตาของความทุกข์โศกจากการที่ต้องสูญเสียญาติสนิทมิตรสหาย จนในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นก็ไม่ต่างอะไรกับขุมอเวจีเมื่อระเบิดปรมาณูถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอีกราว 200,000 คน 

แล้ว จิตร บัวบุศย์ เป็นใคร จับพลัดจับผลูไปนั่งวาดรูปดอกซากุระอยู่ญี่ปุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างไร? 

            ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2454 ณ บ้านบนถนนหลวงข้างโรงพยาบาลกลาง ทารกชื่อ จิตร ได้ลืมตามาดูโลก บิดาของจิตรคือ หลวงชาญหัตถกิจ รับราชการเป็นช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 จิตรเลยสืบทอดสายเลือดศิลปินมาเต็มๆ 

            เมื่อเติบใหญ่ จิตรอินจัดทางด้านศิลปะ จึงไม่มีชอยส์อื่นตัดสินใจสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง สถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่เปิดสอนวิชาการแขนงนี้ ที่เพาะช่างจิตร กับเพื่อนชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นคนแรกๆในประเทศไทยที่ริเริ่มวาดภาพด้วยฝีแปรงที่รวดเร็วฉับไว เน้นจับแสง และอารมณ์ความประทับใจในแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ โดยหลังเลิกเรียนก็มักพากันเต็ดเตร่ออกไปหาวิวเด็ดๆทั่วกรุงเทพฯเพื่อเป็นแบบในการวาดภาพลับฝีมือ 

            จิตรเรียนจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2473 ก่อนจะสมัครเป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนที่เดิมนั่นแหละ ภายหลังเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฏร์ รัฐบาลในสมัยนั้นมีไอเดียจะสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองระบอบใหม่ ศิลปินมือฉมังในเมืองไทยจึงถูกเลือกสรรให้มาช่วยงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงอย่างเร่งด่วนโดยมี อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์เป็นผู้ปั้นประติมากรรมนูนต่ำประดับบริเวณฐานของปีกที่อยู่รายล้อมอนุสาวรีย์ ส่วน จิตร บัวบุษย์ ได้รับมอบหมายให้ปั้นหล่อพานรัฐธรรมนูญอันเบ้อเริ่มเทิ่มที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลาง

            เมื่อผลพวงของสงครามโลกเริ่มแผ่ขยายเข้ามาสู่เอเซียอาคเนย์ ด้วยความมุ่งหมายไม่ให้เกิดความรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้อ ประเทศไทยจึงยอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อสานสัมพันธไมตรี ญี่ปุ่นเลยส่งทูตวัฒนธรรม และครูมาช่วยสอนศิลปะในโรงเรียนของไทย อีกทั้งยังเปิดรับนักเรียนทุนเพื่อให้ไปศึกษาต่อในสถาบันศิลปะชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น

           หลังจากที่รับราชการมาร่วม 10 ปี ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2484 จิตรได้รับทุนการศึกษาจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เดินทางไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโตเกียว ( Tokyo Academy of Fine Arts ) ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นจิตรได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติหลายแขนงชนิดสากกระเบือยันเรือรบ พาให้แตกฉานทั้งเทคนิคทางศิลปะที่ชาวญี่ปุ่นเขาสืบทอดต่อๆกันมาตั้งแต่โบราณ เช่นการแกะสลักไม้ ลงรัก ย้อมสีผ้า สร้างเครื่องไม้ไผ่ และเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม และประติมากรรมแบบตะวันตกที่ญี่ปุ่นได้รับการวางรากฐานโดยศิลปินชาวยุโรปที่เดินทางมารับใช้ราชสำนักคล้ายๆกับสตอรี่ของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ในบ้านเรา

         วิชาที่จิตรเห็นจะอินจัดเป็นพิเศษเพราะชื่นชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคือการวาดภาพแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ณ สถาบันวิจิตรศิลป์จิตรเรียนกับครูชาวญี่ปุ่นที่เป็นลูกศิษย์ของ คลอด โมเนต์ ส่งผลให้จิตรหลานศิษย์สายตรงของศาสดาแห่งอิมเพรสชั่นนิสม์ได้ซึมซับเคล็ดลับ  และจิตวิญญาณในการวาดภาพสไตล์นี้แบบถึงแก่น จนสามารถยกระดับฝีมือไปสู่จุดพีคโดยตลอดเกือบ 6 ปีที่จิตรเรียนศิลปะ รวมกับเวลาที่ติดแหง็กอยู่ญี่ปุ่นกลับประเทศไทยไม่ได้เพราะสงครามโลก จิตรตระเวนวาดภาพวิวทิวทัศน์ของสถานที่ต่างๆ ถ่ายทอดอารมณ์ประทับใจในบรรยากาศแปลกใหม่ของต่างแดนออกมาด้วยฝีเกรียงที่ปาดป้ายอย่างฉับพลันชำนาญ ซ้อนทับฉวัดเฉวียนด้วยรายละเอียดยุบยิบในโทนสีที่กลมกล่อมลงตัว เกิดเป็นผลงานภาพวาดชุดญี่ปุ่นในตำนานอันรวมถึงภาพดอกซากุระที่อารัมภบทมาตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่อนิจจาน่าเสียดาย ผลงานมากมายในชุดนี้พังเสียหายมลายไปกับระเบิด และบางส่วนยังถูกทำลายด้วยความจำเป็นโดยจิตรเอง เพื่อเอาไม้เฟรม และกระดานไปทำฟืนหุงหาอาหารเลี้ยงปากท้องขณะพำนักในญี่ปุ่นท่ามกลางภาวะสงครามที่ข้าวยากหมากแพง 

จิตรสำเร็จการศึกษาได้ประกาศนียบัตรทั้งด้านจิตรกรรม และ ประติมากรรม และกลับบ้านเกิดเมื่อสงครามสงบ ครั้นถึงประเทศไทยจิตรเข้ารับราชการต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง เป็นทั้งครูผู้สอน และผู้บริหารโรงเรียนในฐานะอาจารย์ใหญ่ รับผิดชอบโครงการสำคัญต่างๆมากมายเช่น ออกแบบก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนเพาะช่างที่ถูกระเบิดเสียหายจนไม่เหลือซากขึ้นมาใหม่โดยจิตรเป็นผู้วางรากฐานการออกแบบอาคารแบบทรงไทยประยุกต์ ซึ่งเป็นต้นแบบของอาคารกระทรวงต่างๆ และศาลาว่าการจังหวัดทั่วเมืองไทย

     ในด้านวิชาการจิตรเป็นตัวตั้งตัวตีในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนเพาะช่างให้ทันสมัยเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งยังตระเวนศึกษา สำรวจ และอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ, เสนอทฤษฎี และเขียนตำรับตำราโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ ด้วยผลงานอันเป็นที่ยอมรับมากมายท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิจิตรศิลป์ ในปี พ.ศ. 2524

         ด้วยภารกิจร้อยแปดที่รัดตัวจึงทำให้จิตรจำต้องว่างเว้นจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ตนเองชื่นชอบเป็นเวลายาวนาน จนเมื่อจิตร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ประกิต’ ได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศแปลกใหม่น่าหลงใหลในประเทศสหรัฐอเมริกา ผนวกกับแรงยุจากลูกศิษย์สุดเลิฟที่พาทัศนาจรอย่าง กมล ทัศนาญชลี ประกิตจึงกลับมาฮึดกระหน่ำวาดภาพในรูปแบบที่ตนเองผูกพันอีกครั้งในวัยเลย 80 ถึงสังขารจะเสื่อมถอยแต่ฝีมือก็ไม่ด้อยลงตามวัย ดูได้จากผลงานยุคอเมริกาของประกิตที่ยังคงความเข้มข้นลงตัว พาผู้ชมให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับวิวทิวทัศน์สีสันจัดจ้านเกินจินตนาการที่ถูกบรรจงบันทึกไว้ด้วยความรู้สึกประทับใจ และด้วยความเก๋าถึงแม้วันไหนประกิตจะลืมพกพู่กัน และเกรียง ท่านก็ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบได้ด้วยนิ้วมือ หรือของบ้านๆที่หาได้ทั่วไปอย่างแผ่นพลาสติก 

           ไม่นานหลังจากกลับมาวาดภาพอีกครั้ง ประกิต บัวบุศย์ ก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งในขณะนั้นท่านอายุทะลุ 90 เข้าไปแล้วแต่ก็ยังแข็งแรงดีมีแรงสร้างสรรค์ผลงานออกมาสู่สายตาลูกศิษย์ลูกหาและแฟนคลับอยู่อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ประกิตก็ถึงแก่กรรม ขาดไปเพียง 4 เดือนท่านก็จะมีอายุครบ 100 ปีบริบูรณ์ นับได้ว่าเป็นศิลปินที่สร้างประโยชน์แก่วงการศิลปะไทยมาเป็นเวลายาวนานมากที่สุดท่านหนึ่งเลยทีเดียว

           กลับมาที่ภาพดอกซากุระในสวนอุเอโนะที่วาดด้วยสีน้ำมันบนกระดานไม้สนในปี พ.ศ. 2488 หากใครได้มีโอกาสพลิกดูจะพบกับความแปลกไม่เหมือนผลงานชิ้นไหน เพราะด้านหลังมีภาพที่สมบูรณ์ถูกวาดไว้อีกภาพ เป็นภาพพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดอยุธยา ที่วาดขึ้นเมื่ออีก 2 ปีให้หลังในปี พ.ศ. 2490

           นั่นก็หมายความว่า ประกิต หรือ จิตร ในขณะนั้นได้หอบภาพดอกซากุระข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมาเมืองไทยเมื่อสงครามจบสิ้น แต่ที่น่าฉงนคือเมื่อกลับมากรุงเทพฯเป็นที่เรียบร้อยแล้วจิตรยังอุตส่าห์หิ้วภาพที่ว่าติดตัวตุเลงๆไปสำรวจอยุธยาด้วย และระหว่างทริปคงเกิดความประทับใจกับพระปรางค์วัดราชบูรณะ เลยจัดแจงวาดเป็นภาพสีน้ำมันในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ที่ถนัดลงบนกระดานด้านหลังซึ่งยังว่างอยู่ เกิดเป็นภาพพระปรางค์สูงตระหง่านดูเข้มขลังภายใต้แสงอัสดงอันนวลตา ภาพนี้ยังนับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นประวัติศาสตร์เพราะเห็นได้ชัดว่าพระปรางค์วัดราชบูรณะยังอยู่ในสภาพเดิมท่ามกลางป่าดงพงไพรยากแก่การตรวจตรารักษาความปลอดภัย จนอีก 9 ปีถัดมาดันมีโจรไปพบว่าภายในพระปรางค์มีสมบัติกรุใหญ่ถูกบรรจุไว้ โดยมีพระพุทธรูปมากมายทุกไซส์ทุกขนาด มี มงกุฎ ชฎา เครื่องประดับ เครื่องใช้ ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรวิลิสมาหราฝีมือช่างหลวงอยุธยาอีกเป็นไหๆ และทั้งหมดทำจากทองคำแท้ๆล้วนๆ ว่ากันว่าถ้าเป็นน้ำหนักทองก็ชั่งได้หลายร้อยกิโล เหล่าหัวขโมยถึงกับแห่กันมาขนไปหลอมขายเท่าไหร่ก็ไม่หมด จนในที่สุดความแตก ตำรวจต้องตามจับยึดคืน แต่ก็ได้กลับมาแค่เศษเสี้ยวเดียว ภายหลังกรมศิลปากรจึงรีบเข้ามาขุดสำรวจเก็บกู้เครื่องทองที่เหลือ และบูรณะพระปรางค์รวมทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เคยรกชัฏให้กลับมาอยู่ในสภาพที่สะอาดสะอ้านอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

           ภาพวาดแสนพิเศษที่มีทั้งดอกซากุระ และพระปรางค์วัดราชบูรณะชิ้นนี้จึงนับว่าเป็นผลงานที่บ่งบอกถึงประสบการณ์ และตัวตนของ ประกิต หรือ จิตร บัวบุศย์ ได้เป็นอย่างดี ทั้งดวงแข็งปั๋งคลาดแคล้วจากภัยสงครามแบบฉิวเฉียดเหมือนชะตาชีวิตของผู้วาด ทั้งถูกสร้างในสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ซึ่งจิตรเป็นศิลปินไทยผู้บุกเบิกผลงานจิตรกรรมในแนวนี้ อีกทั้งอีกด้านของภาพยังแสดงถึงคุณูปการอีกด้านหนึ่งของจิตร ซึ่งหวงแหนมรดกวัฒนธรรมไทย หันไปมุ่งมั่นสำรวจ ศึกษา เผยแพร่ความรู้ในวิชาการด้านนี้ เพื่อให้คนไทยหันมาภาคภูมิใจในสิ่งที่บรรพบุรุษของเราสร้างสรรค์กันมา

           ประกิต (จิตร) เคยกล่าวไว้ว่า ‘เราต้องรู้เรื่องของศิลปะของไทย เรามีของดีที่ประเทศอื่นไม่มี…การที่ศิลปินไทยคิดอยากจะไปศึกษาต่อยังต่างประเทศที่เป็นต้นแบบของศิลปะอย่างที่ประเทศอิตาลี ผมคิดว่าเรายังไม่ยอมเชื่อว่าประเทศไทยคืออารยธรรมสูงสุด…บทสรุปก็คือคนไทยส่วนหนึ่งไม่เชื่ออารยธรรมของตัวเอง’ 

          การเปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ดี แต่การพากันบ้าเห่อไปจนละทิ้งหรือดูถูกรากเหง้าของตนเองนั้นเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ทุกๆสิ่งหากค้นพบจุดที่ลงตัวก็สามารถผสมผสาน หรือคงอยู่คู่กันไปได้อย่างไม่เคอะเขิน ไม่ต่างอะไรกับ ดอกซากุระ และ พระปรางค์ 

เรื่อง ตัวแน่น
ภาพ ปรัชญ์ ศิริธร

About the Author

Share:
Tags: จิตร บัวบุศย์ / นิตยสารอนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / anurakmagazine / ศิลปะ / ตัวแน่น / ศิลปะสมัยใหม่ / ดอกซากุระ / พระปรางค์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ