Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ บทความแนะนำ

งานศิลปะสุดยูนีคระดับโอลด์มาสเตอร์ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด

โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด รูปทรงสถาปัตยกรรมเป็นแคนคู่และหมอนขวาน สื่อถึงวิถีชีวิตของชาวอีสาน  สถาปนิก โดย บริษัทอินเตอร์ ดีไซน์ จำกัด และ ตกแต่งภายใน โดย บริษัทเบน ชิวาริน แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด

“หากโลกนี้ไร้ซึ่งศิลปะ หัวใจของเราคงเป็นเพียงก้อนดินแตกระแหงก้อนหนึ่ง”

การวัดความศิวิไลซ์ของเมืองไม่ใช่เพียงแค่มีตึกสูง การคมนาคมสะดวก หรือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องมีสิ่งจรรโลงใจที่เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง หนึ่งในนั้นคือ “งานศิลปะ”

งานประติมากรรมพานบายศรี โดย ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง สื่อถึงการรับขวัญแขกที่มาเยือน

๒๗ ปี ที่แล้ว

            ที่จุดศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองขอนแก่น อาคารหลังหนึ่งค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างที่เปิ๊ดสะก๊าดกว่าตึกทรงสี่เหลี่ยมหลังไหนๆ ในจังหวัดขอนแก่น ในยุคสมัยที่โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้ยังไม่กำเนิดขึ้น จากคำร่ำลือปากต่อปากถึงรูปทรงที่แปลกตา ใครต่อใครในเมืองจึงต่างแวะเวียนไปชมดูด้วยความตื่นใจ “โรงแรมแคนคู่” คือชื่อเล่นที่ชาวเมืองกล่าวถึง “โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด”

โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด ก่อตั้งโดย “คุณพนิดา รักสุจริต” เปิดให้บริการในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ เพื่อให้เป็นโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานระดับห้าดาวที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการประชุมที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะปรับเปลี่ยนโฉมใหม่เป็น “โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด” เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยมี “คุณอรวรรณ พัฒนพีระเดช” เป็นผู้กุมบังเหียนคนปัจจุบัน  และเพื่อให้เป็นจุดหมายของกลุ่มผู้ประชุมสัมนาทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน รวมทั้งนักเดินทางจากทั่วโลก  ทางโรงแรมจึงจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้คอยบริการ เพื่อให้ผู้เข้าพักได้รู้สึกสงบและผ่อนคลายราวกับอยู่บนสวรรค์ทีเดียว

แต่…

ทางโรงแรมไม่ได้มีเพียงแค่สิ่งบำรุงบำเรอกายเท่านั้น หากยังมี “ศิลปะ” อันชุบชูใจให้ได้เสพด้วย และไม่ใช่ภาพประดับทั่วๆไป หากแต่เป็นผลงานในชั้นครู (old master) จากศิลปินถึง ๕ ท่าน (อ.ปรีชา เถาทอง  อ.ธนะ เลาหกัยกุล อ.พิษณุ ศุภนิมิตร อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก และอ. นพพงษ์ สัจจวิโส) ติดตั้งถาวรกว่า ๓๐ ชิ้นงานทีเดียว

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่ภายในตัวอาคารจะพบประติมากรรมพานบายศรีขนาดใหญ่ สร้างสรรค์โดย “ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง” สื่อถึงประเพณีการรับขวัญผู้มาเยือน ซึ่งชาวอีสานมีความเชื่อในเรื่อง “ขวัญ” มีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง ในระหว่างการเดินทางอาจมีเหตุให้ตกใจจนขวัญหนีไป

พิธีบายศรีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้กลับมาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติ และไม่ประมาท เป็นการเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับแขกผู้มาพัก

ประติมากรรมพานบายศรีนี้ตัวพานฝังมุกมีลวดลายก้นหอย ที่มาจากลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียง ซึ่งสื่อถึงเรื่องขวัญเช่นกัน ในส่วนที่เป็นชั้นใบตองแทนด้วยวัสดุ นาค เงิน และทอง ตามลำดับ ส่วนยอดกรวยของพานบายศรีนั้นเป็นคริสตัล

บริเวณฐานรองพานเป็นสระน้ำสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคอีสาน ภายในสระมีทั้งหินแกรนิต หินทรายและศิลาแลง ที่มีลวดลายเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สื่อถึงรากฐานของศิลปวัฒนธรรมอีสาน

ตามที่อาจารย์ปรีชา ท่านสนใจปรากฏการณ์ของแสงและเงาในธรรมชาติจนเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างจุดกำเนิดแสง วัตถุทึบแสง และพื้นที่รับแสง ตำแหน่งที่จัดวางงานประติมากรรมพานบายศรีจึงเหมาะเจาะพอดี แสงยามบ่ายส่องผ่านช่องแสงของโรงแรมตกกระทบลงมาที่พานบายศรีเกิดเป็นบรรยากาศอันอบอุ่น และสง่างาม

และเมื่อหันหลังกลับไปมองจะพบแสงสีเหลือง เขียว น้ำเงินและชมพู จากกระจกสีรูปพานบานศรีที่หน้าจั่วของหลังคาที่จอดรถชั่วคราว เสมือนเงาสะท้อนของงานประติมากรรม เป็นความละเอียดประณีตใส่ใจจากบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน

บริเวณโถงห้องประชุมซึ่งติดตั้งงานศิลปะของอ.พิษณุ และอ. อิทธิพล สังเกตโคมไฟบนเพดานได้รับการออกแบบให้เป็นรูปแคน เพื่อให้เข้ากับสถาปัตยกรรมของโรงแรม

จากบริเวณล็อบบี้ เลาจน์ ไม่ไกลกันภายในห้องอาหารพาวิเลี่ยน คาเฟ่ ที่ชั้น ๑ มีกรอบภาพงานประเภทศิลปะสื่อผสม (mixed media art) ประดับอยู่ตามจุดต่างๆ เป็นผลงานของ “ศาสตราจารย์ธนะ เลาหะกัยกูล” ซึ่งนำเส้นโลหะมาสานกับกระดาษเป็นลายขัด ทั้งแบบลาย ๑ และลาย ๒ ร่วมกับภาพภาชนะประเภทจักสาน เช่น สุ่ม หวด เฉลว บางชิ้นงานยังสอดแทรกภาพลวดลายแกะสลักไม้บริเวณฮวงเผิ่ง (รังผึ้ง) ที่เป็นส่วนบังแดดของสิม (โบสถ์) ร่วมอยู่ด้วย เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมการดำรงชีพของชาวอีสานได้อย่างน่าสนใจ

นึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งที่อาจารย์ธนะไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้เปรียบดินแดนเสรีภาพที่ศิลปินต่างพากันไปฝังตัวเพื่อรอโอกาสทองที่นั่นว่าเป็น “หม้อจับฉ่าย” ซึ่งหมายถึง การที่ที่มีคนเก่งมารวมตัวกัน เราต้องหาจุดเด่นของตัวเองแสดงมันออกมาให้คนมองเห็น สหรัฐอเมริกาจึงไม่เพียงเป็นแหล่งสถานศึกษาแต่ยังเคี่ยวกรำความคิดสร้างสสรค์ให้มีความแหลมคมไปด้วยในตัว งานศิลปะเทคนิคสื่อผสมของอาจารย์จึงสะท้อนถึงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวอีสานได้อย่างถึงแก่นโดยไม่ต้องมีองค์ประกอบรุงรังอื่นๆ

งานศิลปะสื่อผสมของอาจารย์ธนะ ยังมีอีกหลายชิ้นกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของโรงแรม แต่การจะหาผลงานของอาจารย์จากลายเซ็นต้องสังเกตให้ดี เพราะท่านเซ็นแตกต่างกันถึง ๓ แบบ การตามหางานของอาจารย์จึงสนุกเหมือนกำลังเล่นเกมส์ล่าขุมทรัพย์อย่างไรอย่างนั้น

จากบริเวณห้องอาหารที่ชั้น ๑ ไปยังด้านหลังเคาท์เตอร์เช็คอิน เรื่อยไปจนถึงบริเวณโถงห้องประชุม ติดตั้งผลงานของ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร” เรียงรายหลายชิ้น หลายขนาด

บริเวณที่นั่งรอลิฟท์ชั้น ๒ ติดตั้งงานภาพพิมพ์จากซ้ายไปขวา  “รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา” “Time หมายเลข ๒” (ชิ้น AP; Artist Proof) และ “Mara Tempted Buddha”

ในแต่ละภาพนั้นบอกเล่าถึงแผ่นดินอีสานทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วยภาพเขียนดินแดงที่พบตามผนังถ้ำ ไปจนถึงยุคอารยธรรมที่มีการใช้เครื่องนุ่งห่ม อาจารย์ได้เลือกใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของเมืองขอนแก่นมาสื่อได้อย่างลงตัว ที่สำคัญถ้าคนรักผ้าไหมมัดหมี่ได้มาเห็นเป็นต้องใจฟู เพราะเทคนิคการมัดลายของผ้าไหมที่อาจารย์นำมาใช้ในงานนั้นก็เป็นฝีมือชั้นครูไม่แพ้กัน

มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ได้ใช้ภาพจารึกอักษรไทน้อยมาร่วมในงานด้วย อักษรไทน้อยน้อยนี้เป็นตัวอักษรที่ชาวอีสานและลาวใช้มาแต่เดิม เนื่องภาคอีสานเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณรจักรล้านช้างโบราณ ก่อนที่จะรับนโยบายจากส่วนกลางให้อักษรไทยเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นอีกชิ้นงานหนึ่งที่อาจารย์ใส่ใจและศึกษาข้อมูลก่อนสร้างงานได้อย่างน่าประทับใจ

รวมถึงการใช้รูปทรงเรขาคณิตอย่างรูปสามเหลี่ยม ที่อดคิดถึงหมอนขวานที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ และถ้าสังเกตจะพบว่าบริเวณขอบชิ้นงานงานของอาจารย์มักจะมีรอยเว้าแหว่ง ราวกับผ่านการกัดกร่อนจากร่องรอยของกาลเวลา เป็นงานศิลปะที่มองเท่าใดก็ไม่มีเบื่อ ดั่งดอกไม้ที่อวลกลิ่นหอมชวนให้เราเข้าไปชมอยู่ตลอดเวลา

บริเวณทางเดินโถงประชุมฝั่งตรงข้ามงานศิลปะของอาจารย์พิษณุ เป็นผลงานของ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก” ติดตั้งเรียงรายจนสุดทางเดิน

งานศิลปะของอาจารย์อิทธิพลเป็นงานศิลปะนามธรรม (abstract) ได้ยินคำว่า “นามธรรม” หลายๆ คนเป็นต้องเบรกจนตัวโก่ง กลัวจะดูไม่รู้เรื่อง แต่ไม่ต้องกังวลไป ศิลปะนามธรรมนั้น เริ่มตรงจุดที่ศิลปะรูปธรรมไม่อาจสื่อสารได้ ดังนั้นผลงานนามธรรมจึงเป็นการแสดงออกของอารมณ์และความรู้สึกจากโลกภายในนั่นเอง

พิจารณาจากเส้นยึกยือที่ขนานกันอย่างเป็นระเบียบ ฟังดูย้อนแย้ง เป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างการแสดงศิลปกรรมเดี่ยว ครั้งที่ ๑ “จิตรกรรมชุดใหม่” และ การแสดงศิลปะกรรมเดี่ยวครั้งที่ ๒ “สีสันแห่งแสง” ดูท่าทางอาจารย์คงกำลังสนุกกับการสร้างงานด้วยเทคนิคนี้มากทีเดียว

เทคนิคที่อาจารย์อิทธิพลใช้นี้เป็นเทคนิคเฉพาะที่ผสมผสานวิธีการทางจิตรกรรมและภาพพิมพ์เข้าด้วยกัน คือ ใช้ทั้งวิธีระบายสีน้ำมันหลายๆ สีบนกระดาษที่มีผิวเรียบและมันวาว แล้วจึงใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งสีเข้มทับลงไปจนดำเรียบทั่วทั้งแผ่น แล้วจากนั้นจึงใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีลักษณะเป็นซี่ๆ คล้ายหวีขูดเอาสีเข้มชั้นบนออกไป ทำให้สีสันต่างๆ ที่อยู่ชั้นล่างปรากฏขึ้นมา

การขูดสีนี้ต้องทำตั้งแต่สียังเปียก จึงต้องมีความ “ฉับพลัน” มือ ตา สมาธิ สี ต้องสัมพันธ์กัน รอยขูดนี้จะเว้นไว้ก็ตรงลวดลายเรขาคณิตที่มักพบในงานหัตถกรรมอีสานอย่าง หน้าตัดทรงสามเหลี่ยมของหมอนขวาน ลายดอกแก้ว ลายเขี้ยวหมา ลายลูกแก้ว ลายหางปลาวา ที่เป็นลายขิดบนผ้าทอพื้นบ้าน เป็นต้น

งานศิลปะนามธรรมของอาจารย์อิทธิพลนั้นมีทั้งเส้นขนานที่ดูยึกยือ ชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้าง สะท้อนให้เห็นถึงกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ นอกจากทางเดินโถงห้องประชุมชั้น ๑ แล้ว ภาพของอาจารย์ยังสามารถพบได้ที่บริเวณที่เคยติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ทางไกล ทางลงชั้นใต้ดิน บริเวณโถงห้องประชุมชั้น ๒ และทางเดินชั้น ๒๐

บริเวณที่นั่งรอลิฟท์บริเวณห้องอาหารจีนลองหยุนซึ่งอยู่ชั้น ๒ มีภาพพิมพ์ของอาจารย์ปรีชา เถาทอง ติดตั้งอยู่  ๓ ภาพ คือ “รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา” “Time หมายเลข ๒” (ชิ้น AP; Artist Proof) และ “Mara Tempted Buddha”

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า อาจารย์พิษณุท่านได้ค้นคว้าทดลองในเรื่องแสงและเงา จนเกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของการเกิดปรากฏการณ์แสงเงา โดยผลงาน “รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา” เป็นผลงานที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่อาจารย์มีโอกาสได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศอิตาลี และประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป จึงมีโอกาสศึกษาบรรยากาศของแสงและเงาบนสถาปัตยกรรมตะวันตก เพื่อเปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรมไทย จากประสบการณ์ที่ค้นคว้า ทำให้เกิดแนวความคิดในเรื่ององค์ประกอบ คือ แสงต้นกำเนิด ตัวกลางทึบแสง และบริเวณที่เกิดเงา เพื่อเน้นความสำคัญของรูปทรงของแสง

ภาพประดับในห้องเดอลักซ์ สวีท แม้จะไม่ปรากฏชื่อเจ้าของผลงาน แต่มีกลิ่นอายพื้นถิ่นอีสานชนิดที่ไม่ต้องอธิบาย

ระยะต่อมาท่านได้เปลี่ยนแง่มุมจากแสงตกกระทบสถาปัตยกรรมภายนอก ให้ลองลอดผ่านเข้ามาในพระอุโบสถบ้าง ตกกระทบพื้นกระเบื้องบ้าง กระจกสีบ้าง จิตรกรรมฝาผนังบ้าง ในระยะเวลากว่า ๒๐ ปี ที่อาจารย์ศึกษาเรื่องแสงเงาผ่านการคิดค้นทดลองด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ จนตกผลึก เกิดเป็นความแหลมคมของฝีมือที่ฝากไว้ในงานศิลปะที่ท่านสร้าง

แม้ว่างานภาพพิมพ์ทั้ง ๓ ภาพ จะไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานอย่างภาพอื่นๆ ที่ติดตั้งภายในโรงแรม แต่ก็นับว่าเป็นการมองการณ์ไกลของคุณพนิดา เพราะการสะสมงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงก็ไม่ต่างกับนักลงทุนที่ถือหุ้นบลูชิพ (Blue chip stock) ไว้ในมือทีเดียว

งานศิลปะที่ติดตั้งภายในโรงแรมไม่ได้มีเพียงแค่ชั้น ๑ และ ชั้น ๒ เท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในห้องพักประเภท สุพีเรียร์ สวีท เดอลักซ์ สวีท เอ็กเซคคูทีฟ สวีท รวมทั้งตามทางเดินบนชั้น ๒๐ และห้องรอยัล สวีท ซึ่งเป็นลักษณะเพนท์เฮ้าส์ บนพื้นที่ชั้น ๒๑ และ ๒๒ ให้ผู้เข้าพักที่รักงานศิลปะได้ฟินยิ่งขึ้นไปอีก

จากเมื่อแรกสร้างโรงแรมที่คุณพนิดาตั้งโจทย์กับบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน เพื่อเฟ้นหาศิลปินที่จะมาสร้างสรรค์งานศิลปะประดับภายในโรงแรมว่า ต้องสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิต ศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน  งานศิลปะที่ติดตั้งภายในโรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จึงเป็นความยูนีคในระดับโอลด์มาสเตอร์ที่หาชมที่ใดไม่ได้แล้ว

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 71 / ราชา ออคิด / ขอนแก่น /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ