Monday, May 20, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

เทวา ฉาย นารายณ์บรรทมสินธุ์

         ถ้าไปถามหนอนหนังสือที่ชื่นชอบศิลปะสมัยใหม่ของไทยว่าหากให้เลือกเก็บหนังสือเกี่ยวกับเรื่องพรรค์นี้ไว้ได้เพียงเล่มเดียวจะเก็บเล่มไหน? เชื่อว่าหลายๆท่านถึงจะรักพี่เสียดายน้องยังไง ก็จะยังคงเลือกหนังสือ ‘ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9’ เป็นที่หนึ่งในดวงใจ ทำไมล่ะ? ก็เพราะหนังสือเล่มนี้รวบรวมภาพชัดๆเน้นๆแบบเต็มหน้าของผลงานศิลปะระดับตำนาน รวมถึงข้อมูลศิลปินไว้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดทำขึ้นมาในบ้านเรา


         ลำดับภาพผลงานในหนังสือศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 นั้นถูกเรียงด้วยปีที่สร้างจากเก่าไปหาใหม่เพื่อไม่ให้หลุดธีม ผลงานที่เก่าที่สุดในเล่มจึงเป็นชิ้นที่สร้างหลัง พ.ศ. 2470 ปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชสมภพเป็นต้นไป และภาพผลงานชิ้นสำคัญภาพแรกๆที่ถูกคัดสรรมาลงในหนังสือคือภาพ ‘นารายณ์บรรทมสินธุ์’ ที่วาดด้วยสีน้ำมันในกรอบรูปวงรีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 โน่น

เทวา ฉาย

นารายณ์บรรทมสินธุ์

         ภาพวาดนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่น่าประทับใจจนต้องพรรณนาถึงเป็นฝีมือของ พระเทวาภินิมมิต ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านเป็นหนึ่งในศิลปินนามอุโฆษชาวสยามที่แสดงฝีไม้ลายมือจนเป็นที่เลื่องลือในวงการศิลปะ และที่สำคัญคือท่านเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยจากในหลวงถึง 5 รัชกาลให้ถวายงานในเรื่องอาร์ทๆ โอกาสที่ยากจะหาใครอื่นมาเปรียบได้ แต่กว่าชาวบ้านธรรมดาจะกลายเป็นศิลปินใหญ่ในราชสำนักนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งหมดทั้งปวงเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ที่บ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา กำนันแสง และนางหมั่น ภรรยา ให้กำเนิดบุตรคนที่ 3 เป็นเด็กชายชื่อว่าศรี นามสกุล เทียนศิลป์ชัย ตั้งแต่ศรีเด็กๆได้ไปบวชเณรอยู่ที่วัดนารายณ์มหาราช และเริ่มเรียนหนังสือหนังหาจากในวัดนี้ ตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้นในสมัยที่ดินแดนสยามยังไม่มีโรงเรียนสอนศิลปะ หากใครสนใจอยากเอาดีทางด้านวาดๆเขียนๆก็ต้องไปอ้อนวอนฝากเนื้อฝากตัวกับยอดฝีมือให้เขากรุณาถ่ายทอดเคล็ดวิชาให้แบบในหนังจีนกำลังภายใน สมัยนั้นมีพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญงานช่างโดยเฉพาะการเขียนภาพไทย และลายไทยชื่อว่าบุญถึง เณรศรีซึ่งมีใจรักศิลปะอยู่แล้วจึงขอไปเป็นศิษย์ พระอาจารย์บุญถึงนั้นเป็นสายโหด เจ้าระเบียบ ฝึกดุฝึกหนัก ศิษย์มากมายมักเตลิดเปิดเปิงหนีไปก่อนพระอาจารย์จะถ่ายทอดวิชาให้หมด ต่างกับเณรศรีซึ่งขยันจัด สั่งสิบทำร้อย สั่งร้อยทำพัน ทั้งทัศนคติ และฝีมือเป็นที่ถูกอกถูกใจพระอาจารย์มาก

         เมื่อศรีเติบโตเป็นหนุ่มอายุ 20 กว่าๆก็ลาสิกขาจากผ้าเหลือง พระอาจารย์บุญถึงยังคงเป็นป๋าดันต่อ เมื่อเห็นผลงานการเขียนลายรดน้ำของศรีที่ไม่เป็นสองรองใคร จึงแนะให้เดินทางเข้าบางกอกเพื่อไปถวายตัวกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ ผู้กำกับกองช่างเขียนเฉพาะพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพรสวรรค์แบบโอเวอร์ควอลิฟายศรีจึงมีโอกาสเข้าไปอยู่ในรั้วในวัง โดยแรกๆมีสตูดิโออยู่ชั้นล่างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พอนานเข้างานชักชุกทีมชักใหญ่จึงต้องย้ายกันออกไปอยู่ที่วังของกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ บนถนนตะนาวแทนแต่ก็ยังเรียกแผนกนี้ว่า ‘กรมช่างข้างใน’ เหมือนเดิม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดการจัดระบบใหม่กองช่างข้างในเดิมถูกยุบไปรวมอยู่ภายใต้กรมศิลปากร เหล่าช่างเขียนน้อยใหญ่เลยต้องย้ายออฟฟิศไปอยู่ในที่ว่าการกรม ณ ตึกดิน ถนนดินสอ
 
          ศรีเริ่มต้นจากมหาดเล็กไม่มีบรรดาศักดิ์ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 ทำความดีความชอบเป็นที่โปรดปราน กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจจึงทรงพระราชทานกระจกล้ำค่าบานเบ้อเริ่มเทิ่มให้ 1 บาน และทรงเปลี่ยนชื่อจาก ‘ศรี’ เป็น ‘ฉาย’ ตามความหมายของกระจก ฉายได้เลื่อนขั้นเป็น ขุนนิมิตรเลขา ก่อนจะได้เป็น หลวงนิมิตเลขาในสมัยรัชกาลที่ 6 และมีบรรดาศักดิ์เป็น พระเทวาภินิมมิต ในสมัยรัชกาลที่ 7

พระเทวาภินิมมิต

          ศิลปินชาวสยามชื่อชั้นระดับชาติในยุคเก่าๆ เวลาจะสร้างผลงานศิลปะชิ้นสำคัญๆขึ้นมา มักจะเกิดจากแรงบันดาลใจ และเป้าประสงค์อันยิ่งใหญ่ เช่น วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ขึ้นมาเพื่อเป็นพุทธบูชา หรือสร้างสรรค์ศิลปะวัตถุอันล้ำค่าวิจิตรบรรจงถวายเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ทรงให้การอุปถัมภ์ เพราะไม่ได้มุ่งทำงานเน้นสนองความต้องการของตนเอง ศิลปินทั้งหลายเหล่านั้นจึงมักไม่ลงชื่อไว้บนผลงาน ถ้าไม่มีใครบอกเล่าต่อๆกันมา หรือไม่มีเขียนจดไว้ที่ไหน ก็ยากที่จะสืบค้นว่าผลงานศิลปะชิ้นไหนเป็นฝีมือใคร พระเทวาภินิมิตรนี่ก็เช่นเดียวกัน ท่านรับราชการมายาวนานผ่านหลายยุคหลายรัชกาล ผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยตัวท่านเองคงต้องมีมากมาย แต่เท่าที่สืบค้นมาได้มีเพียงบันทึกเกี่ยวงานใหญ่ๆที่สำคัญๆอาธิเช่น
 
-เขียนตราพระราชลัญจกร ประจำพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตราที่ว่านี้คือตราสำหรับพระมหากษัตริย์ สัญลักษณ์ของพระประมุขแห่งประเทศ
 
-เขียนรูปแม่พระธรณีบีบมวยผม เพื่อเป็นแบบให้ประติมากรปั้นหล่อ และนำไปประดิษฐานไว้บริเวณใกล้ๆสะพานผ่านพิภพลีลา
 
-เป็นแม่กองตระเตรียมงานพระบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
 
-เขียนตราพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ 7 เป็นพระปรมาภิไธยรูปอักษรย่อ ป.ป.ร. ไขว้
 
-ออกแบบและควบคุมการสร้างพระแสงดาบญี่ปุ่นลงยาฝังเพชร หนึ่งในพระแสงประจำพระองค์ของพระมหากษัตริย์
 
 -เป็นแม่กองวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว เมื่อครั้งที่มีการปฏิสังขรณ์ใหญ่ในปี พ.ศ. 2475 พระเทวาภินิมมิตเป็นผู้วาดกำแพงระเบียงช่องที่ 1 เป็นภาพพระชนกฤาษีทำพิธีบวงสรวง ไถดินพบนางสีดาอยู่ในผอบ
 
-สร้างพัดหลวง สำหรับงานเฉลอมฉลองกรุงเทพฯ ครบ 150 ปี
 
-เขียนแบบพระเมรุมาศ รัชกาลที่ 7
 
-เขียนตราพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ 8
 
-ออกแบบอนุสาวรีย์ ท้าวสุรนารี ร่วมกับ อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี เพื่อนำไปประดิษฐานที่หน้าประตูชุมพล จังหวัดนครราชสีมา

      ในด้านการศึกษาพระเทวาภินิมมิต ช่วงหนึ่งท่านยังเคยเป็นพระอาจารย์ทูลเกล้าฯถวายการสอนเขียนภาพลายไทยในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และยังรวบรวมและเขียนสมุดตำราลายไทยขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าในทางศิลปะของชาติที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลเอาไว้ ในขณะเดียวก็ยังรับหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสอนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ซึ่งที่นี่พระเทวาภินิมมิตได้ออกแบบ พระวิษณุกรรม เทพศักดิ์สิทธิ์สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนไว้ให้ด้วย
 
          ที่รวบรวมมาได้เป็นเพียงโพรไฟล์งานแค่บางส่วน เห็นเผินๆยังปังขนาดนี้ สรุปได้เลยว่าถ้าเรื่องลายไทยคงต้องยกให้พระเทวาภินิมมิตเป็นมือวางอันดับต้นๆของบ้านเรา ความเจ๋งของท่านก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น พระเทวาภินิมมิตท่านเป็นศิลปินที่เปิดรับสิ่งใหม่ๆและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาผลงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันจะๆเลยจะขอย้อนกลับไปยังภาพวาดนารายณ์บรรทมสินธุ์ในหนังสือที่เล่าค้างเอาไว้ หากมองภาพนี้เผินๆเนื้อหาอาจจะดูโบร่ำโบราณแต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียด จะเห็นได้ว่าศิลปินเข้าใจและประยุกต์ใช้ หลักอนาโตมี่ หลักทัศนมิติ ปริมาตร แสงเงา วิทยาการด้านศิลปะจากโลกตะวันตกที่ถาโถมเข้ามายังดินแดนสยามในยุคนั้นผลออกมาจึงกลายเป็นส่วนผสมที่แปลกใหม่ ทว่าลงตัวดูเนียนตาอย่างน่าอัศจรรย์
 
          ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้ยังมีเรื่องละอันพันละน้อยที่พอจะฟื้นฝอยได้อีก เนื้อหาของภาพประกอบไปด้วยพระนารายณ์ กำลังบรรทม มีพระพรหมผุดขึ้นมากลางพระนาภี (สะดือ) และเคียงข้างด้วยชายาคือ พระแม่ลักษมี ทั้งหมดประทับอยู่บนหลังอนันตนาคราช ท่ามกลางเกษียรสมุทร(ทะเลนม) ตัวละคร ฉากเฉิกมากันครบขนาดนี้ดูยังไงก็เป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ในหนังสือศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ดันไปเขียนชื่อภาพนี้ว่า ‘นาวาฉาย’ ถ้านาวาแปลว่าเรือ และ ฉายแปลว่าส่องนาวาฉายก็ฟังดูเหมาะจะใช้เป็นชื่อเพราะๆของเรือส่องปลาหมึกซะมากกว่า เหตุที่ภาพนี้ถูกตั้งชื่ออย่างที่ว่าเพราะบริเวณมุมล่างขวาของภาพมีลายมือเขียนว่า ‘เทวา ฉาย 1/10/77’ ซึ่ง ‘เทวา’ นั้นย่อมาจาก ‘เทวาภินิมมิต’ ส่วน ‘ฉาย’ ก็คือ ‘ฉาย เทียมศิลป์ชัย’ ชื่อที่ท่านเปลี่ยนมาใช้ตอนสมัยที่อยู่กับกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ และ 1/10/77 ก็คือวันที่วาดเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2477 แต่คำว่า ‘เทวา’ นั้นเขียนติดกันแบบลายเซ็นถ้าอ่านผ่านๆจะอ่านว่า ‘นาวา’ ก็ได้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

         พอรู้เป็นมั่นเป็นเหมาะแล้วว่าใครวาด คำถามต่อไปคือภาพนี้วาดขึ้นมาเพื่ออะไร เรื่องนี้ยากที่จะฟันธงแต่ถ้าจะให้เดา คงต้องนึกไปถึงผู้บริโภคที่มีดีมานด์สูงที่สุดในยุคนั้นของภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ก่อน ซึ่งก็น่าจะหนีไม่พ้น พระยาอนิรุทธเทวา และครอบครัว เจ้าของบ้านนารายณ์บรรทมสินธุ์ โดยบ้านพระราชทานอันใหญ่โตโอ่อ่าหลังนี้ถูกตกแต่งด้วยผลงานศิลปะทั้งรูปปั้น และภาพวาดนารายณ์บรรทมสินธุ์ตามชื่อบ้านไว้โดยรอบ และทุกชิ้นก็ถูกสรรค์สร้างโดยศิลปินใหญ่ระดับชาติ ทั้งอายุ ทั้งเนื้อหา ทั้งชื่อชั้นศิลปิน ของภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้เลยดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนจะเข้าสเปคยังไงไม่รู้

         แต่ที่รู้แน่ๆคือภาพนารายณ์บรรทมศิลป์ถูกเปลี่ยนมือต่อๆมายังนักสะสมศิลปะรุ่นบุกเบิก โดยท่านได้มาจากเจ้าของเดิมจากการเอาเขี้ยวเสือแกะของหลวงพ่อองค์ดังไปแลก และนำมาใส่กรอบที่ออกแบบสั่งทำเป็นพิเศษแขวนไว้จนอยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัคคีภัยไม่คาดฝัน ผลงานศิลปะล้ำค่าหลายชิ้นสูญสลายไปในกองเพลิง โชคยังดีที่ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ซึ่งคงขลังไม่น้อยกว่าเขี้ยวเสือแกะ รอดมาได้ครบ 32 อย่างหวุดหวิด
 
          หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานเกือบศตวรรษ วันนี้พระนารายณ์ยังคงหลับใหล พระแม่ลักษมียังพัดโบกต่อไป เป็นประจักษ์พยานให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจว่าศิลปะสมัยใหม่ของไทยก็มีหัวนอนปลายเท้านะ ให้เราได้ระลึกถึงอดีต เข้าใจปัจจุบัน และสรรค์สร้างอนาคตได้อย่างผู้มีสกุลรุนชาติ
 

เรื่อง+ภาพ ตัวแน่น

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / anurakmagazine / ศิลปะ / art /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ