Tuesday, May 21, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ตามรอยคำสอนของพ่อ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 20
เรื่อง: นภัส
ภาพ: ศูนย์สารสนเทศ สำานักราชเลขาธิการ

ตามรอยคำสอน
ของพ่อ


“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นเหมือนคำมั่นสัญญาว่าพระองค์จะทรงปกครองประเทศโดยทศพิธราชธรรม และดูแลพสกนิกรของพระองค์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

นับจากวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงงานหนักตามคำามั่นสัญญา โดยเสด็จเยี่ยมราษฎรทุกจังหวัดด้วยพระองค์เอง เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวบ้านและแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของราษฎรในแต่ละพื้นที่ จนก่อเกิดเป็นโครงการพระราชดำาริมากมาย จึงอาจกล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ผ่านมา พระองค์ทรงทำาสงครามกับปัญหาความยากจนอย่างไม่ย่อท้อ จนสามารถพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกรให้ลืมตาอ้าปากได้สำาเร็จ นอกจากนี้ยังทรงปลูกฝังพสกนิกรของพระองค์ให้ดำารงตนอยู่ใน

ทางสายกลาง ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเพื่อความสุขที่ยั่งยืน โดยทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่สมถะเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ วันนี้ แม้ ‘พ่อ’ เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่สิ่งที่พระองค์ทิ้งไว้ให้พวกเราทุกคนคือ ‘คำาสอนของพ่อ’ ดังพระราชดำารัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานไว้ให้แก่คณะบุคคลในวาระต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นเครื่องเตือนใจและเตือนสติให้ทุกคนดำารงตนอยู่บนความพอดี ดังนั้น
สิ่งเดียวที่พวกเราทุกคนจะตอบแทนคุณพระองค์ได้คือ น้อมนำาเอาคำาสอนของพ่อมาปฏิบัติให้เหมือนกับพ่อยังอยู่กับเราตลอดไป…


เรื่องการทำความดี

“…การทำความดีนั้น แม้จะไม่มีใครรู้เห็น แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ผลดีที่เกิดขึ้นยิ่งเพิ่มพูนและแผ่ขยายกว้างออกไป เป็นประโยชน์ เป็นความเจริญมั่นคงที่แท้ แก่ตน แก่ส่วนรวมตลอดถึงชาติบ้านเมือง พร้อมทุกส่วน ข้าราชการทุกคนจึงต้องตั้งใจให้หนักแน่นเที่ยงตรงที่จะกระทำความดี ทั้งในการประพฤติตน และการปฏิบัติงานด้วยความอุตสาหะเสียสละโดยไม่หวั่นไหวย่อท้อต่ออุปสรรคปัญหา หรือความลำบากเหนื่อยยาก…”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓


ข้อปฏิบัติในการประพฤติตนให้เป็นคนดี

“…ผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณา หมายถึงการที่จะมีจิตใจเห็นใจผู้อื่น มีจิตใจที่จะเห็นถึงความเดือดร้อนเราจะต้องช่วยเหลือ จิตใจนี้ก็เป็นจิตใจที่มีกำลังมาก ทั้งอ่อนโยนมาก จิตใจนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้งานการทุกอย่างก้าวหน้าได้ เพราะว่า ถ้าคนที่มีเมตตากรุณาในใจและเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นหมายความว่าผู้นั้นเป็นคนฉลาด หมายความว่าคนนั้นเป็นคนที่อ่อนโยน ที่เห็นอะไรๆ ได้ชัดเมื่อคนเรามีความอ่อนโยนและมีความละเอียดอ่อน และเห็นอะไรได้ชัดก็ย่อมจะทำงานของตน ที่กำลังทำด้วยความก้าวหน้านั้นสำเร็จลุล่วงไปได้…”

พระราชดำรัส ในโอกาสที่สมาคมพ่อค้าทราย เฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ
ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๔

“…ความกตัญญูกตเวทีคือสภาพจิตที่รับรู้ความดี และยินดีที่จะกระทำความดีโดยศรัทธามั่นใจคนมีกตัญญูจึงไม่ลบล้างทำลายความดี และไม่ลบหลู่ผู้ที่ได้ทำความดีมาก่อนหากเพียรพยายามรักษาความดีทั้งปวงไว้ให้เป็นพื้นฐานในความประพฤติปฏิบัติทุกอย่างของตนเองเมื่อเต็มใจและจงใจกระทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความดีดังนี้ ก็ย่อมมีความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งสำหรับนักพัฒนา และผู้ปรารถนาความเจริญก้าวหน้าทุกคน…”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะกรรมการวันกตัญญูกตเวที สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย
เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกวันกตัญญูกตเวที และเชิญออกเผยแพร่แก่ประชาชนเป็นแนวทางปฏิบัติ
วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๒๖


เรื่องการทำงาน

“…เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา
วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐

“…ระเบียบในการทำงานนี้จำเป็นต้องมี คือ มีวินัยนั่นเอง ถ้าไม่มีวินัย ทำอะไรก็จะเปะปะไปหมดแม้ในห้องเรียนจะไม่ได้สอนว่า วิชานี้ๆ ต้องมีวินัย แต่ทุกวิชาต้องมีวินัย แม้จะไปสังสรรค์กันไปเล่นกีฬากัน ไปพัฒนาชนบทก็ตาม ต้องมีวินัยทั้งนั้น ถ้าไม่มีวินัย งานนั้นมีหวังล้มเหลวหรือยิ่งกว่านั้น งานนั้นอาจจะมีหวังทำลายส่วนรวมก็ได้ถ้าไม่มีวินัย ขาดความรู้หน่อยอาจจะยังดีดีกว่าขาดวินัย แต่ถ้ามีทั้งความรู้และวินัยก็ยิ่งดี…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักศึกษาปัจจุบันของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ณ สโมสรอาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๒


เรื่องความสามัคคี

“…คราวใดที่ชาวไทยมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อประเทศชาติแล้วชาติก็ได้รอดพ้นจากภัยพิบัติสู่ความสุขความเจริญ แต่คราวใดที่ขาดความสามัคคีกลมเกลียวกันก็ต้องประสบเคราะห์กรรมกันทั้งชาติ จึงเป็นหน้าที่ของเราทั้งหลายที่จะต้องร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด…”

พระบรมราโชวาท ในพิธีสวนสนามทหารรักษาพระองค์ ณ ลานพระราชวังดุสิต
วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

เรื่องความพอเพียง

“…เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดินเปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็มแต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป…”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙


เรื่องกีฬา-ดนตรี-ศิลปะ

“…การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ…”

พระราชดำรัส ในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๑
วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๑๕


เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“…ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคลซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชาการ เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว…”

พระราชดำรัส ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙

เรื่องประเทศชาติและความมั่นคง

“…ประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลกแต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้วเราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริงๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกในข้อนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลกจะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก ถ้าเรามีความสงบ แล้วมีความสบายความมั่นคงที่สุดในโลกนั้น รู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้…

พระราชดำรัส ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
นำคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนักเรียนทุนพระราชทาน เข้าเฝ้าฯ
ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๓๙

About the Author

Share:
Tags: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว / พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ / ฉบับที่ 20 / พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ