Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต

ความจริงของปราสาทเขาพระวิหาร

บนทับหลังและหน้าบันเหนือศาลาโถงจำหลักเป็นเรื่องราวของเทพในศาสนาพราหมณ์ฮินดู งดงามด้วยรายละเอียด

แม้ผ่านกาลเวลาอันเนิ่นนานนับพันปีจนอยู่ในสภาพปรักหักพัง ยอดปราสาทประธานถล่มทลายลงมากองเป็นพะเนินหินระเกะระกะ แต่บรรยากาศรอบข้างเหนือความสูงสุดปลายหน้าผา ยังคงทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความสูงส่งและเข้มขลัง

         จากสะพานนาค บันไดเริ่มชันขึ้นสู่โคปุระชั้นที่ 1 อันเป็นศาลาจตุรมุข ไม่มีผนังกั้น ผังรูปทรงกากบาท มีทางเดินปูด้วยหินทรายกว้างประมาณ 11 เมตร ระยะทาง 275 เมตร สองข้างปักเสานางเรียงศิลาทรายข้างละ 70 ต้น ริมทางห่างออกไป 12 เมตรเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างประมาณ 17 เมตร ยาว 38 เมตร เรียกว่า ‘สระสรง’ ใช้สำหรับเป็นที่ชำระร่างกายก่อนทำพิธีทางศาสนา

         โคปุระชั้นที่ 2 เป็นศาลาจตุรมุข บนทับหลังและหน้าบันศิลาจำหลักมีลวดลายเรื่องราวในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เช่น การกวนเกษียร-สมุทร อย่างละเอียดลออสวยงาม บนทางเดินไปสู่ชั้นที่ 3 ยังมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กึ่งกลางสระปรากฏรูปจำหลักหัวสิงห์มีช่องให้น้ำไหลบริเวณปากสิงห์ เรียกกันว่า ‘สระหัวสิงห์’

         จากลักษณะของสิ่งก่อสร้าง ชั้นที่ 1และ 2 นี้ นักโบราณคดีคาดว่าเป็นสถานที่สำหรับพักชำระล้างร่างกายและจิตใจ ทำสมาธิ บูชาพระผู้เป็นเจ้าของกษัตริย์ขอมโบราณ ก่อนเสด็จเข้าพำนักในมหามณเฑียร เพื่อเตรียมการประกอบพิธีกรรมสำคัญในเทวาลัยชั้นบนสุด

         พระมหามณเฑียร คือสิ่งก่อสร้างที่อยู่บนลานหินชั้นที่ 3 ถัดขึ้นมา โบราณสถานบนชั้นนี้มีอาณาบริเวณกว้างขวาง แม้ลักษณะทรวดทรงลวดลายคล้ายกับโคปุระชั้น 1 และ 2 ที่ผ่านมา แต่แตกต่างออกไปตรงที่เป็นอาคารมีผนังล้อมรอบทุกด้าน และมีขนาดใหญ่โตชนิดผิดหูผิดตา แถมยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าอีกด้วย ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ 5 หลังเรียงรายกัน เรียกกันว่ามณเฑียรกลางซึ่งมีขนาดใหญ่ทีสุ่ด เป็นอาคารรูปกากบาทตระหง่านอยู่กึ่งกลาง ขนาบซ้ายขวาด้วยมณเฑียรขวาง นักโบราณคดีเชื่อว่า บริเวณมหามณเฑียรนี้คือที่ประทับของกษัตริย์ระหว่างประกอบพิธีกรรม

         ชั้นสุดท้ายปลายหน้าผาสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร คือมหาปราสาท บนลานหินชั้นที่ 4 ประกอบด้วย โคปุระ คือซ้มุ ประตูระเบียงคดคือแนวทางเดินที่ล้อมรอบ และบรรณาลัย สถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนาซึ่งทั้งหมดนี้รายล้อมอยู่โดยรอบ ‘ภวาลัย’ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งปราปราสาทหินขนาดใหญ่อันจำลองรูปแบบของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาลมา มีชื่อว่า ‘ศรีศิขเรศวร’ หมายถึงเทวาลัยแห่งพระอิศวรผู้เป็นใหญ่แห่งขุนเขา ประดิษฐานศิวลึงค์เครื่องหมายแทนองค์พระอิศวรผู้ยิ่งใหญ่ และเทวรูปของเทพองค์อื่นๆในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

         แม้ผ่านกาลเวลาอันเนิ่นนานนับพันปีจนอยู่ในสภาพปรักหักพัง ยอดปราสาทประธานถล่มทลายลงมากองเป็นพะเนินหินระเกะระกะแต่บรรยากาศรอบข้างเหนือความสูงสุดปลายหน้าผา ยังคงทำให้ผมรู้สึกได้ถึงความสูงส่งและเข้มขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยามที่เมฆหมอกขาวโพลนเคลื่อนเข้าปกคลุมทั่วอาณาบริเวณปราสาทจนเห็นเพียงเงาตะคุ่มเลือนราง ประดุจดังยืนอยู่บนสรวงสวรรค์อันไร้ซึ่งขอบเขต ไร้ซึ่งเส้นพรมแดนอันเป็นสิ่งสมมติมาขีดคั่น

         และขณะนั้นผมได้สัมผัสถึง ‘ความจริง’ อีกประการ

         ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกของโลกและมรดกของมวลมนษุยชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตของประเทศไหนก็ตาม

About the Author

Share:
Tags: ปราสาทเขาพระวิหาร /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ