Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต

ความจริงของปราสาทเขาพระวิหาร

สิงห์จำหลักศิลาตระหง่านบนชั้นตะพักบันได ทางขึ้นสู่ปราสาท

         ทางฝ่ายไทยโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลก พร้อมประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่าไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านคำพิพากษา ซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส แต่ก็ยอมปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกในสหประชาชาติ และขอตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ และพึงได้ ที่จะครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคต ตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย

         หลายสิบปีหลังจากนั้น เรื่องปราสาทเขาพระวิหารก็เงียบหายไป ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศของกัมพูชาเอง

ความจริงที่ปรากฏในสายตา

         ปราสาทเขาพระวิหารมาเปิดตัวออกสู่สายตาสาธารณชาวโลกอีกครั้งในปี พ.ศ. 2541 จำได้ดีถึงภาพคลื่นของนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลไปเที่ยวชมครับ เพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในจำนวนอันมากมายของคนที่เลื่อนไหลไปบนทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่ทางด้านหน้าของปราสาท ซึ่งแบ่งเป็นบันไดหิน 2 ช่วง แต่ละช่วง

         มีลานตะพักประดับด้วยประติมากรรมสิงห์สลักหินสองฟาก ลดหลั่นขึ้นไปตามลาดไหล่เขา ช่วงแรกบันได 162 ขั้น ขนาดกว้าง 8 เมตร ระยะทาง 700 เมตร ช่วงที่ 2 มีบันได 54 ขั้น กว้าง 4 เมตร ระยะทางยาว 27 เมตร ถือเป็นทางเดินที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ แต่ดูเหมือนยังไม่กว้างพอสำหรับผู้คนจำนวนมากที่อยากสัมผัสกับความงามของตัวปราสาทที่อยู่เบื้องบน

         ถัดขึ้นไปอีกชั้นเป็นสะพานนาคอันเป็นทางเดินปูด้วยแผ่นหินเรียบ ขนาดความกว้าง 7 เมตร ทอดตัวยาวขึ้นไปประมาณ 32 เมตรสองข้างเป็นราวสะพานที่ประดับด้วยนาคราชเจ็ดเศียรแผ่พังพาน ศิลปะขอมแบบบาปวนลักษณะเด่นคือ ที่บนเศียรนาคยังไม่มีการแกะเป็นลวดลายรัศมีประดับ มีลักษณะคล้ายๆ งูตามธรรมชาติ ภาษาช่างเรียกว่า ‘นาคหัวโล้น’ ในภาษาเขมรเรียกกันว่า ‘งูซวง’

About the Author

Share:
Tags: ปราสาทเขาพระวิหาร /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ