Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

บทเพลงแห่ง กี่ทอ

          จุดเด่นของศูนย์เรียนรู้ผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเดาอยู่ที่การบริหารจัดการที่เริ่มต้นที่พื้นฐานของครอบครัว และขยายไปยังชุมชนใกล้เคียง สมาชิกจึงมีทั้งเด็ก วัยกลางคน และกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีภูมิปัญญาพื้นถิ่นและทักษะต่างๆ ในการทอผ้าที่สืบสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น การปลูกฝ้าย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์พื้นเมือง อย่างพันธุ์แก่นแป พันธุ์ขี้แมว พันธุ์น้อย และพันธุ์ตุ่น โดยสอนให้เรียนรู้ตั้งแต่การรู้จักคุณสมบัติของฝ้ายแต่ละชนิด การเตรียมการปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากนั้นก็เป็นการเรียนรู้กระบวนการปั่นฝ้าย ที่เริ่มตั้งแต่การอัดฝ้ายการตีฟู การทำหางไหล และการปั่นเป็นเส้นที่มีขนาดต่างๆ กัน

การปั่นฝ้ายด้วยมือแบบโบราณ

          ส่วนกระบวนการย้อมสีธรรมชาติมีคุณลุงผล แก้วมา เป็นผู้คิดค้นและทดลองสีธรรมชาติใหม่ เช่น การย้อมสีมะเกลือไม้พื้นถิ่น และคราม ที่ให้สีแตกต่างกันอย่างน่าตื่นเต้น นอกจากนี้กระบวนการย้อมสียังเป็นกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมและการจัดระบบนิเวศอีกด้วย จากนั้นก็เป็นเรื่องของการขึ้นลายทอ การออกแบบลวดลาย ขึ้นเครือ สืบหูก ทดลองทอผ้าด้วยกี่พื้นบ้านและกี่กระตุก ขณะเดียวกันศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ก็ผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับการทอผ้าและงานวิจัยสิ่งทอเข้าไว้ด้วยกัน

การขึงเส้นด้ายยืน ขั้นตอนที่ยากที่สุดของตูบแก้วมา

         “วันนี้จะเรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง ป้าก็ไม่รู้แต่เราก็เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและคนต่างชาติ นึกย้อนไปอุปสรรคก็มีมาก อย่างตอนที่เขามาฝึกอบรมจากคนเป็นร้อยเหลือป้าคนเดียวก็หาเพื่อนคิดไม่ได้ แต่เราก็ทำมาเรื่อยๆ คนเดียวก็ทำ บางทีเรามีลูกค้ามาก ทำงานไม่ทัน ก็ชวนคนนั้นคนนี้มาช่วย พอเราสอนให้ทอเป็นแล้ว เขาก็แยกออกไปทำกลุ่มใหม่ เอาลูกค้าไปด้วยก็มี ป้าก็ทำไปเรื่อยๆ แต่ลูกค้าบางรายก็กลับมาหา ก็เสียใจนะที่สอนให้พอเป็นก็หันหลังให้เราเลย ขอบคุณสักคำก็ไม่มีแถมยังมาว่าอีก บางทีเหนื่อยใจ แต่ก็ไม่เป็นไร ทำต่อ

การล้างสีหลังย้อมคราม ทำอย่างมีระบบและรักษาสิ่งแวดล้อม

          ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ คนไทยมีบ้างแต่ไม่มากป้าคิดว่าที่เขารู้จักเราคงมาจากการออกร้านในงานต่างๆ ที่กรุงเทพฯ บ้าง ที่ต่างๆ ที่รัฐจัดให้เราไปแสดงงานบ้างตอนนี้ที่นี่เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ป้าก็ถ่ายทอดวิชาให้กับลูกหลานที่เขาสนใจ ไปสอนที่อื่นด้วย แล้วแต่ที่เขาเชิญมา ที่วัดก็มีบางครั้งมีโครงการของ กศน. หรือโครงการทอผ้าอื่นๆ อยากให้ป้าไปสอนก็ไป บางบ้านเขาคิดลายไม่ถูกขึ้นลายไม่เป็นเราก็สอนบางบ้านอุตสาหกรรมมา สอนอย่างไหนก็อยู่อย่างนั้น เราต้องมาพลิกแพลง ทดลอง ก็จะได้ลายใหม่ๆ หาเอกลักษณ์ของเราเราต้องไม่เหมือนใคร”

          วันนี้บทเพลงแห่งกี่ทอผ้ายังคงขับขาน แม้จะไม่ดังกึกก้องทั่วถิ่นอย่างแต่ก่อนแต่เสียงของกี่ทอก็ยังคงดังเป็นจังหวะซํ้าๆที่หนักแน่นและมั่นคง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชนบทวัฒนธรรมของฝ้ายทอมือ และภูมิปัญญาผู้เฒ่าผู้แก่พื้นถิ่นผ้าฝ้ายทอมือจึงเป็นมากกว่าผ้า ทุกเส้นใยต่างก็มีเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อเนื่องมาเกือบสองศตวรรษ และแน่นอนเราเรียกเรื่องราวเหล่านี้ว่าเสนห์แห่งผ้าฝ้ายทอมือ ที่ใครได้เห็นได้เป็นเจ้าของก็เป็นอันต้องหลงรักทุกคน


ศูนย์เรียนรู้ผ้าฝ้ายปั่นมือย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเดา (ตูบแก้วมา)

ที่ตั้งเลขที่ ๑๙๘ หมู่ที่ ๖ ตำบลเสริมซ้าย อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง

About the Author

Share:
Tags: ลำปาง / ฉบับที่ 6 / กี่ทอ / ทอผ้า / บ้านนาเดา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ