Friday, May 17, 2024
สัมภาษณ์

ชุมชนลีเล็ด สุราษฎร์ธานี

ความผูกพันธ์ระหว่าง คน ป่าชายเลน สายน้ำ และความมั่นคงทางอาหาร

กินเที่ยวพักแบบชาวอนุรักษ์ เรื่อง/ภาพ ธนิสร หลักชัย นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 41 2563

ชื่อของตำบล ลีเล็ด อำเภอ พุนพิน จังหวัดสุราาฎร์ธานี ปรากฎเป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จจากการร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ สามารถพลิกฟื้นสภาพป่าชายเลนให้กลับคืน อันเป็นผลพวงจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านในชุมชนหยิบชูวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น นักท่องเที่ยวได้แลกเปลี่ยนความรู้ และภูมิปัญญา

ต้นโพธ์หน้าอุโบสถวัดบางใหญ่ ริมคลองพุนพินกําลังแตกใบอ่อนรับแดด ยามเช้า หุ่นเหล็กที่มีชาวบ้านนํามาถวาย กลายเป็นแลนด์มาร์กให้คนเข้ามาถ่ายภาพ เขื่อนริมน้ําซึ่งสร้างเสร็จได้ไม่นานเพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง เป็นมุมพักผ่อนของผู้คนในละแวกน้ัน ภายในบริเวณวัด ยังใช้สถานที่สําหรับทํากิจกรรมของกลุ่ม “ท่องเที่ยวโดยชุมชนลีเล็ด – CBT Leeled ที่มีชาวบ้านหลายครัวเรือนเป็นสมาชิก

พี่อํา-อําภวรรณ เทพพิพิธ เล่าให้ฟังว่า คลองพุนพินแยกมาจากแม่นํ้าตาปี บริเวณใกล้ๆกับสะพานจลุจอมเกล้าในตัว อําเภอพุนพิน ไหลมาออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน เป็นเส้นทางสัญจรสายหลักทางเดียว เพื่อเข้าไปยังตัวอำเภอในสมัยก่อน วิถิชีวีตของชาวบ้านจึงคุ้นชินและผูกพันกับสายน้ำเป็นอย่างดี แต่เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเด้กๆซึ่งจะเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา เพราะต้องนั่งเรือไปกลับวันละหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่ไปพักอาศัยกับญาติ หากเป็นผู้ชายพ่อแม่มักพาไปฝากกับสมภารเจ้าวัด เด็กผู้ชายในยุคก่อนๆที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มักจะมีพื้นฐานจากการเป็นเด็กวัดมาก่อน

คนที่สละสิทธิ์ เรื่องเรียนต่อ จึงเลือกประกอบอาชีพทำสวนมะพร้าว สวนปาล์ม ทำประมงอยู่ภายในหมู่บ้าน ผู้หญิงต้องอยู่เหย้าเฝ้าเรือนตามสภาพสังคม ณ เวลานั้น ต้องเรียนรู้งานบ้านงานเรือน รวมทั้งงานฝีมือ อย่างการ สานตับ

เชือกต้นคล้า ใบจากทำตับมุงหลังคา หมากตากแห้ง

ป้าบุญเถือง คงสงค์ วัย 77 ปี บอกเทคนิคว่าต้องเลือกทางจากที่อายุกำลังเหมาะ ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ชาวลีเล็ดใช้ตับจากมุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ทำคอกเป็ดคอกไก่ รวมทั้งทำส่งขาย แม้อายุใช้งานจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 2 ปี

ป้า จำเนียร ศิวายพราหมณ์ เชี่บวชาญการสาน เสวียนหม้อ หรือ เตียวหม้อ

ต้นจากต้นหนึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน ผลใช้ทำขนมของหวาน ใบห่อขนม ใบอ่อนมาทำใบจากห่อยาสูบ งานฝีมือ นำก้านมาสานเป็น “เสวียนหม้อ หรือ เตียวหม้อ” งานหัตถกรรมอันเป็นภูมิปัญญาความคิดของคนรุ่นปู่ย่าตาทวด

พื้นที่บริเวณชายฝั่งของตำบล ลีเล็ด บริเวณ อ่าวบ้านดอน เป็นปลายทางของลำคลองหลายสายที่หอบเอาธาตุอาหารและความสมบูรณ์ไปสะสม กลายเป็นแหล่งอนุบาลของกุ้งหอย ปู ปลา และ สัตว์หลากชนิด

ประเสริฐ ชัญจุกรณ์ กำนันตำบลลีเล็ด เล็งเห็นว่า การประมงด้วยอวนรุนอวนลากทำความเสียหายแก่สัตว์น้ำและป่าชายเลน พร้อมกับทางโครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง “CHARM” ของกรมประมงเข้ามาสำรวจ และเข้ามาส่งเสริมอาชีพในตำบลลีเล็ด แทนการทำประมงผิดกฎหมาย นำแนวคิดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนในปี 2548 จึงเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ

นุชนารถ สิงหภูติ ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนลีเล็ด กล่าวว่า

ผลพวงจากการกำหนดพื้นที่ทำการประมง และท่องเที่ยวโดยชุมชน 2 ปี พบว่าพื้นที่ป่าชายเลนในตำบลเพิ่มขึ้น 2,733 ไร่

สูตรกะปิที่บ้านแม่กัญญา สวนพลอย หรือคุณแอ้ ทํากินเองในครัวเรือน กลายเป็นสินค้าชุมชนที่มีชื่อเสียง และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดอาหารและผลิตภัณท์รูป ประเภทกะปิ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปี 2557

เราจึงได้มีโอกาสชิมรสชาติกะปิแท้ที่โฮมสเตย์ของคุณแอ้ จาก น้ำพริกกะปิ จกกุ้งหัวมัน แกล้มผักลวก ยำน้ำกะทิสด ใส่มะม่วงเบา ซดเป็นซุป ตัดกับรสจัดจ้านของแกงส้มปลากดหน่อไม้ดอง ทานพร้อม คั่วมะพร้าวกุ้ง คลุกข้าวสวยร้อนๆ ล้างปากด้วยลูกจากลอยแก้ว และมะม่วงเบาลอยแก้ว เพลินใจในชุมชนที่แสนเรียบง่าย ที่มีการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยรักษาทรัพยากรของชุมชนให้ยั่งยืน

กินเที่ยวพักแบบชาวอนุรักษ์ เรื่อง/ภาพ ธนิสร หลักชัย นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 41 2563

About the Author

Share:
Tags: กะปิ / นิตยสารอนุรักษ์ / ชุมชนยั่งยืน / อนุรักษ์ / ชุมชนลีเล็ด / สุราษฎร์ธานี / พุนพิน / สานตับ / ต้นจาก / เสวียนหม้อ / ป่าชายเลน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ