Sunday, May 19, 2024
ส.พลายน้อย ชื่นชมอดีต

คลองเก่าในบางกอก ตอน 1

เรื่อง ส.พลายน้อย ภาพ หอสมุดแห่งชาติ

เมื่อครั้งเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ เรื่องที่พูดคุย ประจำวันก็คือเรื่อง น้ำ คนที่อายุเกิน ๘๐ ปีก็รู้เรื่องน้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ และในครั้งนั้นแม่น้ำลำคลองยังไม่ตื้นเขิน ถนนหนทางยังไม่มาก น้ำจึงลดได้เร็วเพราะไม่มีอะไรขวางกั้น

เมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมมาแต่โบราณ ต้องใช้น้ำทํานา ฉะน้ันจึงเต็มไปด้วยแม่น้ำ และลําคลองน้อยใหญ่ เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นเด็ก แม่น้ำลําคลองทุกแห่งมีเวลาน้ำขึ้นน้ำลง ตามเวลา น้ําใสสะอาดใช้ดื่มกินได้ แม้น้ำที่ท่วมทุ่งในเดือน ๑๒ ก็ยังใสจนเห็นตัวปลา และลูกกุ้ง การคมนาคมและการค้าขายยัง ใช้แม่น้ำลําคลอง จึงทําให้แม่น้ำลำคลองไม่ตื้นเขิน สมกับคําากล่าวที่มีมาแต่โบราณว่า “น้ำพึ่งเรือ” เพราะเรือที่ผ่านไปมาทําให้น้ำ ไม่นิ่ง ไหลไปมาอยู่ตลอดเวลา คลองก็ไม่ตื้น ดินก็ไม่ตกตะกอน

กล่าวเฉพาะในบางกอกหรือกรุงเทพฯ มีคลองที่ตื้นเขินหายไปไม่ใช่น้อย บางคลองถูกถมเป็นถนน (ที่เรียกว่าถนนคลองถม) บางคลองปล่อยให้ตื้นเขินไม่มีการขุดลอก กลายเป็นคลองที่ขาดน้ำ ไม่มีประโยชน์

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง ทรงใช้เมืองธนบุรีเดิมเป็นที่มั่น เพราะมีกําแพงและป้อมอยู่บ้างแล้ว เพียงแต่สร้างพระตําหนักที่ประทับกับตําหนักฝ่ายในเพิ่มขึ้น ด้านหลังเมืองคือทางตะวันตก ก็โปรดให้ขุดคลองเป็นคูข้างหลังเมืองแต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่

ตามพระราชพงศาวดาร ทราบแต่ว่าคลองท้ังสองนี้เป็นคลองเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดินทางมาจากปากน้ําเจ้าพระยา จะขึ้นไปยังกรุงศรีอยธุยาตอ้งมาเข้าปากคลองบางกอกใหญ่ เลี้ยวเข้าบางระมาดตลิ่งชันแล้วมาวกออกคลองบางกอกน้อยต้องเสียเวลาเดินทางถึงค่อนวัน

ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีพระดำริว่าตั้งแต่คลองบางกอกน้อยไปออกคลองบางกอกใหญ่ อ้อมค้อมเสียเวลา (ตั้งเช้ายันเย็น) จึงโปรดให้ขุดคลองลัดจากปากคลองบางกอกน้อยไปออกปากคลองบางกอกใหญ่ระยะทางสั้น ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย เมื่อแรกขุดพื้นดินฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ยังมีอยู่มาก ครั้นนานปีเข้า กระแสน้ำพัดแรง กัดแวะคลองขุดลัดมากขึ้น จนใหญ่เท่าแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เมืองธนบุรีจึงมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่กลางเมือง

ส่วนทางฝั่งตะวันออก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ขุดคลองเป็นคุเมือง ต้ังแต่กําแพงเก่าท้ายป้อมวิไชเยนทร์ (ครั้งสมเด็จพระนารายณ์) วกขึ้นไปจนถึงศาลเทพารักษ์หัวโขด ปลายคลองคูเมืองดังกล่าว ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตามจดหมายเหตุโหรเรียกคลองคูเมืองนี้ว่า คลองใน ขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๕ คือ ขุดพร้อมกับคูเมืองทางฝั่ง ตะวันตกที่กล่าวมาขั้นต้น ในปัจจุบันกําหนด ให้เรียกว่า คลองคูเมืองเดิม

คลองนี้คนส่วนมากนิยมเรียกว่า “คลองหลอด” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่คลองตรง เป็นคลองอ้อม และในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เรียกกันต่างๆ ตอนปากคลองใต้โรงเรียนราชินีล่าง

ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “ปากคลองตลาด” เพราะเป็นตลาดปลา มีเรือบรรทุกปลาทะเลมาจากท่าจีน (สมุทรสาคร) มาออกคลองบางกอกใหญ่แล้วข้ามฝากมาขึ้นที่ปากคลองตลาด

คุณหญิงเขื่อนเพ็ชรเสนา (ส้มจีน อุณหะนันท์) ได้กล่าวไว้ใน “นิราศปากลัด” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ตอนหนึ่งว่า “มาถึงคลองตลาดตามราษฎร์เรียก กลิ่นปลาเปียกฉุนล้นทนไม่ไหว” ภายหลังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้ยกเลิกตลาดปลาไปอยู่หัวลำโพง แต่คนก็ยังเรียกติดปากว่าคลองตลาด เพราะยังขายสินค้าอย่างอื่นอยู่ ครั้นต่อมาได้สร้างโรงไหมขึ้นทางวังหน้า คนก็เรียกคลองตอนนั้นว่า “คลองโรงไหม” ต่อจากคลองโรงไหมก็ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า ท่าช้างวังหน้า

“คลองหลอด” เป็นการเรียกของชาวบ้าน แท้จริงเป็นคลองเล็กๆเชื่อมจากคลองคูเมืองไปบรรจบกับคลองรอบกรุง เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ย้ายเมืองหลวงมาสร้างกรุงเทพทางฝั่งตะวันออก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ โปรดให้ขุดคลองเล็กภายในกำแพงเมืองอีก ๒ คลอง เป็นคลองตรงเชื่อมระหว่าง คลองคูเมืองเดิม กับ คลองรอบกรุง จึงเรียกว่า คลองหลอด

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์คลองหลอดไว้ในอิเหนาตอนหนึ่งว่า “สะพานช้างทางข้าคชสาร ก่ออิฐปูกระดานไม้หนา คลองหลอดแลลิ่วสุดตา น้ำลงคงคาไม่ขอดเคือง”

พิจารณาดูตามภูมิประเทศแล้ว หลอดท้ังสองมีความสำคัญอยู่มาก นอกจากจะดึงน้ำเข้ามาใช้ในพระนครแล้ว ก็เป็นคลองลัดให้เรือแม่ค้าขนสินค้าจากย่านสะพานหันมาขายตามคลองคูเมือง หรือขนสินค้าจากปากคลองตลาดไปขายตามคลองรอบกรุงอีกด้วย

คลองหลอดท้ังสองคลองไม่มีชื่อเฉพาะ เมื่อมีวัดอยู่ใกล้คลองใดก็เรียกชื่อคลองตามวัดนั้น เช่น คลองหลอดราชบพิธ, คลองหลอดเทพธิดาราม ซึ่งมากำหนดเรียกภายหลังเมื่อสร้างวัดทั้งสองขึ้นแล้ว

คลองรอบกรุง เป็นคลองสำคัญของกรุงเทพฯ เป็นคลองแรกที่ขุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นการณ์ไกล ด้วยในเวลาน้ัน บ้านเมืองยังอยู่ในระยะอันตราย มีพม่าเป็นศัตรูสำคัญคอยหาโอกาสเข้ามารุกรานอยู่เสมอ จึงมีพระราชดำริว่า คลองคูเมืองเดิมครั้ง กรุงธนบุรีนั้น อยู่ใกล้พระมหาราชวังมากนัก ถ้าพลาดพล้ังอย่างไรจะแก้ไขได้ยาก ควรทำคูเมืองใหม่ให้ห่างไกลออกไปอีกชั้นหนึ่ง

จึงโปรดให้เกณฑ์ทหาร ๑๐,๐๐๐ คน เข้ามาขุด คลองคูพระนคร ด้านตะวันออกตั้งแต่วัดตีนเลนหรือเชิงเลน (วัดบพิตรภิมุข) ไปจนถึงวัดบางลำภู (รัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดสังเวชวิศยาราม) ปากคลองทั้งสองข้างออกแม่น้ำเจ้าพระยา คลองยาวถึง ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก เมื่อขุดเสร็จแล้วพระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง

มีเรื่องเล่าว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค ได้ประทับเรือพระที่นั่งจาก ตำหนักหน้าพระบรมมหาราชวัง ไปเลี้ยวเข้าปากคลองบางลำพู ไปตามคลองรอบกรุง ออกปากคลองวัดเชิงเลน เลี้ยวขวากลับ พระมหาราชวัง เป็นการประทักษิณพระนคร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็คงเสด็จเลียบพระนครทางชลมารคตามคลองรอบกรุงซึ่งยังเป็นคลองใหญ่บริบูรณดี เพราะมีเรือมากกว่า ๓๐๐ ลํา ท่านสังฆนายกปัลเลอกัวซ์ซึ่ง อยู่ในเมืองไทยขณะนั้นได้บันทึกเหตกุารณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“การเลียบเมืองทางชลมารคน่าดูมาก เหมือนกันในวันนั้นขบวนเสด็จพระราชดำเนินของพระเจ้าอยู่แผ่นดิน ประกอบด้วยผู็ตามเสด็จกว่าหกหมื่นคน ลงเรือต่างๆรูปงามยาวตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๘๐ กูเด มีฝีพายลําละตั้งแต่ ๖๐ ถึง ๑๐๐ คน หัวเรือแต่ละลําทํา เป็นรูปสัตว์ใหญในนิยายทาทองอราม บางเป็นรูปมังกร บ้างเป็นเหราหรือพญานาค พญามัจฉา ช้าง ม้า เสือ สิงโต ครุฑ ยักษ์ หนุมานขุนกระบี่นักรบ ตัวยง ฯลฯ ความงดงามของเครื่องแต่งประดับประดา เสื้อผ้าอาภรณ์แบบแปลกๆ การลอยลำและแล่นอย่างสง่าผ่าเผยของขบวนเรือ ประชาชนแต่งกายงดงาม เสียงพายทาทองกวักน้ํา เสียงร้องอันพร้อมเพรียงกันของฝีพาย เสียงมโหรีพาทย์ดังระงมรวมเป็นภาพอันน่าทัศนาอย่างเหลือที่จะพรรณนาให้ถูกต้องได้”

ท่านสังฆนายกปัลเลอกัวซ์ซึ่ง

กล่าวโดยสรุป กระบวนพยหุยาตราเลียบพระนครตามคลองรอบกรุงในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นกระบวนใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเข้าใจว่าจะเป็นการทักษิณาวรรตรอบ พระนครครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

เนื่องจากคลองรอบกรุงเป็นคลองที่มีความยาวมากนี่เอง ชาวบ้านจึงกําหนดชื่อ เรียกให้กระชับขึ้นโดยแบ่งคลองเป็นตอนๆ ในสมัยแรกเรียกตั้งแต่ปากคลองวัดบางลําพู (วัดสังเวช) จนถึงวัดสระเกศว่า คลองบางลําพู (ที่เรียกเช่นนี้เรียกตามภูมิประเทศ ที่มีต้นลําพูมาก)

เรียกคลองตั้งแต่วัดสระเกศไปออก วัดเชิงเลนว่า คลองวัดเชิงเลน หรือคลองวัด ตีนเลนซึ่งเป็นชื่อเก่า ครั้นต่อมาเมื่อมีสะพานหัน คนก็พากันเรียกว่า คลองสะพานหัน ให้ทันสมัยขึ้น

ต่อมาย่านสะพานหันกลายเป็นตลาดใหญ่มีชาวมอญนําเครื่องปั้นดินเผา พวกโอ่งอ่างบรรทุกเรือมาจอดขายกันเป็นประจํา พวกชาวบ้านร้านตลาดก็พากันเรียกคลอง ตอนนี้ว่า “คลองโอ่งอ่าง” ตามชื่อสินค้า

สรุปว่าชื่อที่เรียกันว่า “คลองบางลำพู” , “คลองสะพานหัน” และ “คลองโอ่งอ่าง” นั้น เป็นชื่อที่ชาวบ้านกำหนดเรียกเพื่อความชัดเจนในการนัดหมาย แต่ถ้าจะใช้ในหนังสือราชการก็ควรใช้ชื่อที่ถูกต้องคือ “คลองรอบกรุง” ซึ่งเป็นชื่อพระราชทาน

เรื่องของคลองรอบกรุงยังมีเรื่องน่ารู้อีกหลายเรื่อง ถ้าไม่เบื่อและผู้เขียนสบายดี ก็จะเล่าต่อ

เรื่อง ส.พลายน้อย ภาพ หอสมุดแห่งชาติ นิตยสารอนุรักษ์ 2557

About the Author

Share:
Tags: คลองโอ่งอ่าง / สะพานหัน / นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / ส.พลายน้อย / คลองบางกอก / คลองหลอด / คลองรอบกรุง / ปากคลองตลาด / คลองเก่า /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ