Monday, May 20, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

แคคตัส จากทะเลทราย สู่ไม้ประดับยอดนิยม

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 36
เรื่อง: ฬียากร เจตนานุศาสน์
ภาพประกอบ: วิชาญ ชัยรัตน์

แคคตัส จากทะเลทราย

สู่ไม้ประดับยอดนิยม

แคคตัส จากทะเลทราย สู่ไม้ประดับยอดนิยมอะไรทําให้ไม้อวบน้ํามีหนามแหลมหลากหลายสายพันธุ์ กลายมาเป็นไม้ประดับ ยอดนิยมของคนแทบทุกเพศทุกวัย ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีมานี้ ลําพังแค่ความสวยงามเราว่าอาจยังไม่ใช่คําตอบ แต่อาจเป็นเพราะความโหยหาธรรมชาติให้มาอยู่ใกล้ตัว ความน่ารักของไม้มากหนามและดอกสีสวยรูปทรงแปลก ในกระถางเล็กๆ ที่ดูแลง่าย และมอบความสุขทางใจให้เจ้าของยามได้เห็น พวกมันค่อยๆ เติบโต เราจะพาคุณย้อนกลับไปดูความเป็นมาและต้นกําเนิด แคคตัส ต้นไม้จากทะเลทรายที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเนิ่นนาน กว่าที่จะอยู่รอด ปลอดภัยจนแพร่ขยายพันธุ์และได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างเช่นทุกวันนี้

แข็งแกร่งและพร้อมผจญ ทุกสภาพอากาศ

แคคตัสจัดเป็นพืชพื้นเมืองที่มีถิ่นกําเนิดอยู่ในทวีปอเมริกา และมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยัง แหล่งอื่นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ กันในแต่ละพันธุ์ เช่น แคคตัสสกุล Rhipsalis แพร่พันธุ์อยู่ในประเทศแอฟริกา และอินเดียโดยนก หรือแคคตัสสกุล Opuntia บางชนิด มีผู้นําเข้าไปปลูกเลี้ยงในยุโรป

กระนั้นมีข้อสันนิษฐานว่า ต้นตระกูลของแคคตัสเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายของยุค Mesozoic หรือ ประมาณ ๒๓๐ ล้านปีมาแล้ว เป็นยุคที่มีการพัฒนาของพืชมีดอกมากที่สุด ซึ่งในยุคดั้งเดิมนั้น ต้นแคคตัสยังมีลักษณะไม่แตกต่างไปจากพืชอื่นมากนัก เช่น สกุล (genus) Pereskia ที่ยังคงมีใบและ ทรงต้นเหมือนพืชชนิดอื่นทั่วไป แต่ด้วยสาเหตุที่ต้องผจญกับสภาพอากาศเลวร้ายตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่น้ําฝนลดลงและอากาศร้อนแห้งแล้ง จึงมีผลกระทบต่อพืชในเขตอเมริกาใต้ซึ่งได้รับแสงอาทิตย์โดยตรง ทําให้ต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีความต้านทานต่อช่วงอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก ด้วยการสะสมน้ําจํานวนมากไว้ที่ลําต้น ทําให้ลําต้นมีลักษณะอวบอ้วนและสั้นลงในที่สุด รวมทั้ง ส่วนใบก็ค่อยๆ เล็กลง จนกระทั่งกลายเป็นหนาม

ตามหลักพฤกษศาสตร์กล่าวว่า พืชที่จัดเป็นแคคตัสหรือจัดอยู่ในวงศ์ Cactaceae นั้นเป็นไม้ยืนต้น และจะต้องมี “ตุ่มหนาม” ซึ่งในบริเวณนี้จะพบกลุ่มหนามหรือขนแข็งๆ ขึ้นอยู่ และเรียงไปตามแนวซี่หรือสันสูงของต้นอย่างเป็นระเบียบ อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่ เกิดตาดอกและแตกกิ่งใหม่ของต้นด้วย ส่วนในไม้อวบน้ําประเภทที่มีหนามนั้น หนามจะ ขึ้นเดี่ยว กระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบไปรอบๆ ต้น และไม่พบบริเวณตุ่มหนามเหมือน ในแคคตัส อีกทั้งพืชทั้งสองกลุ่มที่มีหนามนั้นอยู่กันคนละวงศ์ ข้อสังเกตที่สําคัญคือ ในกลุ่มของ Cactaceae นั้นดอกจะมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกแยกกัน รังไข่จะอยู่ต่ํากว่า ส่วนอื่นๆ ส่วนกลุ่ม Euphorbiaceae ดอกจะไม่มีทั้งกลีบเลี้ยงกลีบดอก และรังไข่จะอยู่ เหนือส่วนอื่นๆ พืชทั้งสองตระกูลนี้จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในความต่างก็มี ความเหมือน จึงไม่แปลกที่โดยปกติคนส่วนใหญ่มักคิดว่า ต้นไม้ที่มีหนามมักเป็นแคคตัส ซึ่งความจริงแล้วแคคตัสบางสกุล เช่น Lophophora หรือ Astrophytum บางชนิดก็ไม่มีหนาม แต่ถูกจัดว่าเป็นแคคตัส ในขณะที่ไม้อวบน้ําบางสกุล เช่น Euphorbia ก็มีหนาม แต่ไม่จัดว่าเป็นแคคตัส

ปรับตัวเพื่อเติบโต

จากถิ่นกําเนิดแคคตัสในทวีปอเมริกา และผ่านร้อนผ่านหนาวในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง แคคตัส เปรียบเหมือนหยดน้ํากลางทะเลทราย ในยามขาดน้ําหากใครสักคนหลงทางแล้วไปพบพืชอวบน้ํา ชนิดนี้เข้า แม้น้ําในลําต้นจะมีลักษณะเหนียวๆ ข้นหนืด แต่ก็นับเป็นหยดน้ําที่สามารถบรรเทาความหิวและประทังชีวิตไปได้อีกสักพัก

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าแคคตัสเป็นพืชที่ชอบขึ้นอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีอากาศร้อน แห้งแล้ง เช่น ในทะเลทราย แต่ในความจริงแล้วแคคตัสสามารถเจริญเติบโตได้หลายพื้นที่ เช่น บริเวณ ชายฝั่งทะเล เช่น สกุล Pachycereus ที่ขึ้นอยู่แถบชายฝั่งทะเลในประเทศเม็กซิโก บริเวณทุ่งหญ้า ในป่าที่มีความชื้นสูง ที่ความสูงระดับน้ําทะเลไปจนถึงที่ซึ่งมีระดับความสูงกว่า ๔,๐๐๐ เมตร แม้แต่ใน พื้นที่อากาศหนาวเย็นอย่างเช่นทางตอนเหนือและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาที่อากาศร้อนแห้งแล้ง เช่น ทะเลทราย บริเวณที่ราบ แม้แต่ตามซอกหินไหล่เขา ซึ่งมีดินที่อุดมสมบูรณ์หรือเป็นหินแข็ง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแคคตัสหลายชนิดที่เจริญเติบโตได้โดยอาศัยพืชอื่น เช่น แคคตัสจําพวก Epithelantha bokei ที่เจริญเติบโตขึ้นจากเมล็ดโดยอาศัยร่มเงาและความชื้นจากพืชในกลุ่ม xerophyte หรือพวก Selaginella lepidophylla (Resurrection Plant) จากสถานที่หลายแห่งที่กล่าวมา จึงแสดงให้เห็นได้ว่า แคคตัสสามารถเติบโตอยู่ได้ในทุกสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของโลก ไม่จํากัดเฉพาะแถบทะเลทรายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แคคตัสแต่ละพันธุ์ก็เจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่างกันไป

แคคตัสในไทย

การเดินทางของแคคตัสมาถึงในเมืองไทยเมื่อไหร่นั้น ไม่มีบันทึกแน่ชัดนัก และถ้าย้อนไปเพียง ปีก่อนหน้านี้ เดิมเรารู้จักแคคตัสแค่เพียงไม่กี่ชนิด ที่เห็นอยู่ทั่วไป เช่น เสมา (Opuntia) โบตั๋น (Rhipsalis) และนิยมเรียกต้นไม้กลุ่มนี้ว่า ตะบองเพชรหรือกระบองเพชร เนื่องจากลักษณะ ของต้นที่เป็นลําสูงยาวคล้ายกระบองที่มีหนามส่องประกายกระทบแดดแวววาวสวยงาม

จากบทความในจุลสารของชมรมกระบองเพชรแห่งประเทศไทยโดย “กระท่อมลุงจรณ์”กล่าวไว้ว่า “ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แคคตัสได้ถูกนําเข้ามาจากต่างประเทศโดยผู้รักต้นไม้สกุล “สมบัติศิริ” โดยนํา มาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนฝูงด้วยความประทับใจในความงดงามประหลาดตา จึงเริ่มมีการสั่งเข้ามาปลูก เพื่อสะสมกันมากขึ้น จากนั้นความนิยมแคคตัสเริ่มแพร่ขยายเป็นวงกว้าง จนเกิดร้าน “๔๗๑ ของ คุณวาส สังข์สุวรรณ ขึ้นที่สนามหลวง ซึ่งถือว่าเป็นร้านขายแคคตัส เป็นร้านแรกของประเทศ

จากระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ ทว่าไม้เล็กหนามแหลม รูปทรงแปลก และบางพันธุ์มีดอกสีสวยผุดออกมาให้คนเลี้ยงได้ชื่นใจ ค่อยๆ เข้าไปอยู่ในบ้าน บนระเบียง บนโต๊ะที่ทํางาน ของใครหลายคน แคคตัสยังคงได้รับความนิยม มาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้าง Geodesic Dome จัดเป็นสวนแคคตัสขึ้นภายใน สวนหลวง ร.๙ มีตําราแคคตัสภาษาไทยออกมามากมาย มีกลุ่มผู้เลี้ยงและ ผู้จําหน่ายขยายวงกว้างครอบคลุมไปกว่า ๕๐ จังหวัดของประเทศ รวมทั้ง มีการพัฒนายกระดับคุณภาพ เกิดพันธุ์ลูกผสมใหม่ๆ ขึ้นเสมอ จนกล่าวได้ว่า แคคตัสเป็นต้นไม้ที่เข้าไปอยู่ในหัวใจใครหลายคน

กระบองเพชร หรือแคคตัส (Cactus)

  • แคคตัส (Cactus พหูพจน์ Cacti) มาจากคําในกรีกคือ Kaktos Theophrastus (บิดาแห่งประวัติศาสตร์) ใช้เรียกชื่อพืชต้น Prickly Cardoon (Cynara) ต่อมา ในปี ค.ศ. ๑๗๕๓ Linnaeus ได้นําคําว่า Cactus มาตั้งชื่อ พืชสกุลหนึ่ง (จําพวกสกุล Opuntia) ว่า Cactus L. แต่ นิยมใช้ไม่นาน คําว่า Cactus ก็ถูกนํามาใช้เรียกพืชในวงศ์ Cactaceae โดยอยู่ในอันดับ (order) Cactales
  • Cactales มีลักษณะเด่นคือเป็นพืชอุ้มน้ํา (succulent plants) ลําต้นอวบน้ํา เป็นไม้ ยืนต้นสามารถเติบโตได้หลายฤดู มีใบเปลี่ยนเป็นรูปหนาม (spine), ขน (hai, wolly) หรือกระจุกหนาม (gloohids) จะเกิดตรงส่วนตา ยกเว้น พืชในสกุล Pereskia หรือ Pereskiopsis ซึ่งยังมีใบ ให้เห็น
  • สรุป เป็นต้นไม้ยืนต้นที่นิยม ปลูกประดับในอาคารหรือที่ โล่งแจ้ง เนื่องจากมีลําต้นเป็น เหลี่ยมหรือกลีบแปลกตา อีกทั้งยังออกดอกหลากสี สวยงาม รวมถึงเป็นไม้ที่ทน ต่อความแห้งแล้งได้ดี สามารถ ปลูกได้ในทุกดิน และวาง ประดับได้ในทุกสถานที่

๕ สายพันธุ์ดอกสวยใจละลาย

ปัจจุบันมีแคคตัสมากมายหลายสายพันธุ์ และจัดเป็นต้นไม้ยอดนิยมที่ใครๆ ก็เลี้ยงได้ ต่อให้จะ เป็นคนยุ่งจนไม่มีเวลาแค่ไหน แต่การเลี้ยงแคคตัสสักหนึ่งต้น นอกจากไม่สร้างความลําบากหรือเพิ่ม ภาระให้ใครแล้ว การปลูกต้นไม้หนึ่งต้นยังช่วยเพิ่มออกซิเจนให้แก่โลก และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เรายกตัวอย่างมาแค่ ๕ สายพันธุ์ให้ลองดูกัน

  • แอสโตรไฟตัม (Astrophytum) มีด้วยกันหลายชนิด ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ได้แก่ แอสโตร มิราเคิล โดยเจ้ามิราเคิลนี้เปรียบเสมือนดาว เลี้ยงง่ายโตไวออกดอกเก่ง อีกทั้งยังผสมง่าย จุดเด่นคือ “ไม่มีหนาม” แต่มีจุดขาวบนผิวทั่วลําต้น และมีดอกใหญ่หลายดอก (จุดสีขาวที่ปรากฏบนต้น) พออายุได้ปีกว่าๆ ก็จะเริ่มมีดอกออกมา
  • อิชินอปซิส (Echinopsis) เป็นพันธุ์ “กอ” ดอกของแคคตัสชนิดนี้จะเป็นสีขาว ถ้าอยากจะเห็น ดอกของอิชินอปซิสต้องรอ เพราะดอกจะบานสะพรั่งสวยงามแค่ตอนเที่ยงคืนจนถึง 6 โมงเช้าแคคตัสชนิดนี้มีหนามแต่ไม่แหลมคมเหมือนพันธุ์อื่น
  • ช้าง (Coryphantha) ความพิเศษอยู่ตรงที่จะมีการแตกหน่อ ช้างจะออกดอกเป็นสีชมพู ดอกค่อนข้างใหญ่กว่าพันธุ์อื่น ถ้าเลี้ยงดีๆ ช้างจะออกดอกผลิบานในช่วงหน้าฝนเป็นสีชมพูสะพรั่งให้ชื่นชม
  • ดิสโก้ (Discocatus) เด่นตรงที่ดอกมีกลิ่นหอม บานกลางคืนจนถึงเช้า ลักษณะพิเศษคือ เป็นพันธุ์หนามฟูๆ หนามรายรอบลําต้นแต่ไม่แหลมคม
  • ยิมโนหัวสี (Gymnocalycium) ความสวยงามสีสันสดใสคือเสน่ห์ เป็นพันธุ์ที่มีดอกสวยงาม แต่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อย่ารดน้ํามากหรือน้อยไป

About the Author

Share:
Tags: ต้นไม้ / ดอกไม้ / แคคตัส / Cactus / กระบองเพชร /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ