Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

บุญยานุสรณียสถานอันยิ่งใหญ่ ณ ดินแดนที่เสด็จพระราชสมภพ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 20
เรื่อง: ผศ. ประเทือง ครองอภิรดี
ภาพ: วัดนวมินทรราชูทิศ

บุญยานุสรณียสถานอันยิ่งใหญ่

ณ ดินแดนที่เสด็จพระราชสมภพ

วัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ เมืองเรย์นัม ใกล้เมืองเคมบริดจ์-นครบอสตัน รัฐแมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙

ความจริงวัดนี้เปิดมาได้ ๒ ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่มิถุนายน ๒๕๕๗ แต่เป็นที่รู้จักกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นบุญยานุสรณียสถานที่ยิ่งใหญ่ เป็นวัดไทยในอเมริกาที่ใหญ่ที่สุด ที่คนไทยควรรับรู้และภูมิใจ

โครงการนี้เริ่มต้นโดยสมัชชาสงฆ์ไทยและพุทธศาสนิกชนไทยในอเมริกา โดยมีพระเดชพระคุณพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานโครงการและเป็นประธานกรรมการอำนวยการด้วย ซึ่งเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นธรรมทูตรุ่นแรกที่บุกเบิกการสร้างวัดไทยในอเมริกาเมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อน ร่วมสมัยกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พระพรหมคุณากร หรือ ป.อ. ปยุตโต) โดยเริ่มต้นที่เมืองใหญ่ที่มีคนไทยอยู่กันหนาแน่นก่อน เช่น ชิคาโก วอชิงตัน ดี.ซี. นครนิวยอร์ก และลอสแองเจลิส ดังนั้นท่านจึงมีประสบการณ์จากการผจญปัญหาต่างๆ ในการสร้างวัดไทยในอเมริกามามากมาย การสร้างวัดนี้ท่านจึงแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้ด้วยดี

อาคารหลักด้านหน้ามองจากประตูรั้วทางออก
อาคารหลักด้านข้าง
ด้านข้างของอาคาร
ภาพถ่ายทางอากาศเห็นอาคารทั้งบริเวณ
เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ด้วยงานประชุมพระธรรมทูตทั่วโลกและสมัชชาสงฆ์ไทยในอเมริการะหว่างวันที่ ๑๑-๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗

๔๐ กว่าปีผ่านไป บัดนี้อเมริกามีวัดไทยตามเมืองต่างๆ ทั้งสิ้นกว่า ๑๐๐ วัดพระเดชพระคุณเจ้าเล่าว่า การสร้างวัดไทยขึ้นมาแต่ละวัดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องขออนุญาตต่อทางการเพื่อจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรก่อนหน้านั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชนโดยรอบด้วย แต่ก็มิวายมีพวกที่ต่อต้าน ต้องถูกระแวง ถูกฟ้อง ถูกแกล้ง ถูกล้อ บ้างเอาหินปาหลังคา บ้างลอบปีนขึ้นรื้อเสาธง…สารพัด

วัดใหญ่สมัยแรกๆ นั้น มีลักษณะเป็นสำนักสงฆ์ มักจะเป็นบ้านเก่าอยู่ท่ามกลางชุมชนฝรั่งที่พอจะหาซื้อได้ไม่แพงนัก หน้าตาก็คือบ้านฝรั่งธรรมดานี่เอง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกาอะไรทั้งนั้น วัดแรกๆ ของนครนิวยอร์กอยู่ท่ามกลางดงคนผิวดำอันลือชื่อในด้านความน่ากลัว คือย่าน “บร้องซ์” ซึ่งการเดินทางไปวัดแต่ละครั้งราวกับการผจญภัยทีเดียว

ภาพถ่ายทางอากาศเห็นอาคารทั้งบริเวณ
สวยงามท่ามกลางหิมะในฤดูหนาว

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ล่วงหน้า ๔ ปีก่อนจะถึงปีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปี ๒๕๔๙ แต่กว่าจะได้เริ่มก่อสร้างจริงๆ ก็ล่วงมาถึงปี ๒๕๕๔ เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่การเสาะหาที่ดินที่เหมาะสม คือจะต้องเป็นที่ดินผืนใหญ่และใกล้เมืองเคมบริดจ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชสมภพมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ ที่ดินผืนใหญ่ในเมืองใหญ่อย่างบอสตันย่อมหายากเป็นธรรมดา จนในที่สุดก็หาได้ที่ป่าเมืองเรย์นัม (Raynham) นี้ ซึ่งห่างจากเคมบริดจ์ ๔๐ กว่าไมล์ แต่ก็เดินทางมาสะดวกเพราะติดไฮเวย์ เมื่อแรกซื้อได้ที่กว้าง ๑๓๗ ไร่ ต่อมาซื้อเพิ่มได้อีกรวมเป็น ๒๓๓ ไร่ แต่ปัจจุบันใช้สร้างวัดเพียง ๒๕ ไร่เท่านั้น ยังเหลือเป็นพื้นที่ป่าอีก ๒๐๐ กว่าไร่

เหตุที่ต้องหาพื้นที่กว้างขนาดนี้เพราะเวลามีงานและกิจกรรมจะไม่รบกวนชาวบ้าน ทั้งเรื่องเสียง ความพลุกพล่าน และที่จอดรถ อีกทั้งยังสามารถขยายได้ในอนาคตด้วย

จากทางเข้าเห็นอาคารจตุรมุขและเจดีย์ทองโดดเด่นซึ่งเป็นอาคารเล็ก
ส่วนหนึ่งของนิทรรศการธรรมะ

สำหรับตัวอาคารวัด พระเดชพระคุณเจ้าฯ ตั้งหลักไว้ว่าต้องสนองประโยชน์ ประหยัด ประยุกต์ และสมพระเกียรติ เนื่องจากเป็นอาคารในเมืองหนาวจึงต้องควรใช้สถาปนิกอเมริกัน ท่านเกิดถูกใจรูปแบบอาคารแห่งหนึ่งในเมืองบอสตันใกล้เคียงกับรูปแบบที่ท่านจินตนาการไว้ จึงสืบหาสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นเพื่อให้มาออกแบบอาคารวัดนี้ ปรากฏว่าเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนไต้หวัน ชื่อ ปินเจิ้นหวัง (Been Zen Wang) แห่งบริษัท ARC สถาปนิกผู้นี้จบจากมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่ท่านก็นับถือพุทธด้วย จึงทำงานด้วยศรัทธาเต็มที่ โดยมีสถาปนิกจากกรมศิลปากรคุณก่อเกียรติ ทองผุด ช่วยออกแบบในส่วนที่เป็นไทยและปรึกษาการออกแบบตกแต่งภายในให้ดูเป็นไทยด้วย

อาคารที่ออกแบบมาเป็นแบบไทยประยุกต์ เข้ากับอาคารสไตล์นิวอิงแลนด์อันเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นนี้ อาคารหลักด้านหน้าอันโดดเด่นนั้นเป็นอาคารหลังคาจั่วสูง ดูเป็นไทยด้วย และเวลาหิมะตกก็จะไหลลงหมด จะได้ไม่หนักหลังคา เป็นจั่วที่เรียบง่าย ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา แต่ยังคงเอกลักษณ์ไทยด้วยหลังคาลักษณะจตุรมุขและการลดหลั่นซ้อนชั้นกันลงมา ยอดกลางสีทองของจตุรมุขคือเจดีย์ของวัดนี้ไปในตัว ดูปุ๊บก็รู้ว่าเป็นไทยแน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย

ภายในพระอุโบสถบนชั้น ๓ มีพระ “สุข” (ศิลปะสุโขทัย) เป็นพระประธาน
ประตูมีซุ้มลายปูนปั้นปิดทอง ประดับกระจก

อาคารจตุรมุขด้านหน้านั้นมี ๓ ชั้น (ไม่นับชั้นใต้ถุน) ชั้นแรกเป็นโถงทางเข้า ห้องนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการเกี่ยวกับพุทธศาสนาเนื้อหาธรรมะที่จัดแสดงให้ดูสนุกและเข้าใจง่าย ออกแบบนิทรรศการโดยบริษัท RIGHT MAN มีหอ้ งสมดุ หนงั สอื ธรรมะให้ศึกษาคน้ คว้า ชั้นที่ ๒ มีห้องสำนักงานห้องวิปัสสนาประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ห้องนี้สามารถจะปรับกั้นให้ใหญ่และเล็กตามต้องการได้ นอกจากนี้ยังมีห้องเรียนย่อยๆ อีกหลายห้องชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถของวัดนี้สำหรับทำสังฆกรรม มีพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยเป็นพระประธาน

ด้านหลังของอาคารจตุรมุขเป็นลานกว้างสำหรับจัดงานทำกิจกรรมต่างๆได้ ล้อมรอบด้วยอาคารรูปตัว U เพื่อกันเสียงไม่ให้ออกไปรบกวนชุมชนในเวลาจัดงาน ก้นของตัว U นั้นเป็นห้องโถงอเนกประสงค์ จุคนได้ ๗๐๐ คนใช้จัดกิจกรรมในร่มเชื่อมต่อกับลานกิจกรรมกลางแจ้งตรงกลาง ส่วนขาตัว U ทั้ง ๒ ข้างนั้นเป็นอาคาร ๒ ชั้น (พร้อมชั้นใต้ถุน) สำหรับเป็นที่พัก

ประตูและซุ้มลายไทยอีกแบบหนึ่ง
บันไดลูกกรงไม้สวยงาม

โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลสมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวชเป็นเงิน ๕๐๐ ล้านบาท สมทบด้วยเงินบริจาคของชาวพุทธทั้งไทยและอเมริกันและการระดมทุนโดยสร้างพระพุทธรูป ๓ แบบให้เช่าบูชา คือพระอู่ แสน สุข(ศิลปะอู่ทอง เชียงแสน และสุโขทัย) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ทำพิธีเททองหล่อเป็นปฐมฤกษ์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จฯ ในพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดพระแก้ว ผู้สนับสนุนสำคัญอีกรายหนึ่งคือ คหบดีชาวอินโดนีเซีย Mr. Liem Sioe Liong และ Antony Salim (บุตรชาย) จนในที่สุดโครงการก็สำเร็จลงด้วยงบประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๓ ปี เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ด้วยการจัดงานประชุมพระธรรมทูตไทยทั่วโลกและสมัชชาสงฆ์ไทยในอเมริกาประมาณ ๓๐๐ รูป ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗

หุ่นจำลอง แสดงอาคารหลักจตุรมุขด้านหน้าประตูและซุ้มลายไทยอีกแบบหนึ่ง ลานคอร์ดกลางด้านหลัง ห้อมล้อมด้วยอาคารตัว U
แปลนชั้นแรก
แปลนชั้นที่สอง
พระพรหมวชิรญาณ
(ปสฤทธิ์ เขมง. กโร)
ห้องสมุดธรรมะ
นิทรรศการเทิดพระเกียรติ
ห้องนิทรรศการพระพุทธธรรม ส่วนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยังไม่เสร็จสมบูรณ์

วัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติฯ หรือมีชื่อให้ฝรั่งเรียกง่ายๆ ว่า NMR Buddhist Meditation Center วางแนวคิดตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะให้เป็นมากกว่าวัดจะเป็นแหล่งเรียนรู้เผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐอเมริกาและชาวอเมริกันที่สนใจ ในอนาคตอาจจะเปิดเป็นสาขาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดสอนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านพุทธศาสนาและบาลี เป็นเรื่องที่ค่อยๆ พัฒนาไป

พระ “แสน” (ศิลปะเชียงแสน) ในห้องวิปัสสนา
ซุ้มประตูเข้าอุโบสถ ลายนูนปิดทอง ประดับกระจก
พระ “อู่” (ศิลปะอู่ทอง) ในห้องโถงอเนกประสงค์

ทุกวันนี้ นอกจากโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์นและภูมิพลสแควร์ ซึ่งเป็นลานเล็กๆ ที่มีป้ายจารึกถวายพระเกียรติตรงสี่แยกแห่งหนึ่งในบอสตันที่สำคัญสำหรับคนไทยแล้ว ยังมีวัดนวมินทรราชูทิศ เฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้อันทรงคุณค่ายิ่งด้วยการเผยแพร่พระพุทธธรรม เพื่อจักสร้างสันติสุขอันยั่งยืนให้สังคมและชาวโลกทั้งมวล เป็นบุญยสรณียสถานอันยิ่งใหญ่ให้รำลึกถึงยอดพระมหากษัตริย์ที่ทั่วโลกนับถือพระองค์หนึ่งที่ชาวไทยภูมิใจ และอเมริกาก็ควรภูมิใจที่เป็นดินแดนพระราชสมภพของยอดกษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


NMR Buddhist Meditation Center
382 South Street East
Raynham Mass. 02767 USA.

About the Author

Share:
Tags: วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 20 / วัดนวมินทรราชูทิศ / NMR Buddhist Meditation Center /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ