Saturday, May 18, 2024
ชื่นชมอดีต

ภาพปูนปั้นงามล้ำค่า

วัดไลย์ ลพบุรี มีวิหารเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ภายนอกวิหารด้านหน้าและด้านหลังประดับด้วยลายปูนปั้นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย ภายในยังปรากฏปูนปั้นฝีมือช่างอยุธยาตอนต้น

วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มาก สร้างมาแต่สมัย “อู่ทอง” คือก่อนจะสร้างกรุงศรีอยุธยาเสียอีกตามประวัติได้รับการบูรณะหลายครั้ง ดังนั้น ปัจจุบันวิหารเก่าแก่ของวัดนี้ย่อมไม่ใช่แบบ ที่แรกสร้างอย่างแน่นอน แต่ผสมผสานศิลปกรรมหลายสมัยตามแต่การบูรณะแต่ละครั้ง


วิหารนี้ไม่มีหน้าต่างแต่มีช่องลมเจาะเป็นซี่ๆ คล้ายลูกกรง ลูกมะหวด แบบปราสาทขอม ซึ่งส่งอิทธิพลถึงศิลปกรรมอยุธยาตอนต้น ทางด้านหน้าจะมีประตูโค้งแบบฝรั่ง ซึ่งเป็นรูปแบบ จากการบูรณะในสมัยพระนารายณ์มหาราช โดยต่อด้านหน้าเป็นคูหาทางเข้าเพิ่มขึ้นอีก ๑ ห้อง ผนังด้านหน้าเดิมยังเห็นซุ้มปูนปั้น เศียรนาคอิทธิพลขอม หน้าบันซุ้มเป็นรูปปั้นซึ่ง กร่อนไปมากแล้ว เหลือแต่ส่วนบนซึ่งยังพอดูออกว่าเป็นพระพุทธประวัติตอนเสด็จออก บรรพชา หรือ “มหาภิเนษกรมณ์” นอกจากนั้นยังมีลวดลายบัวเชิงเสา หัวเสาเก่าฝีมือสมัย อยุธยาตอนต้นหลงเหลืออยู่บ้างในบางจุด


ที่มุขด้านหน้ามีภาพปูนปั้นแผงใหญ่บนผนังแบ่งเป็นช่องๆ แสดงเรื่องพระพุทธประวัติตอน “เทโวโรหณะ” ไว้ตรงกลาง ส่วนสองข้างแบ่งเป็น ๑๐ ช่อง แสดงเรื่องทศชาติชาดก ๑๐ พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะมาเป็นพระพุทธเจ้า 

ภาพปูนปั้นด้านหน้าซุ้มนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมกับภาพปูนปั้นผนังด้านหลังด้วย ซึ่งแสดงภาพพระพุทธประวัติตอน “แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ” หลังถวายพระเพลิง ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำกรอบกระจกกันฝนทั้งด้านหน้าด้านหลังเพื่อรักษาภาพปูนปั้นล้ำค่าเหล่านี้ ให้คงอยู่ได้นานขึ้น

ภาพเทโวโรหณะ
ภาพใหญ่และเด่นอยู่ตรงกลางแสดงตอนพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กลับสู่โลกมนุษย์ หลังจากทรงประทับอยู่ตรงนั้นตลอดพรรษา พระพุทธมารดาที่สวรรคตแล้วสถิตอยู่สวรรค์ชั้นดุสิตได้เสด็จลงมาชั้นดาวดึงส์ เพื่อสดับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าเทศนาโปรดจนสำเร็จอริยผล ในภาพพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในซุ้มในลักษณะประทานอภัย เหล่าเทวดาและพรหมเฝ้าอยู่ทั้ง ๒ ข้าง พร้อมทั้งดวงจันทร์ (ที่มีกระต่ายอยู่ตรงกลาง) และดวงพระอาทิตย์ตามคติของรามัญ (ที่มีนกยูงอยู่ตรงกลาง) เบื้องล่างมีกษัตริย์เมืองสังกัสสะ ประทับบนหลังช้าง ม้า และชาวเมืองคอยเฝ้าถวายบิณฑบาตอยู่ เป็นต้น เค้าของการ “ตักบาตรเทโว” วันออกพรรษานั่นเอง ยิ่งถ้าเป็นวัดทางเหนือที่มีบันไดนาคสูงๆ จะนิยมให้พระสงฆ์เดินลงบันไดนาคประดุจลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาให้ประชาชนตักบาตรนั่นเอง


๑ เตมียชาดก (ทรงบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี) 
ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระเตมีย์เห็นพระบิดา สั่งประหารนักโทษ จึงไม่คิดเป็นกษัตริย์ต่อจากพระบิดา เลยแสร้งทำเป็นใบ้ ไม่รู้ความ เหล่าอำมาตย์ทูลว่าเป็นกาลกิณี พระบิดาจึงให้สุนันทสารถีนำไปฆ่าทิ้งเสียกลางป่า เมื่อไปถึงพระเตมีย์เปิดเผยว่ามิได้เป็นใบ้ ให้สารถีกลับเมืองไปเสีย ส่วนพระองค์ ปรารถนาจะบวชบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีอยู่กลางป่า ในภาพคือฉากตอนจบเรื่อง สุนันทสารถี (นั่งอยู่ล่างสุด) นำพระบิดาและมารดา (นั่งอยู่ใต้ฉัตร) มาเฝ้าที่บรรณศาลาอันพระอินทร์ เนรมิตถวาย เมื่อฟังธรรมจากพระเตมีย์แล้วก็ทรงเลื่อมใสออกบวชทั้งสองพระองค์

๒ พระมหาชนกชาดก (ทรงบำเพ็ญวิริยะบารมี) 
หลังจากนางมณีเมขลาช่วยพระมหาชนกขึ้นจากมหาสมุทร แล้วพามายังเมืองมิถิลาในภาพเป็นตอนที่ทรงยกศรเสี่ยงทายได้สำเร็จ และจะได้อภิเษกกับพระธิดาของพระโปลชนกตามกติกาการหาคู่ให้พระธิดา ส่วนด้านหลังจะเห็นภาพพระภิกษุถือตาลปัตรนั่นคือพระมหาชนกออกบวชในที่สุด หลังจากได้อภิเษกและครองเมืองมิถิลาแล้ว

๓ สุวรรณสามชาดก (ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี) 
ในภาพเห็นพระสุวรรณสามมีกวางเป็นบริวาร เพราะทรงมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ทรงหาน้ำและอาหาร ผลไม้มาเลี้ยงบิดามารดาตาบอด ซึ่งอยู่บำเพ็ญพรตด้วยกันในอาศรมกลางป่า พระเจ้าปิลยักษ์ (ด้านบนในพุ่มไม้) กำลังซุ่มล่ากวางและยิงลูกศรมาถูกสุวรรณสาม ก่อนจะตาย สุวรรณสามห่วงแต่บิดามารดา จึงขอร้องให้ปิลยักษ์ เลี้ยงดูบิดามารดาตาบอดด้วย ท้ายที่สุดด้วยแรงกตัญญูต่อบิดามารดา เทพยดาช่วยให้สุวรรณสามฟื้น และบิดามารดาก็หายจากตาบอด สุวรรณสามยังเมตตาแสดงธรรมให้พระเจ้าปิลยักษ์ปกครองบ้านเมืองด้วยเมตตาเพื่อความผาสุกของราษฎร

๔ เนมีราชชาดก (ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี) 
เนมีราชเป็นกษัตริย์ที่โปรดการทรงศีลบำพ็ญทานมาก ราษฎรต่างก็พากัน ทำตามทั้งเมือง ชาวเมืองนี้เมื่อตายแล้ว จึงได้ขึ้นสวรรค์มากมาย ขึ้นไปแล้วก็ยัง เล่าลือถึงพระเนมีราชจนเทวดาอื่นๆ อยากจะฟังธรรมจากเนมีราชบ้าง ในที่สุดพระอินทร์ต้องส่งราชรถมารับเนมีราชขึ้นไปแสดงธรรมบนสวรรค์ ดังภาพที่ปรากฏช้าง ๓ เศียรที่เห็น หมายถึงช้างเอราวัณ ๓๓ เศียรของพระอินทร์นั่นเอง แม้พระอินทร์เชื้อเชิญให้อยู่ในสวรรค์ก็ทรงปฏิเสธ ด้วยมีความแน่วแน่มั่นคงที่จะบำเพ็ญบารมีในโลกมนุษย์

๕ มโหสถชาดก (ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี) 
มโหสถเป็นผู้มีปัญญามาก ช่วยแก้ปัญหาให้คนทั่วไปทั้งด้านโรคภัยไข้เจ็บและตัดสินข้อพิพาทอย่างเป็นธรรม จนได้เป็นที่ปรึกษาของพระราชา ในภาพ เป็นตอนที่เอาชนะศัตรู ๑๐๑ เมือง ที่ยกทัพมาทำศึกโดยอุบายขอเจรจาว่าจะถวายแก้วมณีให้พราหมณ์เกวัฏฏ ที่ปรึกษาทัพใหญ่ (ซ้ายมือ) ขณะยื่นแก้วมโหสถ (ขวามือ) แกล้งทำแก้วมณีหล่น พอพราหมณ์รีบก้มลงเก็บมโหสถจึงเอามือแตะหัวพราหมณ์ไว้ แม่ทัพทั้งปวงมองดูแต่ไกลนึกว่าพราหมณ์ก้มลงกราบมโหสถเป็นการสยบยอม จึงพากันยกทัพกลับไป


๖ ภูริทัตชาดก (ทรงบำเพ็ญศีลบารมี) 
ภูริทัตเป็นนาคที่ปลีกความวุ่นวายจากบาดาลมาจำศีลเมืองมนุษย์ที่จอมปลวกกลางป่า แม้ต่อมาจะถูกมนุษย์จับตัวไปบังคับทุบตีให้เที่ยวเร่ไปแสดงอภินิหารเล่นกลเพื่อหาเงิน ก็ยังคงรักษาศีลไม่โกรธไม่แค้น ในภาพคือตอนที่เนสาทพราหมณ์รับเงินค่าจ้าง (ถุงเงินข้างล่าง) จากอาลัมพายน์พราหมณ์ (ขวา) ให้พามาจับนาคภูริทัต (ขดอยู่ที่จอมปลวก) โดยไม่ฟังคำทัดทานจากลูกชาย (ตัวเล็ก)

๗ จันทกุมารชาดก (ทรงบำเพ็ญขันติบารมี) 
เจ้าชายจันทกุมารผู้ทรงความยุติธรรม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอุปราชว่า ราชการและพิพากษาคดีความ ปุโรหิต กัณฑหาละอดีตผู้พิพากษารู้สึกอับอาย และแค้นเคือง จึงใช้เล่ห์กลทูลพระราชา ผู้ปรารถนาไปสวรรค์ว่าจะต้องทำการบูชายัญ ฆ่าสัตว์ มนุษย์ ตลอดจน ราชบุตรราชธิดาทุกพระองค์ พระราชา หลงเชื่อ จันทกุมารทรงมีขันติแม้รู้ว่า ถูกปองร้ายหมายชีวิต ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องลงมาช่วย ดังในภาพคือลงมาหักฉัตรทำลายพิธีตามคำอ้อนวอนของ พระมเหสี

๘ นารทพรหมชาดก (ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี) 
ในพระชาตินี้ทรงเป็นพรหมบำเพ็ญ อุเบกขาบารมีอยู่บนสวรรค์ยังมีพระราชาองค์หนึ่งหลงผิดเพราะฟังคำของพราหมณ์คุณาชีวกที่ชี้ให้เห็นผิดๆ ว่าบาปบุญเป็นเรื่องไม่จริง จึงเลิกทำบุญทำทานเสีย หันไปเสวยสุขทางกามคุณเต็มที่ พระธิดาชื่อรุจาผู้ทำโรงทานเป็นนิจก็ถูกสั่งยกเลิกเสีย นางทุกข์ใจที่พระบิดาเห็นผิดเป็นชอบจึงอ้อนวอน ให้เทพยดามาช่วย ในภาพคือตอนที่พระนารทพรหมซึ่งมี ๔ หน้า เหาะมาพร้อมคานและสาแหรกหาบภาชนะทอง เพื่อแสดงธรรมโปรดพระราชาให้เห็นบาปบุญคุณโทษและกลับใจได้ในท้ายที่สุด

๙ วิธูรบัณฑิตชาดก (ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี)
วิธูรบัณฑิตเป็นอำมาตย์คนเก่งคู่บารมี ของพระเจ้าสัญชัยฯ ภาพที่เห็นเป็น ตอนเริ่มเรื่องคือพระอินทร์ท้าวสุบรรณราช (ครุฑ) พญานาคราช และพระเจ้า ธนัญชัยฯ เจ้าเมือง กำลังฟังคำตัดสิน จากวิธูรบัณฑิตว่าการปฏิบัติธรรม ของทุกคนดีเท่ากันหมด เรื่องต่อจากนั้นคือมเหสีของพญานาคอยากฟังธรรมจากวิธูรบัณฑิตบ้าง พระธิดาพญานาคให้ปุณณยักษ์ไปท้าเล่นสะกากับพระเจ้าสัญชัยฯ พระเจ้าสัญชัยฯ สัญญาว่าถ้าตนแพ้จะให้ทุกอย่าง ยกเว้นตัวพระองค์ ครอบครัวและราชบัลลังก์ เมื่อปุณณยักษ์เล่นชนะจึงขอตัววิธูรบัณฑิต พระเจ้าสัญชัยฯ บ่ายเบี่ยงว่าวิธูรนั้นเปรียบเหมือนส่วนหนึ่งของพระองค์ แต่วิธูรบัณฑิตตัดสินด้วยสัจจะ แม้จะทำให้ผู้มีบุญคุณเสียพระทัยว่าตนเป็นเพียงทาสโดยกำเนิดและต้องไปเมืองบาดาลกับปุณณยักษ์ แต่ท้ายที่สุดเรื่องก็จบลงด้วยดี มเหสีพญานาคได้ฟังธรรมจากวิธูร บัณฑิตแล้วก็คืนตัววิธูรบัณฑิตให้พระเจ้าสัญชัยฯ ตามเดิม

๑๐ เวสสันดรชาดก (ทรงบำเพ็ญทานบารมี) 
เป็นชาดกในพระชาติสุดท้ายก่อนจะมาเป็นพระพุทธเจ้าที่เรารู้จักกันดี ในภาพ เป็นตอนที่ชูชกมาขอ ๒ พระกุมาร กัณหาและชาลี ขณะที่พระนางมัทรีเข้าไปหาผลไม้ในป่า พระเวสสันดรกำลังหลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนมือชูชก เป็นสัญลักษณ์ว่าทรงให้พระกุมารทั้งสองแก่ชูชกเป็นมหาทาน 

เรื่อง : ผศ.ประเทือง ครองอภิรดี / ภาพ : วัชระชัย ไตรอรุณ
อนุรักษ์แท็บลอยด์ ฉบับที่ ๔๔ มิถุนายน ๒๕๖๔

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / anurakmagazine / อนุรักษ์แท็บลอยด์ / วัดไลย์ / ลพบุรี / ประเทือง ครองอภิรดี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ