Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สองร้อยกว่าปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สยามประเทศได้พบพานกับสิ่งต่างๆ มากมาย บ้างก็เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และที่เป็นปัญหาวิกฤตก็มีมิใช่น้อย แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ที่ได้ทรงประคับประคองรัฐนาวา ฝ่าฟันปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมาได้ ด้วยทรงเป็นหลักชัยและศูนย์รวมใจของชาติและของคนไทยทั้งแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดพระองค์หนึ่ง ที่ได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญประกอบพระราชกรณียกิจอันมากมาย

เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์และผู้ที่ประทับอยู่เคียงข้างตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งรัชกาลนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันยังคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเป็นอเนกอนันต์อย่างหาที่สุดมิได้

“…ความจริงที่ข้าพเจ้ามีกำลังใจและกำลังกายที่จะปฏิบัติหน้าที่รับใช้บ้านเมือง ก็เนื่องด้วยเหตุนึกถึงคำของพ่อที่สอนมาตั้งแต่เล็กๆ”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถกับหม่อมหลวงบัว กิติยากร เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ว่า “สิริกิติ์” เวลานั้นพระบิดาทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการกองทัพบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตมงคล กิติยากร

ทรงเริ่มการศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินีล่าง ต่อมาเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทศไทย ม.ร.ว. สิริกิติ์ จึงต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ในชั้นประถมและมัธยมและได้เริ่มเรียนเปียโนด้วย เมื่อสงครามสงบรัฐบาลได้ทูลขอให้หม่อมเจ้านักขัตมงคลไปเป็นอัครราชทูตไทย ประจำราชสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ในกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ อายุได้ ๑๓ ปี จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๓ แล้ว ได้ติดตามพระบิดาไปอังกฤษด้วย ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษได้เรียนเปียโนเพิ่มเติม พร้อมๆ กับเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ต่อมาก็ต้องย้ายตามพระบิดาไปเดนมาร์คและฝรั่งเศส

ในห้วงเวลาเเดียวกันนั้นเอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จไปกรุงปารีสบ่อยๆ เพื่อทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ ทรงคุ้นเคยกับครอบครัวของหม่อมเจ้านักขัตมงคลและต้องพระราชอัธยาศัย เมื่อเสด็จเข้ารับการรักษาพระองค์ เนื่องจากอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงบัว กิติยากร พาธิดาคือ ม.ร.ว.สิริกิติ์ และม.ร.ว.บุษบา เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ

ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตมงคลและครอบครัวมาเฝ้าฯ แล้วสมเด็จพระราชชนนี ได้รับสั่งขอ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ต่อหม่อมเจ้านักขัตมงคลในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์เป็นพิธีภายในอย่างเงียบๆ แล้วคงให้ศึกษาต่อไป กระทั่งถึงต้นปี ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ นิวัติพระนครเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์หญิงสิริกิติ์ตามเสด็จฯ กลับประเทศไทยด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ครั้นถึงวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้น ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฏหมาย พร้อมกันนั้นได้ประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์” หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จฯ กลับไปยัง สวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงรักษาพระองค์ และทรงศึกษาต่อ กระทั่งมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หลังจากนั้นอีก ๓ เดือน ทุกพระองค์ได้เสด็จนิวัติประเทศไทย

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อผูกมิตรกับประเทศต่างๆ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทุกแว่นแคว้น เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับประมุขของประเทศต่างๆ ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถของประเทศไทยที่มีพระสิริโฉมอันงดงาม ทรงได้รับการยกย่องมีพระปรีชาสามารถ และการวางพระองค์อย่างสง่างาม นับได้ว่าทรงเป็น “พระคู่ขวัญ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยโดยแท้

เมื่อประทับอยู่ในประเทศไทย ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์มิได้ว่างเว้น ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณถึงปัญหานานัปการที่เกษตรกรต้องเผชิญ ทั้งยังส่งเสริมงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในหลากหลายด้าน

ผลงานจากสมาชิกศิลปาชีพมิได้เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์ และเผยแพร่ผลงานล้ำค่าของศิลปะไทยในอดีตแก่สายตาชาวโลกเท่านั้น หากแต่ยังได้ช่วยให้เกษตรกร ชาวนาชาวไร่ มีรายได้เสริมจากผลผลิตการเกษตร จึงสามารถยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในการสร้างผลงานอันสวยงามเหล่านี้ หลายชนิดผลิตจากวัสดุไร้ค่า แม้กระทั่งจากวัชพืชหลายชนิด  

ในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรแต่ละครั้ง โปรดฯ ที่จะประทับนานๆ เพื่อให้ราษฎรได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด เด็กเล็ก คนเฒ่าคนแก่ ใครมีทุกข์ร้อนอะไรก็จะมาเล่าถวาย ทั้งสองพระองค์ก็จะทรงสดับอย่างสนพระราชหฤทัย และทรงแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้กับราษฎรได้ทุกรายไป ต่อมาในระยะหลังเมื่อราษฎรทราบว่าจะเสด็จฯ ไปที่ไหน ราษฎรในละแวกใกล้เคียงต่างก็จะพากันอุ้มลูกจูงหลานพากันมาเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างเนืองแน่น จากจำนวนร้อยกลายเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น ทั้งสองพระองค์จึงจำเป็นที่จะต้องแยกขบวนกันออกไปเพื่อที่จะเยี่ยมเยียนราษฎรได้อย่างทั่วถึง กล่าวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงแยกไปทรงรับฟังและหาหนทางแก้ไขปัญหาหลักเกี่ยวกับเรื่องอนาคตของชุมชนนั้น ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถจะทรงรับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสุขภาพอนามัย ทั้งยังทรงหาทางช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ที่จะช่วยสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัว

มีพระราชดำริว่างานหัตถกรรมในครัวเรือนเป็นงานที่เหมาะสมมาก ด้วยคนไทยมีฝีมือในทางช่าง มีหัวในทางศิลปอยู่แล้ว และในแต่ละท้องถิ่นยังมีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ สนับสนุนงานที่เหมาะสมกับแต่ละภาค เมื่อแปรพระราชฐานไปประทับในภูมิภาคใดก็ทรงเปิดโรงเรียนฝึกอาชีพ จัดครูเข้าไปสอน วัตถุดิบที่ใช้สร้างผลงานแสนสวยเหล่านี้หาได้ในท้องถิ่นทั้งสิ้น ทั้งการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพสกนิกรในท้องถิ่นได้เป็นอย่างมาก งานนี้ได้แพร่หลายกลายเป็นมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ ซึ่งในที่สุดนอกจากจะเกิดประโยชน์โดยตรงแก่สมาชิกฯ ที่ทรงกำกับดูแลด้วยพระองค์เองแล้ว ยังสามารถฟื้นฟูงานศิลปะดั้งเดิมที่สูญหายไปเป็นร้อยๆ ปีได้กลับฟื้นคืนเป็นอีกด้วย เช่น งานทำคร่ำ ถมทอง งานจักสานย่านลิเพา เฉพาะอย่างยิ่งงานผ้า ทั้งผ้าไหมชนิดต่างๆ จก และอื่นๆ มากมาย

กล่าวได้ว่า ทุกแห่งหนที่เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเป็นโครงการอาชีพหลักคือ การทำนาทำไร่ไว้ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ก็จะพระราชทานอาชีพเสริมไว้ควบคู่กัน ความทุกข์ร้อนของราษฎรก็บรรเทาลง

รับสั่งเสมอว่า “…ทำอย่างไร ชาวบ้านเหล่านั้นอยู่รอดได้ จนกว่าจะถึงเวลาที่มีรายได้จากผลผลิตทางเกษตร…”

จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงพบว่า มีราษฎรเป็นจำนวนมากขาดการดูแลในเรื่องสุขภาพอนามัย ทรงมีพระราชดำริว่า เรื่องสุขภาพอนามัยนี้สำคัญ เพราะเกี่ยวพันไปถึงการดำรงชีวิตของครอบครัวด้วย เมื่อทรงพบว่าราษฎรผู้ใดเจ็บป่วย ก็โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ร่วมไปในขบวนเสด็จฯ ทำการรักษา ถ้าผู้ป่วยใดมีอาการมาก ยังไม่อาจรักษาได้ในขณะนั้น เนื่องจากอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ หรือยาที่นำไปไม่ตรงกับการเจ็บป่วย แพทย์ก็จะหาสมุฏฐานของโรค จากนั้นผู้ป่วยก็จะได้รับการส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดหรือที่กรุงเทพฯจนกว่าจะหาย เฉพาะระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๐๘ นั้นมีคนไข้ที่ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ราวสามพันกว่าราย แต่ถ้านับตลอดถึงปัจจุบันก็คงจะนับเป็นหลายหมื่นหลายแสนราย พระมหากรุณาธิคุณนั้น สุดที่จะเปรียบ

โครงการในพระองค์อีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินการอย่างได้ผลทั่วประเทศคือ โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและฟาร์มตัวอย่าง เป็นโครงการที่ดำเนินงานพัฒนาในหลายๆ ด้าน เพื่อช่วยให้ราษฎรที่พระราชทานความช่วยเหลือในชุมชน หรือในโครงการฯ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีแหล่งน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบชลประทานที่เข้าถึงพื้นที่ทำกิน ทำให้ราษฎรสามารถทำการเกษตรได้หลายครั้งในรอบหนึ่งปี โดยใช้พื้นที่ไม่มากแต่ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ และยังมีรายได้เสริมจากงานศิลปาชีพ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ดำเนินการอย่างได้ผลในทุกภูมิภาคของประเทศ

พระเมตตาคุณนั้นมิได้กำหนดวงอยู่แต่เฉพาะหมู่พสกนิกรชาวไทยเท่านั้น พระมหากรุณาธิคุณ แผ่ไพศาลไปยังชาวต่างชาติ ต่างภาษา ที่อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย นับเป็นจำนวนหลายหมื่นคน คนเหล่านี้ต่างได้รับความทุกข์ร้อนแสนสาหัส ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ สิ้นชาติ และทอดอาลัยในชีวิตแล้วโดยสิ้นเชิง

นอกจากจะทรงกำกับดูแลงานดังได้กล่าวมาแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ ยังมีพระราชประสงค์ที่จะแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ที่ทรงให้ความสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา เรื่องน้ำ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ และเพื่อการเพาะปลูกของราษฎร

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า …ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำฉันจะสร้างป่า”

คือ พระราชวาจาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้พระราชทานอย่างเด็ดเดี่ยว มั่นคงในพระราชหฤทัย บังเกิดเป็นโครงการตามพระราชดำริ “ป่ารักน้ำ” และโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยหลายๆ ด้าน คือ ด้านป่าไม้ ด้านพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ด้านป่าชายเลน และด้านคุณภาพชีวิต

ตลอดระยะเวลาค่อนศตวรรษที่ทรงดำรงอยู่ในสถานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในทุกถิ่นฐานที่ทรงทราบว่าประชาชนได้รับทุกข์เข็ญ เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือ โดยมิได้ทรงคำนึงถึงภยันตรายใดๆ จนสามารถกล่าวได้ว่า “ไม่มีที่แห่งหนใดในแผ่นดินนี้ ที่พระองค์มิได้เสด็จฯ ไปพระราชทานพระเมตตา” ด้วยเหตุนี้ราษฎรจึงเทิดทูนพระองค์ว่าเป็น “แม่ของแผ่นดิน” ผู้ทรงเป็นรัตนนารีที่มีพระราชจริยาวัตรงามเลิศ

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชิินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เวียนมาบรรจบอีกปีหนึ่ง ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคลให้พระองค์ทรงพระเจริญและทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง สถิตเป็นร่มโพธิ์ทองของปวงพสกนิกรชาวไทยตราบนานเท่านาน

ขอจงทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
นภันต์ เสวิกุล

อนุรักษ์แท็บลอยด์ ฉบับที่ 46 สิงหาคม 2564

เรื่อง / ภาพ : นภันต์ เสวิกุล

About the Author

Share:
Tags: สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ / ทรงพระเจริญ / วันแม่แห่งชาติ / พระราชกรณียกิจ / นภันต์ เสวิกุล /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ