Sunday, May 19, 2024
ส.พลายน้อย ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

สงกรานต์ งานบุญของชาวบ้าน เมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว ชีวิตช่างเป็นสุขจริงหนอ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 4
เรื่อง: ส.พลายน้อย

สงกรานต์

งานบุญของชาวบ้าน เมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว

ชีวิตช่างเป็นสุขจริงหนอ

การขึ้นปีใหม่วันสงกรานต์ของไทยก็เริ่มต้นด้วยการทำขนมไว้ทำบุญและแจกเพื่อนบ้าน คือแต่ก่อนนั้นคนมีฐานะจะตั้งกระทะใบบัว (กวน)กะละแม (ข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาลจนเป็นสีดำ) บ้านไหนมีลูกสาวก็ไม่ต้องออกปากขอแรงให้ใครมาช่วย มีหนุ่มแย่งกันอาสามาปอกมะพร้าว คั้นกะทิและกวนขนมกันด้วยความเต็มใจ

วันอาทิตย์
ทุงษะเทวี
วันพุธ
มณฑาเทวี
วันเสาร์
มโหธรเทวี
วันจันทร์
โคราคะเทวี
วันพฤหัสบดี
กิริณีเทวี
วันอังคาร
รากษสเทวี
วันศุกร์
กิมิทาเทวี

ชาวบ้านชาวนาแม้จะยากจนก็เป็นสุขตามอัตภาพ มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียงพอเลี้ยงตัวได้ ธรรมชาติก็เป็นไปตามธรรมชาติ จะคลาดเคลื่อนไปบ้างก็นานๆ ครั้งจิตใจผู้คนยังมีความเอื้ออาทรต่อกัน

ชาวนาเกี่ยวข้าว นวดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งเสร็จตั้งแต่เดือนยี่ เดือนสามได้พักเหนื่อยออกไปแสวงบุญไหว้พระบาท เดือนสี่สิ้นปีได้ทำบุญตรุษ ขึ้นเดือนห้า มหาสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ งานใหญ่ที่หนุ่มสาวรอคอย เตรียมใจจะได้สนุกกันเต็มที่ เพราะงานบุญสงกรานต์มีหลายวัน มีกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง

ในสมัยโบราณ วันสงกรานต์ต้องรอให้โหรคำนวณว่าจะตรงกับวันอะไร เพราะยังไม่มีปฏิทินกำหนดวันล่วงหน้าเหมือนในปัจจุบันวันสงกรานต์ขึ้นอยู่กับดวงอาทิตย์ วันขึ้นปีใหม่จึงเคลื่อนไปมาไม่คงที่ เช่น ปีที่กรุงแตกนั้นในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า “วันอังคารขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ วันเนา สงกรานต์ วันกลาง”

ซึ่งนักประวัติศาสตร์ว่าตรงกับวันที่ ๖ เมษายนต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ วันมหาสงกรานต์ก็ยังไม่คงที่ เช่น ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ วันสงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน และในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ก็กลับไปตรงกับวันที่ ๑๑ เมษายนอีกทางราชการต้องมีประกาศบอกทุกปี ต่อมารัฐบาลเห็นว่าเป็นการยุ่งยาก จึงกำหนดวันที่ ๑๓ เมษายนเป็นวันสงกรานต์ เพื่อความสะดวกในการกำหนดวันหยุดราชการ ไม่ต้องประกาศกันทุกปี เพราะมีแจ้งในปฏิทินแล้ว

คำว่า “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า การย่างขึ้น หมายถึงดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีใดราศีหนึ่ง ก็เรียกว่าสงกรานต์ คือในทางโหราศาสตร์ ใน ๑ ปี แบ่งเป็น ๑๒ ราศี (๑๒ เดือน) ดวงอาทิตย์จะผ่านราศีละเดือนจึงมีสงกรานต์ทุกเดือน ฉะนั้นในอินเดียจึงมีสงกรานต์อยู่หลายวัน เช่น มกรสงกรานต์

ซึ่งตรงกับเดือนมฤคศิร เป็นเดือนอ้ายของอินเดีย (อยู่ในราววันที่ ๑๒ – ๑๓ มกราคม) ตามคติของอินเดียถือว่า เป็นวันเริ่มต้นกลางวันของเทวดา และเริ่มต้นกลางคืนของปิศาจบางทีก็เรียกว่า ติลสงกรานต์ (ติล = งา) เป็นการเรียกตามพฤติกรรม คือตามประเพณีฮินดูกล่าวว่า

“ในการนักขัตฤกษ์มกรสงกรานต์นี้ชาวฮินดูทั้งหลายอาบน้ำชำระกายพร้อมด้วยพวกพราหมณ์ แล้วเอาเมล็ดงามาถูตัวเชื้อเชิญพวกพราหมณ์มาเอาหม้ออันเต็มไปด้วยเมล็ดงา และของสิ่งอื่นๆ มอบให้แก่พราหมณ์นั้น ชาวฮินดูทั้งหลายนุ่งห่มผ้าใหม่และตกแต่งเครื่องประดับ และเอาเมล็ดงาคลุกกับน้ำตาลทรายจ่ายแจกกัน”

การขึ้นปีใหม่วันสงกรานต์ของไทย เริ่มต้นด้วยการทำขนมไว้ทำบุญและแจกเพื่อนบ้านคือแต่ก่อนนั้น คนมีฐานะจะตั้งกระทะใบบัว(กวน) กะละแม (ข้าวเหนียวกวนกับกะทิและน้ำตาลจนเป็นสีดำ) บ้านไหนมีลูกสาวก็ไม่ต้องออกปากขอแรงให้ใครมาช่วย มีหนุ่มแย่งกันอาสามาปอกมะพร้าว คั้นกะทิและกวนขนมกันด้วยความเต็มใจ

กะละแมเป็นขนมกวนประจำปี ที่ทำเฉพาะในเวลาทำบุญสงกรานต์ ขนมที่ทำในเทศกาลตรุษก็คือ ข้าวเหนียวแดง ใช้ข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาลเหมือนกัน แต่ไม่เหนียวอย่างกะละแม วันตรุษกับวันสงกรานต์ใกล้กัน บางทีก็มีทั้ง ๒ อย่าง และเป็นขนมที่เก็บไว้ได้หลายวันจึงต้องเตรียมกวนไว้ก่อน

เรื่องที่สาวๆ เป็นกังวลอีกอย่างก็คือเครื่องแต่งตัว ต้องเตรียมชุดใหม่ๆ ไว้แต่งเพราะเป็นโอกาสที่จะได้แต่งอวดโฉมกันปีละครั้ง ขึ้นปีใหม่ ก็เปลี่ยนใช้ของใหม่กันทีหนึ่ง

ได้กล่าวมาแล้วว่า ตรุษทำบุญสิ้นปี และสงกรานต์ทำบุญขึ้นปีใหม่ แต่กิจกรรมที่ทำในเทศกาลสงกรานต์มีมากกว่าในวันตรุษ คนส่วนมากจะคิดถึงวันสงกรานต์มากกว่าและทำกันอย่างเต็มที่ อย่างนางพิมไปทำบุญที่วัดป่าเลไลย์ในวันสงกรานต์ มีกลอนว่า

“ฝ่ายว่านางพิมมีศรัทธา
กล้วยขนมส้มซ่าใส่ถาดใหญ่
หยิบขันข้าวบาตรเดินนาดไป
ใส่แต่หัวโต่งลงมาพลัน
ฯลฯ
หมูผัดปลาแห้งทั้งแกงไก่
ไข่พอกซีกใหญ่ใส่อักโข
ไส้กรอกปลาแห้งแตงโม
แกงโถหนึ่งใส่ให้พอแรง”

บ้านนางพิมเห็นจะไม่ได้กวนกะละแมจึงไม่มีกล่าวไว้ บางทีจะยังไม่นิยมก็ได้เรื่องขนมนี้มีเรื่องมาก จะไม่กล่าวถึงในที่นี้

เทศกาลสงกรานต์ตามปกติมี ๓ วัน บางปีก็มี ๔ วัน แล้วแต่นางสงกรานต์จะมาเวลาใด แต่โดยทั่วๆ ไปในภาคกลางจะมี ๓ วัน คือวันสงกรานต์ วันเนาและวันเถลิงศกวันทำบุญวันแรกจะดูเต็มที่สักหน่อยอย่างที่นางพิมจัด เพราะเป็นคนมีฐานะ ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา ก็มีเพียงข้าวขัน แกงโถ ของหวานก็มีเพียงอย่างเดียว ถึงอย่างนั้นพระก็ยังไม่มีภาชนะให้ใส่ เพราะคนไปทำบุญกันมาก

พอถึงวันเนา คือวันที่สอง ทำบุญ ตักบาตรในตอนเช้าแล้ว บางถิ่นก็จะนำที่บรรจุกระดูกบรรพบุรุษจากบ้านมาบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ตอนบ่ายหนุ่มสาวก็จะช่วยกันขนทรายจากหาดทรายริมแม่น้ำมากองไว้ที่ลานวัด วันที่สามนี้เรื่องมากขึ้น เพราะบางถิ่นนำอัฐิบรรพบุรุษมาบังสุกุลในวันนี้ ตอนบ่ายมีก่อเจดีย์ทราย

About the Author

Share:
Tags: วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 4 / สงกรานต์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ