Sunday, May 19, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป

ฉลอง ปี ๖๖๖ ปี พระมหาธาตุภูเพียงแช่แห้ง

“เมื่อยามตะวันเบิกฟ้าแห่งวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๒
กังสดาลลั่นเสียงก้องกังวาน
ขานรับด้วยเสียงเครื่องลมอันกู่ก้อง
เป่าผ่านมหาสังข์ งาช้าง และเขาสัตว์บังเกิดบรรยากาศ เข้มขลังขึ้นในบัดดล”

พระธาตุแช่แห้ง

“แจ้” เป็นคำล้านนาโบราณ แปลว่า เจียง หรือ เมือง คนเมืองเหนือเรียก “แจ้แห้ง” แปลว่า เมืองที่น้ำไม่ท่วมเพราะ ตั้งอยู่บนเนินดอยภูเพียง สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าขาก่าน เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๔ องค์ อันได้มาจากพญาลิไท แห่งเมืองพันธมิตร สุโขทัย ผ่านการถูกทิ้งร้างถูกค้นพบและบูรณะใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่าให้ใหญ่ขึ้นงามขึ้น โดยผู้มาครองเมืองน่านสมัยต่างๆ มีทั้งเงี้ยว พม่า และไทย แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ที่น้อมนำให้เกิดศรัทธาแก่ทุกผู้ทุกนาม ที่มาอยู่เมืองน่านสืบมาจนปัจจุบัน บัดนี้พระธาตุแช่แห้งมีอายุครบรอบ ๖๖๖ ปีแล้ว จึงควรแก่การฉลองอย่างยิ่ง

ยามเช้า..
เชิญเครื่องสักการะพระราชทาน

ริ้วขบวนตระการตาอันตกแต่งด้วยศิลปะ ล้านนา อัญเชิญเครื่องสักการะพระธาตุมาบน เสลี่ยงบุษบกทรงปราสาท ประดับดอกไม้งดงาม เคียงด้วยเครื่องสูงแบบล้านนา มีสัปทน บังแทรก บังสูรย์ พู่จามรี พุ่มดอกไม้ บรรดาพนักงานแบกเสลี่ยงเชิญเครื่องสูง ในขบวนทุกคนทุกนางแต่งกายแบบไทยลื้อสวยงาม

เครื่องสักการะพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ประกอบด้วยน้ำสรงพระธาตุจาก แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ผ้าห่มพระธาตุ และผ้าไตร ยังมีเครื่องสักการะพระราชทานจากสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันได้แก่ น้ำสรง และผ้าไตรด้วย

ริ้วขบวนเคลื่อนมาตามถนน มาหยุดอยู่ตรงเนินระหว่างพญานาคคู่ อันเป็นทางขึ้นสู่พระธาตุแช่แห้ง ทางขึ้นที่นี่ไม่เป็นบันไดนาค เหมือนที่อื่น แต่เป็นเนินทางลาดอันกว้างขวาง ขนาบด้วยนาคคู่ทอดยาวขึ้นไปสู่พระธาตุ

เมื่อขบวนหยุดแล้ว เสียงมหาสังข์และ เครื่องเป่าเขาสัตว์ก็กังวานขึ้น พ่อหมอในพิธีคือ ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ก็ “อื่อกั่นโลง” (ร่ายโคลง) ถวายสักการะเป็นคำเมืองล้านนา จบแล้ว วงดนตรีล้านนาออร์เคสตราซึ่งผสม ผสานเครื่องดนตรีล้านนากับสากลก็บรรเลง ขึ้น นางรำออกมาร่ายรำโปรยดอกไม้ นางรำกลุ่มหนึ่งใส่หน้ากากขาว นัยว่าจะเป็นนางฟ้า ก็ออกมาฟ้อน ตามด้วยสัตว์ต่างๆ เช่น พญา กระต่าย นกกิงกะหล่า นกยูง และโตกลิ้งล่อแก้ว ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ของไทยใหญ่ล้านนาก็ออกมาจับระบำเป็นการแสดงความยินดีต้อนรับเครื่องสักการะ เมื่อระบำต่างๆ จบลง ขบวนเครื่องสักการะจึงได้เคลื่อนขึ้นสู่บริเวณ หน้าพระธาตุ ซึ่งตั้งเป็นเวที มีปราสาทลมทำด้วยไม้ไผ่สานโปร่ง ๓ หลัง

พนักงานเชิญเครื่องสักการะพระราชทาน ต่างๆ ขึ้นประดิษฐานบนปราสาทลมหลังใหญ่หลังกลาง เพื่อรอทำพิธีสมโภชต่อไปในภาคค่ำ ส่วนพวกบรรดานางฟ้อนนางรำและเหล่า พนักงานหามเสลี่ยงทั้งหลายก็พากันแยกย้ายไปถ่ายรูปหมู่ รูปคู่ รูปเดี่ยว เก็บไว้เป็นที่ระลึก ก่อนที่จะเปลื้องชุดสวยกลายร่างเป็นชุด ธรรมดาของตน ผ้าซิ่นนางรำบางนางเป็น ซิ่นพม่า “ลุนตยาอะฉิก” ผืนหนึ่งเป็นหมื่นเป็นแสน พนักงานฝ่ายดูแลเครื่องแต่งกายมาเร่ง ให้รีบๆ ถ่ายรูปและรีบถอดออก ต้องตามเก็บ ตามพับและนับให้ครบจำนวน และยังมีเครื่อง แต่งกายเครื่องหย้องถนิมพิมพาภรณ์แบบล้านนาอีกเล่า จึงควรจะเปลื้องเครื่องก่อนจะ พากันไปกินข้า กินน้ำที่เตรียมไว้ มิให้น้ำเงี้ยว น้ำแดงกระเด็นเปื้อนชุดรำอันสวยงามเลอค่า พวกพนักงานแบกเสลี่ยงเชิญเครื่องสูงก็กลาย ร่างกลับเป็นทหารในชุดวอร์มยูนิฟอร์มเหมือน กันหมด บรรดานางรำเปลื้องแต่เครื่องแต่งกาย ส่วนหน้าตาอันแต่งไว้ดีแล้วยังไม่ล้าง เสียดาย ก็กินน้ำเงี้ยวดูดโค้กทั้งๆ ที่หน้าขาว ปากแดง ตาหวานฉ่ำนั่นเอง

แห่เครื่องสักการะอันสวยงามก็สิ้นสุดลง ด้วยประการฉะนี้ จบรายการช่วงเช้าแล้วใคร จะไปไหนก็ไป

เมืองน่านมีที่ให้เที่ยวเตร่มากมาย แล้วกลับมาเจอกันอีกตอนค่ำ

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / เที่ยวไปรักษ์ไป / anurakmagazine / พระธาตุแช่แห้ง / travel / พระมหาธาตุภูเพียงแช่แห้ง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ