Monday, May 20, 2024
Events

แม่ – ภารกิจกลางเวหา – หมาจิ้งจอกของ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ในวาระครอบรอบ 80 ปีเจ้าชายน้อย

เรื่อง: สุมิตตา การะเกตุ
ภาพประกอบ: อ่าน101

          ‘เจ้าชายน้อย’ (The Little Prince) เป็นวรรณกรรมฝรั่งเศสเขียนโดย อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) ที่ครองใจนักอ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก

          ในวาระครบรอบ 80 ปีเจ้าชายน้อย สำนักพิมพ์ อ่าน 101 ได้เชิญชวนคนรักเจ้าชายน้อยร่วมงานเสวนา “แม่ – ภารกิจกลางเวหา – หมาจิ้งจอกของ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี” ที่ร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ สาขาเซ็นทรัลเวิร์ล วันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00-16.00 น. โดยมีนักแปลที่มีชื่อเสียงมาร่วมพูดคุยอย่าง รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร ผู้แปลนักบินรบ, จดหมายถึงแม่ และบรรณาธิการต้นฉบับเจ้าชายน้อย, คุณแพรณัฐ ทิพยวไลย์ ทวีพาณิชย์ ผู้แปลเจ้าชายน้อย และคุณสุพจน์ โล่คุณสมบัติ แฟนตัวยงนักสะสมเจ้าชายน้อย และผู้จัดทำเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นฉบับต่าง ๆ ในประเทศไทย

          ความน่าประทับใจอยู่ที่ก่อนเข้างานจะมีเจ้าหน้าที่คอยแจกโปสต์การ์ด 80 ปีเจ้าชายน้อย ออกแบบโดย Apolar หรือนักวาดชาวไทยผู้ออกแบบลายเส้นบนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับครบรอบ 20 ปี แก่เหล่าบรรดาแฟนคลับและสื่อมวลชนที่เดินทางมาถึง จากนั้นจึงมีพิธีกรดำเนินรายการอย่าง คุณบีเบนซ์ – พงศธร ธิติศรัณย์ กล่าวเปิดงานและเริ่มสัมภาษณ์ผู้แปล

          บรรยากาศระหว่างการพูดคุยเต็มไปด้วยความคึกคัก เริ่มจากคุณสุพจน์เล่าถึงความหลงใหลขณะที่กำลังอ่านหนังสือ เจ้าชายน้อย และข้อคิดที่ได้รับ เขากล่าวว่า “ทุกบทของเจ้าชายน้อยซ่อนให้เราคิดถึงเรื่องชีวิต ความรัก มิตรภาพ ซึ่งเป็นเรื่องรอบตัวของเราทั้งสิ้น ยิ่งอ่านไปและได้ย้อนกลับมาอ่านใหม่จึงทำให้รู้ว่าทำไมถึงเป็นหนังสือในดวงใจของใครหลายๆคน” และนอกเหนือจากนั้น คุณสุพจน์ยังเล่าถึงหนังสือที่จัดทำด้วยตัวเองอย่าง เจ้าชายน้อย ฉบับภาษาถิ่นล้านนา ถูกนำไปแสดงที่นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ Lourve ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือว่าเป็น 1 ในความภาคภูมิใจของหนังสือภาษาถิ่นไทยที่เผยแพร่สู่สากลโลกเลยก็ว่าได้

          จากนั้นพิธีกรจึงถาม รศ.ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร ถึงมุมมองของผู้แปลนักบินรบ เธอกล่าวว่า “การแปลหนังสือเล่มไหนก็ตาม เราจะต้องรู้บริบทวัฒนธรรมในช่วงที่เขาแต่งหนังสือเรื่องนั้น ๆ สำหรับแซ็งเต็กซูเปรีเราต้องรู้จักประวัติของเขา เพราะจะออกมาในหนังสือในลักษณะกึ่งชีวประวัติ ในรูปแบบของนวนิยาย เพราะฉะนั้นการแปลจึงต้องศึกษาทั้งประวัติ บริบทสังคม และวิธีการบิน นั่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย”        

          คุณแพรณัฐเสริม “การเป็นนักแปลเราต้องไม่ละทิ้งวัยเด็กของเราไปและยังต้องคงความสดใสเอาไว้ด้วย แต่ขณะเดียวกันเราต้องเพิ่มความลุ่มลึกที่มีเขียนลงไปในงานให้ได้” ดังนั้นการเสวนาในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงมุมมองของผู้แปลที่มีต่องานเขียนของพวกเขา

          บรรยากาศดำเนินต่อไปท่ามกลางกลุ่มคนที่หลงใหลในงานเขียนของแซ็งเต็กซูเปรี และภาษาที่สละสลวยจากการแปลของทั้ง 3 ท่าน จนเมื่องานเสวนาจบลงจึงเปิดโอกาสให้แฟนคลับของเจ้าชายน้อย ฯ ได้ร่วมพูดคุยกับผู้แปลเป็นการส่วนตัว รวมถึงถ่ายรูป ขอลายเซ็น และสวมกอดได้อีกด้วย เรียกได้ว่าใครที่ชื่นชอบงานเขียนของพวกเขา เมื่อได้เข้าร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้จะต้องหลงใหลและในรักการอ่านมากยิ่งขึ้นไปอีกแน่นอน

About the Author

Share:
Tags: ร้านอาหาร / หนังสือ / เจ้าชายน้อย / littleprince / 80ปีเจ้าชายน้อย / อ่าน101 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ