Saturday, May 18, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

พระสาทิสลักษณ์ ๓ เจ้าฟ้า งานศิลปะที่ทรงคุณค่ามากกว่าความสุนทรีย์

พระสาทิสลักษณ์ ๓ เจ้าฟ้า

งานศิลปะที่ทรงคุณค่า
มากกว่าความสุนทรีย์

 ย้อนไปในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5  การที่ใครก็ตามจะสามารถมีภาพเหมือนตัวเอง ถูกวาดใส่กรอบแขวนประดับผนังได้นั้นเป็นเรื่องสุดพิเศษ เวรี่วีไอพีมากๆ ยุคนั้นจิตรกรบ้านเราที่วาดภาพเหมือนบุคคลได้ดีแทบจะไม่มี ไม่ใช่เพราะชาวสยามไม่เก่งแต่เป็นเพราะการวาดภาพแบบนี้เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่เพิ่งหลั่งไหลเข้ามา เราเลยยังไม่ได้ริเริ่มฝึกฝนกัน ด้วยเหตุนี้ศิลปินที่ถูกว่าจ้างมารับงานวาดภาพเหมือนบุคคลในสมัยนั้นถึงต้องอิมพอร์ตมาจากเมืองนอก ผู้ที่มีคอนเนคชั่นและทรัพย์สลิงคารเพียงพอจะมีภาพวาดตัวเองได้จึงมีแค่เจ้าขุนมูลนาย และข้าราชการชั้นสูงปรี๊ด


หนึ่งในภาพเหมือนบุคคลอันหาดูยากจากกว่าศตวรรษก่อน ที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันคือภาพวาด หรือ ‘พระสาทิสลักษณ์’ ในขณะทรงพระเยาว์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา, และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ซึ่งทั้ง 3 พระองค์นี้เป็น เป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาในในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระวิมาดาเธอพระองค์เจ้าสายสววลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา 

พระสาทิสลักษณ์ที่ศิลปินบรรจงวาดด้วยสีน้ำมันลงบนผ้าใบอย่างช่ำชองนี้ นอกจากจะสมจริงมีชีวิตชีวา เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ มีการเล่นแสงเงา และจัดองค์ประกอบได้อย่างมีชั้นเชิง สร้างความสุนทรีย์ในทางศิลปะให้แก่ผู้ที่ได้ยลเป็นบุญตาแล้ว ยังเป็นเสมือนหน้าประวัติศาสตร์บันทึกสตอรี่ของคนในสมัยนั้น ให้คนในสมัยนี้อย่างเราๆท่านๆได้เรียนรู้กันอีกด้วย

มาลองพิจารณากันว่าพระสาทิสลักษณ์ได้บอกเล่าอะไรไว้บ้าง มองปร๊าดจากทางด้านซ้ายเราจะเห็นเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรในท่าประทับยืนฉลองพระองค์ในชุดสูทสีเข้ม ทรงพระมาลา ชุดแบบนี้เป็นชุดเครื่องแบบที่นักเรียนในโรงเรียนฝรั่งเขาใส่กัน ถ้าชั้นเล็กๆยังเป็นเด็กเขาจะให้ใส่กางเกงขาสั้น พอขึ้นชั้นโตๆถึงจะเปลี่ยนเป็นกางเกงขายาว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งปณิธานที่จะเห็นบ้านเมืองสยามเจริญทัดเทียมชาติตะวันตก ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลพระองค์จึงทรงส่งพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้นำความรู้ทุกแขนงกลับมาช่วยชาติ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรก็เป็นอีกพระองค์หนึ่งซึ่งทรงสำเร็จการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ การปกครอง และสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ก่อนจะทรงเสด็จกลับมารับราชการสร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติเหลือคณานับ


พระราชธิดาที่ประทับอยู่ตรงกลางคือ เจ้าฟ้านิภานภดล และที่ประทับอยู่ด้านขวาคือ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา เห็นได้ว่าฉลองพระองค์ของเจ้าฟ้าทั้ง 2 ตัดเย็บด้วยผ้าลูกไม้แบบตะวันตก เจ้าฟ้านิภานภดลทรงฉลองพระองค์แบบมีระบายคลุมที่ต้นแขน ในขณะที่เจ้าฟ้ามาลินีนภดาราทรงฉลองพระองค์แบบพองที่ต้นแขนแล้วแคบลงมาถึงข้อศอก ซึ่งฝรั่งเขาเรียกว่า ‘Leg of Mutton Sleeve’ หรือ ‘แขนแบบขาแกะ’ แต่ในบ้านเรากลับเรียกเสื้อสไตล์นี้ว่า ‘เสื้อแขนหมูแฮม’ แฟชั่นแบบนี้เริ่มฮิตกันในราชสำนักสยามตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2440 เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกและนำเทรนด์นี้มาเผยแพร่ในหมู่เจ้านาย โดยเราไม่ได้ก๊อปของเขามาเพียวๆ แต่มีการประยุกต์นิดหน่อยให้เข้ากับวัฒนธรรมและดินฟ้าอากาศของสยาม ถ้าในยุโรปสมัยวิคตอเรียสุภาพสตรีจะใส่เสื้อลูกไม้คู่กับกระโปรงทรงสุ่มยาวๆบานๆ ส่วนของบ้านเราเสื้อแบบเดียวกันจะใช้สวมคู่กับโจงกระเบน โชว์ถุงเท้ายาว และรองเท้าคัทชูว์ ดูแปลกตาน่ารักดีไม่มีใครเหมือน
 
จริงๆแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ มีพระราชโอรส และพระราชธิดา 4 พระองค์ ที่มีพระนามคล้องจองกันอย่างเพราะพริ้งว่า ยุคลทิฆัมพร นภาจรจำรัสศรี มาลินีนภดารา นิภานภดล เป็นที่น่าเศร้าที่เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรีสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่มีพระชันษาเพียง 5 ปี เป็นเหตุให้พระสาทิสลักษณ์ที่กำลังเล่าถึงนี้เหลือเจ้าฟ้าเพียง 3 พระองค์ 

เรื่องราวของบุคคลในภาพนั้นสามารถจะเล่าต่อไปได้อีกมากมาย ในทางกลับกันรายละเอียดของศิลปิน และวันเวลาที่วาดกลับไม่มีข้อมูลเลยซักกะติ๊ด ลายเซ็นก็ไม่เห็น ปีก็ไม่บอก ถ้าต้องเดาว่าใครวาดสารภาพเลยว่ายากส์เพราะศิลปินฝรั่งฝีมือระดับนี้ที่ถูกเชื้อเชิญให้มาทำงานในเมืองไทยมีอยู่หลายคน แต่ถ้าจะให้ระบุแค่เรื่องวันเวลานี่พอจะมีสิทธิ์ สังเกตดูได้จากทรงพระเกศาของเจ้าฟ้ามาลินีนพดาราไว้ทรงพระเกศาเป็นจุก วัฒนธรรมเกี่ยวกับการให้เด็กทั้งชายและหญิงไว้ผมจุกนั้นมีมาตั้งแต่โบราณโดยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ ด้วยความเชื่อที่ว่าเทพเจ้าของอินเดียแทบทุกองค์ต่างก็ขมวดผมเป็นมวยไว้กลางศีรษะ การให้เด็กไว้ผมทรงเดียวกันนี้จะช่วยให้มีเทพเจ้าคุ้มครองให้มีชีวิตรอดปลอดภัย พอเด็กโตขึ้นจะเปลี่ยนทรงผมเอาจุกออกก็ไม่ใช่จะไปเข้าบาร์เบอร์ที่ไหนเวลาใดก็ได้ ต้องใจเย็นๆรอให้ถึงวัยที่เหมาะสมก่อน ถ้าเป็นเด็กผู้ชายเขาจะโกนจุกกันตอนอายุ 11 ถึง 13 ปี ถ้าเป็นเด็กผู้หญิงพออายุ 11 ปีก็ให้โกนเลยเพราะผู้หญิงโตเร็วกว่าผู้ชาย ส่วนพิธีกรรมก็จะจัดกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเรียกว่า ‘พิธีโกนจุก’ หรือถ้าเป็นเชื้อพระวงศ์จะเรียกว่า ‘พิธีเกศากันต์’ ซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อแสดงว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นได้เริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว หากดูจากภาพวาดอาจสงสัยว่าทำไมเจ้าฟ้านิภานภดลซึ่งมีพระชันษาอ่อนกว่าเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา 1 ปี ถึงไว้ทรงพระเกศาแบบปกติทั้งๆที่ยังไม่ได้ผ่านพระราชพิธีโสกันต์ เรื่องนี้มีอยู่ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระราชนิยมตามอย่างตะวันตกโดยให้พระราชธิดาที่ทรงพระเยาว์ไว้ทรงพระเกศาแบบสากล และจะเปลี่ยนเป็นทรงพระเกศาแบบจุกเพื่อเตรียมเข้าพิธีเท่านั้น


ที่เล่าถึงเรื่องจุกมาซะยาวเฟื้อยเพราะจุกนี่แหละที่จะสามารถบ่งบอกปีที่วาดภาพนี้ได้อย่างเป๊ะๆ ในเมื่อเจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ประสูตเมื่อปีพ.ศ. 2428 เลยพอจะสรุปคร่าวๆได้ว่าห้วงเวลาที่พระสาทิสลักษณ์องค์นี้ถูกวาดนั้นเกิดขึ้นไม่นานก่อนพระราชพิธีโสกันต์ของเจ้าฟ้ามาลินีนภดาราเมื่อมีพระชันษาย่างเข้า 11 ปีในพ.ศ. 2438 

ผ่านฝนผ่านร้อนมากว่าศตวรรษภาพวาดสีน้ำมันที่ว่าทนทายาดเมื่อต้องมาเจอสภาพอากาศที่ทั้งชื้นทั้งร้อนจนตับแทบแลบแบบทรอปิคอลของบ้านเรา ถึงจะเก็บรักษาดียังไงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผลงานศิลปะประเภทนี้เสมอคือ พื้นผิวสีน้ำมันจะเริ่มเกิดรอยแตกร้าว ผ้าใบจะคลายตัวหย่อนยาน น้ำยาวานิชที่ถูกเคลือบไว้เพื่อรักษาสภาพสีจากที่เคยใสๆก็จะเริ่มขุ่นหมองเปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองๆบดบังภาพวาดจนดูขมุกขมัว พระสาทิสลักษณ์ของเจ้าฟ้าองค์น้อยก็ประสบปัญหาเหล่านี้เช่นเดียวกัน จึงได้เวลาแล้วที่จะต้องส่งเข้าศูนย์เซอร์วิสเช็คระยะ โดยผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้ยกเครื่องผลงานศิลปะชิ้นสำคัญชิ้นนี้ใหม่เป็นชาวฝรั่งเศสที่มีประสบการณ์สูงในการอนุรักษ์ผลงานศิลปะของประเทศไทย

และแล้วไคลแมกซ์ของเรื่องก็บังเกิด เมื่อผู้เชี่ยวชาญค่อยๆถอดกรอบรูปเก่ากึ๊กออกจากพระสาทิสลักษณ์เพื่อเริ่มปัดกวาดคราบไคล ก็พลันเหลือบไปเห็นลายเซ็นเล็กๆอยู่บริเวณมุมซ้ายล่างเกือบตกขอบตรงที่กรอบเคยบังไว้ พอเล็งดูใกล้ๆก็เห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า ‘Turchi’ ชัดแจ๋ว เข้าทางล่ะทีนี้ฝรั่งชื่อ ‘เทอร์ชี่’ ในเมืองไทยคงมีไม่มาก และก็เป็นจริงอย่างที่คาดเพราะมีศิลปินชาวอิตาเลียนนามว่า ‘จูเซปเป้ เทอร์ชี่’ (Giuseppe Turchi) เดินทางเข้ามาทำงานอยู่ในสยาม ณ ช่วงเวลานั้นพอดิบพอดี เทอร์ชี่นี่ไม่ใช่ไก่กาอาราเร่ เพราะในปี พ.ศ. 2403 ด้วยวัยเพียง 20 หลังจากได้รับปริญญาด้านศิลปะจากสถาบันอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงอย่าง Accademia di San Luca ในกรุงโรมแล้ว เทอร์ชี่ก็ได้ตระเวนรับงานสำคัญๆทั่วอิตาลี สร้างทั้งผลงานสีน้ำมัน และผลงานภาพวาดบนปูนเปียก หรือที่เรียกว่า เฟรสโก (Fresco) เพื่อใช้ประดับโบสถ์วิหาร ปราสาทราชวังมากมาย เดินสายจนพอร์ตโฟลิโอหนาปึ๊ก ก่อนจะถูกทาบทามจากราชสำนักสยามให้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาช่วยวาดภาพประดับปราสาทราชวังที่กำลังสร้างใหม่ในกรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอยู่นาน ก่อนจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2438 ปีเดียวกันกับที่วาดพระสาทิสลักษณ์ 3 เจ้าฟ้าขึ้นมาและแล้วไคลแมกซ์ของเรื่องก็บังเกิด เมื่อผู้เชี่ยวชาญค่อยๆถอดกรอบรูปเก่ากึ๊กออกจากพระสาทิสลักษณ์เพื่อเริ่มปัดกวาดคราบไคล ก็พลันเหลือบไปเห็นลายเซ็นเล็กๆอยู่บริเวณมุมซ้ายล่างเกือบตกขอบตรงที่กรอบเคยบังไว้ พอเล็งดูใกล้ๆก็เห็นตัวอักษรภาษาอังกฤษเขียนว่า ‘Turchi’ ชัดแจ๋ว เข้าทางล่ะทีนี้ฝรั่งชื่อ ‘เทอร์ชี่’ ในเมืองไทยคงมีไม่มาก และก็เป็นจริงอย่างที่คาดเพราะมีศิลปินชาวอิตาเลียนนามว่า ‘จูเซปเป้ เทอร์ชี่’ (Giuseppe Turchi) เดินทางเข้ามาทำงานอยู่ในสยาม ณ ช่วงเวลานั้นพอดิบพอดี เทอร์ชี่นี่ไม่ใช่ไก่กาอาราเร่ เพราะในปี พ.ศ. 2403 ด้วยวัยเพียง 20 หลังจากได้รับปริญญาด้านศิลปะจากสถาบันอันเก่าแก่และมีชื่อเสียงอย่าง Accademia di San Luca ในกรุงโรมแล้ว เทอร์ชี่ก็ได้ตระเวนรับงานสำคัญๆทั่วอิตาลี สร้างทั้งผลงานสีน้ำมัน และผลงานภาพวาดบนปูนเปียก หรือที่เรียกว่า เฟรสโก (Fresco) เพื่อใช้ประดับโบสถ์วิหาร ปราสาทราชวังมากมาย เดินสายจนพอร์ตโฟลิโอหนาปึ๊ก ก่อนจะถูกทาบทามจากราชสำนักสยามให้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาช่วยวาดภาพประดับปราสาทราชวังที่กำลังสร้างใหม่ในกรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานอยู่ต่างบ้านต่างเมืองอยู่นาน ก่อนจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2438 ปีเดียวกันกับที่วาดพระสาทิสลักษณ์ 3 เจ้าฟ้าขึ้นมา

สิ้นความสงสัยเสียที ฟันธงได้แล้วว่า จูเซปเป้ เทอร์ชี่ คือผู้ฝากผลงานชิ้นนี้ไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน จะว่าไปแล้วการนำจิตรกรที่มีชื่อจากประเทศที่เป็นต้นตำรับศิลปะตะวันตกมาวาดภาพเหมือนให้นั้นเป็นเรื่องที่มีรสนิยมมากโดยเฉพาะในมุมมองของชาวยุโรปซึ่งสมัยนั้นล้วนเป็นชาติมหาอำนาจกันทั้งนั้น การกระทำเช่นนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อสนองพระราชนิยม แต่ยังแฝงไว้ด้วยกุศโลบายในการเบลนด์อินสร้างภาพลักษณ์ของสยาม เช่นเดียวกับการเปิดรับวัฒนธรรม ประเพณี และวิทยาการอื่นๆเข้ามา เพื่อส่งเสริมให้บ้านเราดูเจริญในสายตาของประเทศนักล่าอาณานิคมที่นิยมมองโลกอย่างแคบๆว่าอะไรเหมือนตูถึงเรียกว่ามีอารยธรรม พอสยามดูชอบอะไรคล้ายๆกัน ดูคุยกันรู้เรื่อง เป็นพวกเดียวกันได้ แถมยังมีเพื่อนฝรั่งรุ่นใหญ่ทั้งพระราชา พระราชินี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงไปผูกมิตรไว้อีกเพียบ คราวนี้จู่ๆประเทศไหนจะมาอ้างว่าเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนมีแต่คนป่าแก้ผ้าขี่ช้างแล้วจะถือวิสาสะยึดเป็นเมืองขึ้นซะดื้อๆก็คงต้องคิดหนัก

อาจฟังดูยิ่งใหญ่ แต่คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวได้ว่าพระสาทิสลักษณ์องค์นี้ถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของภาพจิ๊กซอว์แผ่นใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยยังคงมีเอกราชตราบจนปัจจุบัน


เรื่อง • ตัวแน่น
ภาพ • คมสัน ศรียะพันธ์

About the Author

Share:
Tags: พระสาทิสลักษณ์ 3 เจ้าฟ้า / จูเซปเป้ เทอร์ชี่ / นิตยสารอนุรักษ์ / Giuseppe Turchi / อนุรักษ์ / เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร / ชื่นชมอดีต / เจ้าฟ้านิภานภดล / anurakmagazine / เจ้าฟ้ามาลินีนพดารา / ศิลปะ / ตัวแน่น / อนุรักษ์แท็บลอยด์ / อนุรักษ์ออนไลน์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ