Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

กระจก กาลิเลโอ คินี สะท้อนแสงสีแห่งสยาม

เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

ภาพวาดบนกระจกสีโดย กาลิเลโอ คินี เพื่อใช้ตกแต่ง วิลล่าสกาลินี

เมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปในงานเวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ซึ่งเป็นงานแสดงผลงานศิลปะยิ่งใหญ่ระดับนานาชาติที่จัดขึ้นทุก ๒ ปีในนครเวนิส ประเทศอิตาลี และนับว่าเป็นงานแสดงศิลปะที่เก่าแก่ที่สุด เพราะผ่านมาแล้วกว่าร้อยปี ปัจจุบันงานนี้ก็ยังคงจัดอยู่อย่างต่อเนื่อง ณ งานแสดงครั้งนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๕ ของเราได้ทรงทอดพระเนตรเห็นผลงานศิลปะฝีมือ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) จิตรกรหนุ่มอิตาเลียนจากเมืองฟลอเรนซ์ผู้มีฝีไม้ลายมือโดดเด่น และเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก

ด้วยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๕ หลังจากนั้นคินีจึงถูกทาบทามโดยราชสำนักให้เดินทางมาสร้างสรรค์ผลงานประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมที่กำลังก่อสร้าง คินีตอบตกลงและเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากอิตาลีมาถึงสยามในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ และใช้เวลาราว ๒ ปีกว่างานตกแต่งต่างๆ โดยเฉพาะจิตรกรรมบนเพดานโดมพระที่นั่งจะแล้วเสร็จ

กาลิเลโอ คินี ภาพจาก commons.wikimedia.org

เพื่อจะออกแบบภาพวาดและรายละเอียดต่างๆ ออกมาให้ได้ คินีต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก ศึกษาทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมของชาวสยามที่ท่านไม่คุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย จนในที่สุดคินีก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานในพระที่นั่งอนันตสมาคมให้เสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และกลายเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญที่สุดในชีวิต โดยงานของคินีในพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นพิเศษตรงที่มีกลิ่นอายของศิลปะตะวันตกแบบอาร์ตนูโว ที่เลือกใช้ลวดลายในธรรมชาติอย่างเถาวัลย์พรรณพฤกษาดอกไม้นานาพันธุ์อันอ่อนช้อยวิจิตรมาประกอบในภาพวาด ผสมผสานกลมกล่อมกับตัวละครในเทพปกรณัมของบ้านเราอย่างเทวดา นางฟ้า และสัตว์วิเศษจากป่าหิมพานต์ ชาวสยามในภาพก็ดูอนาโตมี่เป็นฝรั่งปนไทยแบบแปลกๆ แต่ก็ลงตัวอย่างไม่เคอะเขิน

คินีเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ พร้อมๆ กับภาพจำที่ไม่อาจลืมเลือนของดินแดนสยามอันน่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมกันนั้นยังนำเอาศิลปะวัตถุจากสยาม เช่น พระพุทธรูป หัวโขน เครื่องเบญจรงค์ เครื่องประดับ รวมถึงรูปถ่ายปราสาทราชวัง สถาปัตยกรรม และชีวิตประจำวันของชาวสยาม กลับอิตาลีไปมากมายเพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจ เห็นได้จากผลงานหลายชิ้นของคินีในยุคต่อๆ มาที่มีกลิ่นอายของสยาม เช่น นำลวดลายของตราจักรีไปผสมผสาน หรือการเลือกใช้คู่สีโทนฉูดฉาดตัดกันแบบที่เรานิยมใช้ในวัดวาอารามอย่างแดง เขียว และทอง

ดั่งเช่นผลงานเทคนิคภาพวาดบนกระจกสีชุดใหญ่ซึ่งกาลิเลโอ คินี ถูกว่าจ้างให้สร้างในช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่กลับมาจากสยาม เริ่มจากในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ องค์กร Societa Anonima Materiali ed Imprese Edilizie ที่บริหารงานโดยวิศวกรใหญ่ชาวอิตาลีนามว่า ฟิลิปโป เกรปปี (Filipo Greppi) มีโครงการจะเนรมิตที่ดินไพรม์โลเคชั่นบริเวณ Palazza Piemonte ติดกับถนน Via Seprio ใจกลางกรุงมิลาน ให้กลายเป็นอัครมหาสถานอาคารที่อยู่อาศัย โดยลูกค้าผู้ที่ใจถึงเงินถึงมาจับจองโครงการก็คือ ครอบครัวสกาลินี (Scalini) ครอบครัวการเมืองผู้ทรงอิทธิพลและเป็นสมาชิกวุฒิสภาของอิตาลี

เพื่อให้สมฐานะเจ้าของและที่ทำเลทองการก่อสร้างจึงถูกวางแผนแบบจัดเต็ม โดยมีการว่าจ้าง มาริโอ บอร์กาโต (Mario Borgato) เป็นผู้ควบคุม และก็ประจวบเหมาะพอดิบพอดีที่วุฒิสมาชิกสกาลินีรู้จักมักจี่กับ กาลิเลโอ คินี ศิลปินผู้มีชื่อเสียงมากแล้วในขณะนั้นเป็นอย่างดี เลยไม่รีรอขอให้คินีมาช่วยออกแบบตกแต่งภายใน และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประดับประดาวิลล่าที่หรูหราระดับพระราชวังแห่งใหม่นี้

วิลล่าสกาลินี ในราวปี พ.ศ. 2470

ภาพวาดบนกระจกสีโดย กาลิเลโอ คินี

ด้วยความสามารถรอบด้านในงานศิลปะหลากหลายแขนงของคินี วิลล่าสกาลินี (Villa Scalini) ที่สำเร็จเสร็จสิ้นจึงมีทั้งภาพเฟรสโก หรือเทคนิคการวาดภาพบนปูนเปียก เฟอร์นิเจอร์ ราวเหล็ก เครื่องถ้วยชาม รวมถึงผลงานบนกระจกสี ฝีมือคินีประดับไว้อย่างเต็มประดา สร้างความประทับใจกับผู้อยู่อาศัย และแขกเหรื่อที่มีโอกาสได้ย่างกรายเข้ามาในสถานที่แห่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างดูช่างกลมกลืนงดงามจนหลายคนที่พบเห็นอาจไม่รู้เลยว่าคินีได้ผนวกรสชาติศิลปะจากสยามเข้าไปในผลงานด้วย

ยุคสมัยหมุนเวียนไปเช่นเดียวกับสไตล์การตกแต่งภายในที่เปลี่ยนแปลง วิลล่าสกาลินีตกทอดเปลี่ยนเจ้าของจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลาเกือบศตวรรษจนสภาพทรุดโทรมลงถึงเวลาต้องบูรณะซ่อมแซม เมื่อรูปแบบการตกแต่งภายในเวอร์ชั่นล่าสุดเป็นแบบมินิมัล ลดทอนเส้นสาย ลวดลาย สีสัน บรรดาประตูหน้าต่างที่ถูกผลิตอย่างวิลิสมาหราด้วยการวาดภาพลงบนกระจกสีจึงถูกถอดออกทั้งหมดและแทนที่ด้วยหน้าต่างเรียบๆ แบบสมัยใหม่ แตกต่างไปจากวันที่คินีสร้างสรรค์อย่างสิ้นเชิง

วิลล่าสกาลินี ในปัจจุบัน

หากพิจารณากันดู การที่สยามประเทศตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เชื้อเชิญศิลปินฝรั่งมาสร้างสรรค์ผลงานประดับประดาบ้านเมือง มองเผินๆอาจดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับว่าศิลปะของบ้านเรากำลังจะโดนกลืน แต่ในความเป็นจริงแล้วเหตุการณ์นี้กลับเป็นการผลักดันวงการศิลปะให้พัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เพราะตั้งแต่โบราณกาลก็มีอิทธิพลศิลปะหลากหลายรูปแบบทั้งจาก เมืองแขก เมืองขอม เมืองจีน และที่อื่นๆอีกนับไม่ถ้วน แผ่ขยายเข้ามาในแผ่นดินไทย เกิดการพัฒนาผสมผสานกันอย่างลงตัวจนกลายเป็นศิลปะไทยประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันหนึ่งจะมีอิทธิพลศิลปะจากต่างแดนอีกรูปแบบเข้ามาเสริมให้ศิลปะไทยได้พัฒนายิ่งๆขึ้นไปอีก

ตราบใดที่ศิลปินไทยยังไม่ลืมรากเหง้าทางศิลปะของตัวเราเอง แล้วรู้จักประยุกต์ใช้อิทธิพลศิลปะแบบใหม่ๆ จากต่างชาติ เอามาเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดให้เกิดผลงานที่ก้าวล้ำไม่ซ้ำใคร ดูสิขนาด กาลิเลโอ คินี ศิลปินใหญ่จากอิตาลีประเทศต้นตำรับศิลปะตะวันตก เขายังเอาของไทยไปใช้เลย

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 68 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ