Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

รัชกาลที่ ๙

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 20
เรื่อง / ภาพ : นภันต์ เสวิกุล

๗๐ ปี นับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ หรือ ๖๖ ปีเต็ม นับแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติครอบครองประเทศ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”


กว่า ๖๐ ปึที่ทรงดำรงฐานะเปน็ พระประมุขของชาติ ทรงเปน็ พระมหากษตั ริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานกว่ามหาราชาองค์ใดในโลกและบูรพกษัตริย์องค์ใดในแดนสยาม และตลอดระยะเวลาอันยาวนานนั้น ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการในทุกๆ ด้าน เพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยทรงหวังให้มหาชนชาวสยามถึงพร้อมด้วยประโยชน์สุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ในครั้งสมัยเมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดังพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของชาติได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญจากนานาประเทศมาตลอดรัชสมัย

การพัฒนาคนและคุณภาพชีวิต การประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ “อย่างยั่งยืน” นั้น ทรงวางแนวทางการดำเนินงานไว้ว่า จะต้องมีความผสมผสานและกลมกลืนกับสภาวะตามธรรมชาติเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริต่างๆ ที่ทรงม่งุ เน้นการพัฒนาเพื่อให้คนยากจนพอมีพอกิน ไม่อดอยาก และสามารถช่วยตัวเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่แต่เพียงการพัฒนาทางด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชุมชนในชนบททั้งหมด ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ไปจนถึงวิธีคิดและจิตสำนึก

…นานเหลือเกินแล้วเมื่อทรงชักชวนให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นให้ปลูกพืชอื่นทดแทนและให้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งต้องทรงใช้เวลานานหลายปีกว่าจะค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมมาสู่ชีวิตที่ผาสุกที่มีความมั่นคงเช่นปัจจุบัน

ในส่วนพระราชกรณียกิจที่ทรงใช้เวลามากที่สุดตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึงค่อนศตวรรษ คือการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทั้งพระราชอาณาจักร

ด้วยพระองค์เอง จึงทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ ด้วยพระเนตรพระกรรณ ซึ่งก็ได้ทรงปัดเป่าทุกข์ร้อนเหล่านั้นตามพระราชปณิธานที่ทรงยึดถือมาตลอดว่า “ทุกข์…สุขของราษฎร คือทุกข์…สุขของพระองค์ท่านเอง” บังเกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงติดตามความคืบหน้าของโครงการเหล่านั้นกระทั่งได้รับผลสำเร็จ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อันอเนกอนันต์ ทำให้ทุกข์ยากของประชาชนที่ได้ทรงขจัดปัดเป่ามาโดยตลอดปรากฏเป็นความพอมีพอกิน สรรค์สร้างความผาสุก ความสงบร่มเย็นให้แก่อาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแผ่นดิน โดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนา ด้วยเหตุนี้ พสกนิกรทุกหมู่เหล่าจึงเคารพเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เกินกว่าจะหาถ้อยคำใดมาเปรียบเทียบได้

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระต่ำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวเขาที่มีฐานะยากจนประกอบอาชีพปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยซึ่งเป็นการทำลายป่าไม้และต้นน้ำลำธาร

จึงทรงริเริ่มส่งเสริมการเกษตรแก่ชาวเขา พระราชทานพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งโครงการส่วนพระองค์ขึ้น ชื่อโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการหลวง

“ฝ่าพระบาทไม่เคยทรงอยู่ห่างไกลจากประชาชนของพระองค์ไม่เคยทรงมีพระราชดำริให้ประชาชนเป็นเพียงผู้ฟังคำสั่งหรือบริวารในทางตรงกันข้าม ฝ่าพระบาททรงอยู่เคียงข้างพสกนิกรของพระองค์และทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนชาวไทยตลอดมา”

พระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ที่ทรงประกาศในนามพระประมุขและผู้แทนพระองค์ทั้ง ๒๕ ประเทศถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเนื่องในวโรกาสงานถวายพระกระยาหารค่ำแด่พระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีต่างประเทศที่เสด็จมาร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารวันอังคารที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙

ไม่ว่าจะพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ ณ แห่งใด เมื่อราษฎรทราบข่าวก็จะพากันมาเฝ้ากันอย่างเนืองแน่นด้วยความจงรักภักดี บางคนเดินทางมาคอยเป็นวันๆ ไม่ว่าฝนจะตกหรือแสงแดดจะแผดกล้าเพียงใดก็ไม่ย่อท้อ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงทราบถึงความรู้สึกและความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับราษฎรเปน็ อย่างดี เคยทรงออกพระโอษฐ์ว่า “ที่ของข้าพเจ้าคือการที่ได้อยู่ท่ามกลางราษฎร”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นทรงเป็นปราชญ์และทรงภูมิปัญญาอย่างเหลือล้น มีพระปรีชาสามารถทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ในหลายแขนง ทรงเป็นทั้งจิตรกรและช่างภาพฝีมือดี ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงอันไพเราะไว้มากมาย แม้ว่าในระยะหลังจะไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงต่างๆ เพิ่มเติม แต่ก็ดูเหมือนว่า…รอยยิ้มและเสียงหัวเราะด้วยความแช่มชื่นจากความสุข ความสมหวังของพสกนิกรผู้ยากไร้จะเป็นบทเพลงอันไพเราะที่สุดสำหรับพระองค์ท่าน

นักดนตรีที่ดีนั้นหายาก นักดนตรีที่ดีและประพันธ์เพลงด้วยนั้นหายากยิ่งขึ้นไปอีก และถ้าหากจะหานักดนตรี นักประพันธ์เพลง และเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว เห็นมีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นนักดนตรีที่มีพระปรีชาสามารถในทางบรรเลงประดุจนักดนตรีอาชีพ ในฐานะดุริยกวี ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง ๔๘ เพลง ซึ่งถูกนำมาบรรเลงในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งในลีลาของแจ๊ส คลาสสิก เพลงสมัยนิยม บทเพลงขับร้อง และบทเพลงบรรเลง

ทรงใช้เครื่องดนตรีหลายชนิดได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งแซ็กโซโฟน คลาริเน็ต ทรัมเป็ตเปียโน กีตาร์ เป็นที่ยอมรับสรรเสริญโดยนักดนตรีมืออาชีพระดับโลก ด้วยผลงานหลากหลายจากพระอัจฉริยภาพอันสูงส่งจึงทรงเป็นชาวเอเชียรายแรกที่สถาบันการดนตรีแห่งประเทศออสเตรีย อันเป็นสถาบันระดับโลกได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและจารึกพระปรมาภิไธยไว้ในฐานะที่ทรงเป็นเอกอัครศิลปินแห่งโลกดนตรีเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗

ทรงเป็นนักกีฬาที่ถึงพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถอันสูงส่ง เฉพาะอย่างยิ่งการทรงเรือใบที่ทรงได้รับเหรียญทองชนะเลิศในมหกรรมกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่
๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยเรือใบที่ทรงต่อด้วยพระองค์เอง ยังความปลาบปลื้มเป็นมหาสิริมงคลแห่งความภาคภูมิใจของปวงชนชาวไทยมาจนทุกวันนี้ ทางราชการจึงได้ยึดถือวันที่ ๑๖ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันกีฬาแห่งชาติ

ข้าวโพดในพระหัตถ์และรอยแย้มพระสรวลด้วยความพอพระราชหฤทัย เพราะข้าวโพดแปลงนี้งอกงามบนดินไร้ประโยชน์ในป่าพรุที่ได้พระราชทานโครงการ “แกล้ง
ดิน” จนสามารถเพาะปลูกได้แล้ว แม้วันนั้นจะไม่ได้เป็นพืชหลักของครอบครัวแต่ผลผลิตของข้าวโพดอาจช่วยให้นับพันนับหมื่นครอบครัวมีรายได้ ราษฎรที่ใดไม่อดอยากยากจน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็จะทรงพอพระราชหฤหัย น้ำาพระทัยเช่นนี้ เราจะหาได้จากที่ไหนอีก

พระราชจริยาวัตรอันงดงาม พระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณ ตลอดจนพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญ ปรากฏแก่สายตาของคนไทยครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นภาพที่แสดงถึงการที่ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่ ที่เหนือไปกว่าพระราชกิจที่ราษฎรไทยพึงคาดหมายจากพระเจ้าแผ่นดินของตน

พระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยครั้งแล้วครั้งเล่าเนื่องในโอกาสต่างๆ สื่อให้เห็นถึงความห่วงใยประชาชน ทรงปรารถนาให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คนไทย จึงเป็นการสมควรที่เราคนไทยทั้งหลายจะต้องดำเนินตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อเป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีที่จะได้ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบุกเบิกไว้ให้คนไทยใช้ในการดำเนินชีวิตบนผืนแผ่นดินอันร่มเย็นแห่งนี้อันจะเป็นการช่วยสร้างชาติบ้านเมืองของเราให้พัฒนาไปในทางที่ถูกต้องเข้มแข็งสืบไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแสดงให้เห็นถึงความเป็นบุคคลที่สัมผัสได้ เข้าใกล้ได้ ให้ความช่วยเหลือพวกเขาได้ ด้วยการเสด็จไปเยี่ยมเยียนและให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรในทุกสถานที่ จนเรียกได้ว่าแทบทุกตารางนิ้วบนผืนแผ่นดินไทยที่สามารถย่างก้าวเข้าไปได้ พระองค์จะเคยเสด็จพระราชดำเนินไปแล้วทั้งสิ้น

“…ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้… ฉะนั้น ถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดและมีอิทธิพลมีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกันช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร… ขอย้ำ พอควร …พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒

About the Author

Share:
Tags: รัชกาลที่ ๙ / ฉบับที่ 20 / พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช / ในหลวง / king / King Rama IX /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ