Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม

เรื่องราว “ธรรมชาติ ธรรมดา” จากบุคคลที่เชื่อว่าพลังเล็กๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้ Greenery Talk 2023

เรื่อง: ดวงใจ ยงยิ่งเชาว์
ภาพ: Greenery

คุณเอิร์ธ-สรณัญช์ ชูฉัตร

ผู้ก่อตั้ง ETRAN บริษัทผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ‘ETRAN’ ที่ต้องการสร้างสังคมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เข้มแข็งให้กับเมืองไทย

“จริงๆ บ้านเราก็มีรถไฟฟ้าแต่มันอยู่บนราง ทำไมไม่มีคนทำรถไฟฟ้าบนถนนบ้าง ทำไมไม่มีคนมาดูถึงสภาพแวดล้อมที่อยู่บนพื้นดินบ้าง ไม่ใช่แค่เราเดินทางได้เร็วหรือสะดวก แต่จะทำอย่างไรให้เราเดินทางเร็ว สะดวกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ระหว่างที่โหนรถไฟฟ้าอยู่ ก็มีคำหนึ่งโผล่ขึ้นมาในระหว่างความคิดนั้นว่า ‘Prime The Better World’ เราอยากจะขับเคลื่อนโลกที่ดีกว่า การที่เราขับยานพาหนะ ไม่ใช่แปลว่าเราอยากคลั่งรถ อยากทำให้สิ่งที่เราทำนี้เป็นแรงผลักดัน แล้วก็ขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมให้มันดียิ่งขึ้น ถ้าเรามีโอกาสทำได้สักครั้งหนึ่ง สิ่งๆ นี้ผมคิดว่ามันน่าจะเป็น Impact กับโลกใบนี้”

คุณเปิ้ล-ศิริวิมล กิตะพาณิชย์

เกษตรกรและผู้ก่อตั้ง ‘ไร่รื่นรมย์’ ฟาร์มสเตย์และคาเฟ่อินทรีย์ ที่อยากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้คนสามารถเข้าถึงวิถีอินทรีย์แนวใหม่

“จากเด็กในเมืองกรุงไปเมืองนอก และสุดท้ายกลับมาเป็นเด็กนอกเมืองอีกครั้งหนึ่ง ความตั้งใจของเปิ้ล อยากจะเป็นแค่นักพัฒนาธรรมดา แต่จากประสบการณ์ต่างๆ ที่หล่อหลอมเราขึ้นมา เราเกิดอยากจะเป็นนักพัฒนาผ่านทางธุรกิจ เพราะเปิ้ลมองว่ามันยั่งยืนกว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เปิ้ลหันหลังจากเมืองกรุง เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยมัธยม เปิ้ลชอบออกค่ายเป็นอาสา ชอบออกไปเยือนหมู่บ้านต่างๆ และได้ไปเห็น ได้ไปคุยกับชาวบ้าน และได้เห็นความยากลำบากของเขา แต่ท่ามกลางความยากลำบาก เปิ้ลกลับได้เห็นความสุขที่เรียบง่าย ที่ไม่มีอะไรเลย แต่เขาก็มีความสุข เปิ้ลมองว่าถ้าเขาได้รู้จักเกษตรอินทรีย์ และได้รู้จักวิถีทางธรรมชาติ คุณภาพชีวิตของเขาน่าจะดียิ่งขึ้น”

เมย์-สุภิสาข์ มัยขุนทด

เกษตรกร ผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ‘สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย’

 “ตัวเมย์เองเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยมปลาย จนจบมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสทำงานในบริษัทที่ผลิตรายการท่องเที่ยว เดินทางแทบจะทุกจังหวัดในประเทศไทย แรกๆ ทำไมมันอะเมซิ่งหมดเลย เรามีความสุขในการทำงาน ผ่านไป ๖  ปี ความรู้สึกเริ่มเปลี่ยน การทำงานแบบนี้มันทรมานร่างกาย ทรมานสังขาร เริ่มจะไม่ไหว เริ่มกลับมาถามตัวเองว่า เราจะทำงานแบบนี้นานแค่ไหน ตอนนั้นมันฉุกคิดขึ้นมาว่า กลับบ้านเถอะ คุยกับคุณพ่อขอกลับบ้าน สิ่งแรกที่คิดได้คือ ขอออกไปดูว่าเพื่อนบ้านเขาทำอะไรกัน ไปดูรีสอร์ทใกล้เคียงกันที่แก่งกระจาน ละลานตามากเลย พอกลับมาดูที่บ้านเรา ล้วงกระเป๋าแห้งเชียว ชีวิตไม่มีตังค์เลยค่ะ ทำอย่างไรละที่นี้ เราไม่มีเงินลงทุนเลย เราต้องสู้ด้วยอย่างอื่น สู้ด้วยปัญญา และสิ่งที่เรามีอยู่ ก็คือเรื่องของการทำเกษตรนั่นเอง”

ลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ

Earth Creator และผู้บุกเบิก ‘ฟาร์มลุงรีย์’ ศูนย์เรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองที่ยืนระยะมานับ ๑๐ ปี

“ตอนนี้อายุ ๓๓ ขึ้น ๓๔ ปี หนวดเริ่มหงอก เคราเริ่มหงอก แล้วก็มีแผนที่จะเป็นลุงรีย์ให้สำเร็จ ตอนอายุประมาณ ๔๔ มีเวลาอีก ๑๐ ปี ตอนที่ทำแบรนด์ตอนแรก ผมเคยให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยๆ เพราะผมอยากจะสื่อสารว่า ‘เกษตรกรที่ใช้เอี๊ยมยีนส์’ เขาเป็นเกษตรกรที่ไม่อัตคัด ใส่เอี๊ยมยีนส์คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มันจะต้องมีหนทางที่ทำเกษตรแล้ว มันมีชีวิตที่ดีได้ วันนี้ผมไม่ได้เอาภาพมาด้วย เพราะสิ่งที่ผมเป็นคือเป็ดน้อย ที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เป็ดที่ทำอะไรไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไร มีหน้าที่เดียวคือการพิสูจน์ ทำให้สำเร็จ นั่นคือภาพที่จะมีต่อๆ ไป”

เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์

เชฟและผู้ร่วมก่อตั้ง Samuay&Sons และ Mahnoi Foodlab ร้านอาหารอีสานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมายกระดับอาหารอีสานให้ทัดเทียมสากล

“โควิดทำให้ผมเกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองในการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างสิ้นเชิง เราไม่สามารถสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศได้เหมือนเดิม เพราะว่าด้วยต้นทุน จะทำอย่างไรให้ธุรกิจเราอยู่รอด ในอีกมุมหนึ่งเราเป็นคนชอบคิด ชอบสร้างสรรค์ จะทำอย่างไรให้เรายังมีไฟในการทำงานอยู่ เลยย้อนกลับมานั่งดูตัวเองว่า สิ่งที่มันอยู่รอบตัวเรานี้ มันมีอะไรบ้าง นั่นเป็นจุดหักเหว่า จากนี้ไปเราจะใช้วัตถุดิบจากอีสานแทบจะทั้งหมด  เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่ต่อ เราเริ่มเห็นของที่อยู่ใกล้ตัว เริ่มรู้สึกสนุกกับมันเหมือนกับวันแรกๆ ที่เปิดร้าน เริ่มรู้สึกว่าทำอย่างไรให้ของที่แบบว่าเราเห็นเรารู้สึก WOW  ทำให้คนกินรู้สึกเหมือนกับเรา มันก็เริ่มเป็นโจทย์ เป็นคำถามต่อตัวเอง และเริ่มหาวิธี จนกลายเป็นที่มาที่สร้าง FOOD LAB ช่วงโควิด”

About the Author

Share:
Tags: Environment / ธรรมชาติ / organic / เกษตรอินทรีย์ / สิ่งแวดล้อม / green / Greenery / Greenery Talk 2023 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ