Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม นิตยสารอนุรักษ์

Ozone เกราะคุ้มภัยให้โลกและชีวิต

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 59
เรื่อง: ชาธร โชคภัทระ
ภาพ: IstockPhoto

 “ไปสูดโอโซนชายทะเลกันเถอะ” เราคงเคยได้ยินคำพูดนี้จากใครบางคน ที่มักชวนกันไปหาที่สูดอากาศดีๆ โดยใช้คำว่า “โอโซน” แทนอากาศบริสุทธิ์ ช่วยให้ร่างกายจิตใจสดชื่นคืนพลัง แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว โอโซน (Ozone) คือก๊าซพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าเราสูดโอโซนแบบเพียวๆ เข้าสู่ร่างกายก็อาจเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีสองด้าน ในอีกทางหนึ่งก๊าซโอโซนก็มีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อสรรพชีวิตบนดาวเคราะห์โลกดวงนี้ คือการทำหน้าที่เป็นเกราะปกป้องรังสีอันตรายจากนอกโลกมิให้ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาคร่าชีวิตเราได้

ก๊าซโอโซน มีสูตรทางเคมีคือ O3เพราะประกอบขึ้นด้วยก๊าซออกซิเจน (Oxygen) จำนวน ๓ อะตอม ตามธรรมชาติก๊าซโอโซนมีสีฟ้าเข้ม แต่เมื่อเย็นจัดภายใต้อุณหภูมิติดลบมากๆ ก็จะกลายเป็นของแข็งสีดำได้อย่างน่าอัศจรรย์ โอโซนมีมากในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟีย (Stratosphere) อยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ ๑๐-๕๐ กิโลเมตร อันเป็นบริเวณที่โอโซนรวมตัวกันหนาแน่นที่สุด เพื่อห่อหุ้มโลกไว้มิให้รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ร้อยละ ๙๗-๙๙ จากดวงอาทิตย์

ทะลุผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาทำอันตรายสิ่งมีชีวิต ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์ได้ ทว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ มีรถยนต์เพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านคันทั่วโลก ปล่อยควันพิษขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหนัก ก็ยิ่งเร่งให้ชั้นโอโซนของโลกที่เคยสมบูรณ์และหนาแน่น กลับเบาบางและมีรูโหว่เกิดขึ้น นี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดคนป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น อากาศร้อนขึ้น ภูมิอากาศโลกแปรปรวน และเราได้รับผลกระทบนั้นโดยตรง เหมือนกับว่าเมื่อชั้นโอโซนอ่อนแอ มนุษย์ก็เจ็บป่วยจากผลการกระทำของตนเอง

Ozone

เกราะคุ้มภัยให้โลกและชีวิต

สารตัวหนึ่งซึ่งคร่าชั้นโอโซนของโลกโดยตรงและรุนแรงมากคือ “คลอโรฟลูออโรคาร์บอน” (Chlorofluorocarbon) ตัวย่อ CFC เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีธาตุคาร์บอน คลอรีน ไฮโดรเจน และฟลูออรีน ระเหยเป็นไอได้เร็ว เมื่อระเหยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกก็จะทำให้โอโซนไม่สามารถกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตได้อีกต่อไป นี่จึงเป็นหายนะของโลกอย่างแท้จริง สารประกอบ CFCs ดังกล่าวถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนานหลายทศวรรษแล้ว ทั้งเป็นสารทำความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ ใช้ผลิตโฟม พลาสติก ใช้เป็นสารขับดันในกระป๋องสเปรย์ รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เมื่อโอโซนอ่อนแอ เปราะบางมากขึ้นเช่นนี้ ทั่วโลกจึงเร่งให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา เกิดข้อตกลงระหว่างประเทศเรียกว่า “พิธีสารมอนทรีออล” มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๙ เพื่อลดการใช้สาร CFCs ให้หมดไปภายในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ แต่คาดกันว่าน่าจะได้ผลจริงในปี ค.ศ. ๒๐๓๐

นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังจัดตั้ง “วันโอโซนโลก” หรือ “วันโอโซนสากล” (World Ozone Day) ฉลองกันทุกปีในวันที่ ๑๖ กันยายน เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของโอโซนและปกป้องอย่างถูกวิธี

สำหรับคนทั่วๆ ไปจะช่วยปกป้องโอโซนได้อย่างไร? คำตอบง่ายๆ อยู่ใกล้แค่เอื้อมในชีวิตประจำวัน อาทิ ลดการใช้ถุงพลาสติก และภาชนะโฟม เปลี่ยนไปใช้ถุงผ้า หรือภาชนะที่ทำจากธรรมชาติและย่อยสลายได้เอง เปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยลง เดินหรือปั่นจักรยานแทนการใช้รถยนต์บ้าง และเมื่อจะซื้อสเปรย์ เช่น สเปรย์ฉีดผม หรือสเปรย์ฆ่าแมลง ให้ดูที่ข้างกระป๋องว่าไม่ใช้สาร CFCs เป็นต้น เหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะช่วยชีวิตโอโซน ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างหลักประกันให้ลูกหลานของเราอยู่ได้อย่างมีความสุขไปอีกหลายชั่วอายุคนเลยล่ะ

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / Ozone /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ