Monday, May 6, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต กองทุนสื่อ

สารคดี ตอนที่ ๙ สกุลช่างและวัสดุศาสตร์ในการสร้างพระพิมพ์

โครงการ พุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก ผลงานจากนิตยสารอนุรักษ์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เนื่องจากอารยะธรรมอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา ไหลบ่าเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ยังผลให้เกิดสกุลช่างต่างๆขึ้นในประเทศไทย  ทำให้ประเทศไทยมีงานพุทธศิลป์อันเป็นศิลปกรรมที่หลากหลายรวมทั้งการสร้างพระพุทธปฏิมากรที่มีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ทั้งแบบสุวรรณภูมิและหลังสุวรรณภูมิ  แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน  ปัจจุบันนักโบราณคดีลงความเห็นว่าประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ของไทยเริ่มชัดเจน เมื่อ พุทธศตวรรษที่ ๑๑ โดยเริ่มตั้งแต่ศิลปะแบบทวาราวดี ถึงปัจจุบัน 

๑ ศิลปะแบบทวาราวดี (Dvaravati Style) พ.ศ. ๑๑-๑๖

           ศิลปะแบบทวาราวดีเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลศิลปะคุปตะของอินเดีย ทางด้านประติมากรรม  ได้พบพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน หล่อด้วยโลหะ ปูนปั้นและดินเผา  พบมากที่สุดคือพระพุทธรูปหินปูนสีครีมลักษณะโดยทั่วไปคือ มีพระวรกายกลมกลิ้งพระเศียรมีกะโหลกกว้าง  พระโขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรโตโปน  พระโอษฐ์กว้าง  พระนาสิกค่อนข้างแบน ห่มจีวรแนบเนื้อ  พบศิลปะสมัยนี้ในภาคกลาง อีสาน และภาคใต้  พระพุทธรูปเป็นแบบหินยาน

๒ ศิลปะศรีวิชัย (Srivijaya Style) พ.ศ. ๑๓-๑๘

            อาณาจักรศรีวิชัย  มีอิทธิพลของแหลมมาลายู  อันรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนาแบบมหายาน อิทธิพลศิลปะแบบปาละเสนาของชาวอินเดีย  ทางด้านประติมากรรมได้แก่ พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ที่มีชื่อเสียงคือ รูป “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” พบที่ อ.ไชยา สำหรับพระพิมพ์ดินเผา มักทำพระพุทธรูปอยู่ในซุ้มเรือนแก้วแวดล้อมด้วยสถูปเจดีย์และลวดลายสำคัญต่าง ๆ ลักษณะงานคล้ายกับศิลปะของหมู่เกาะชวาและสุมาตราที่ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะจากอินเดียเช่นกัน โดยมากมักเป็นงานหล่อด้วยโลหะ พบในภาคใต้ของไทย

๓ ศิลปะแบบลพบุรี (Lopburi Style) พ.ศ. ๑๗-๑๘

             ศิลปะแบบลพบุรีได้รับอิทธิพลจากขอมหรือประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาของอินเดีย  โดยระยะแรกเป็นศาสนาพราหมณ์  ภายหลังมีทั้งศิลปะพราหมณ์และพุทธเกิดศิลปกรรมขึ้นและแพร่ขยายเข้าสู่สุวรรณภูมิทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย  ด้านประติมากรรมได้แก่พระพุทธรูปพระโพธิสัตว์รูปเคารพในศาสนาพราหมณ์  ภาพคนในศิลปะลพบุรีคือ รูปร่างเตี้ย  หน้าผากกว้าง คางเหลี่ยม ปากแบะ ริมฝีปากหนาทั้งชายหญิง  นอกจากนี้ยังมีภาพปูนปั้นและภาพประดับทุ่นสลัก  องค์ปรางค์ส่วนมากเป็นภาพพุทธประวัติปรางค์ในศิลปะแบบลพบุรี  มักสร้างเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์  ภายในมีที่สำหรับประดิษฐ์สถานเทวรูปและศิวลึงค์  เช่น ปรางค์สามยอดลพบุรี  ถึงอย่างไรก็ตาม ยุคนี้ก็เป็นยุคที่มีงานศิลปะมหายานที่ได้รับอิทธิพลจากขอมหรือประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน   พระพุทธรูปส่วนใหญ่มักทำด้วยศิลาและโลหะสัมฤทธิ์ พบได้ในภาคกลางและภาคอิสาน เช่น พระพุทธมหาธรรมราชา  วัดไตรภูมิ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

๔ ศิลปะเชียงแสน (Changsaean Style) พ.ศ. ๑๗-๑๘

                ศิลปะโยนก-เชียงแสน หรือล้านนา ตั้งอยู่ ณ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายปัจจุบัน  ศิลปะสกุลนี้ได้รับอิทธิพลจากสกุลศิลปะจากอินเดียโดยแบ่งออกเป็น ๒ ยุคคือ

            ๔.๑ ศิลปะเชียงแสนยุคแรก (พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘) ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศิลป์อินเดีย มีลักษณะบางอย่างคล้ายพระพุทธรูปของอินเดียแบบปาละมีลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโอษฐ์กว้าง ปลายสังฆาฏิใหญ่มีแฉก พระวรกายล่ำสัน มักสร้างด้วยศิลา ปูนปั้น และโลหะเช่น พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

              ๔.๒ ศิลปะเชียงแสนยุคหลัง(พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑) มีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาผสมกับสุโขทัยซึ่งมีพุทธลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปเชียงแสนยุคต้นคือ พระพักตร์เริ่มเรียวยาวขึ้น พระวรกายไม่ล่ำสันมากนัก มีพระเกศแบบเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิยาวลงมา พระพุทธรูปรุ่นนี้มีทั้งหล่อด้วยโลหะ ปูนปั้น รัตนชาติ และศิลา นอกจากนั้น ยังให้อิทธิพลทางศิลปะแก่ประเทศลาว และศิลปะสุโขทัยด้วย

๕ ศิลปะสุโขทัย (Sukothai Style) พ.ศ. ๑๗-๒๐

              ยุคนี้ถือได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งเรืองมาก  มีการสร้างงานศิลปกรรมที่มีความงดงามยิ่งนัก สร้างตามคติความเชื่อของนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์  พบงานในลักษณะนี้ในภาคเหนือตอนล่าง วัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธเป็นโลหะและปูนปั้น  ศิลปะสุโขทัยแบ่งเป็นหมวดย่อยตามลักษณะของพระพุทธรูป คือ  หมวดใหญ่ ลักษณะพระพักตร์กลมแบบลังกาหมวดกำแพงเพชร ลักษณะพระพักตร์เรียวกว่าหมวดใหญ่ พบที่กำแพงเพชรหมวดพระพุทธชินราชหรือหมวดพิษณุโลก​ พระพุทธรูป​สุโขทัยหมวดนี้เชื่อกันว่าคงเริ่มสร้างขึ้นในพระยาลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มักอ้างอิงพุทธลักษณะตามมหาปุริสสลักษณะ​ ๓๒ ​ประการ​ เช่น​ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน มีลักษณะของมหาบุรุษ ส่วนพระพุทธรูป​สุโขทัยหมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดตะกวน​ หมวดนี้เป็นหมวดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีศิลปะแบบเชียงแสนและลังกาเข้ามาผสมผสาน บางองค์มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น พระนลาฏแคบ แต่พระองค์และฐานมักเป็นแบบสุโขทัย มีพุทธลักษณะแตกต่างจากหมวดทั้งสี่ข้างต้น

๖ ศิลปะแบบอู่ทอง (Uthong Style) พ.ศ. ๑๗-๒๐

              ได้รับอิทธิพลจากศิลปะทวาราวดี  ขอมและสุโขทัย  วัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธรูปได้แก่  โลหะและปูนปั้น  ตัวอย่างเช่น พระพุทธไตรรัตนนายก  วัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.อยุธยา

๗ ศิลปะแบบอยุธยา (Ayudhya Style) พ.ศ. ๑๘-๒๓

                กรุงศรีอยุธยา มีความยิ่งใหญ่ทางศิลปกรรมมีการสร้างพระพุทธรูปมากมายในยุคนี้  ประติมากรรมที่มีลักษณะเฉพาะคือ การสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องทรงเครื่องน้อยและทรงเครื่องใหญ่   ลวดลายที่ประดับก็มีความอ่อนช้อยพลิ้วไหว ดังเช่นพระพุทธรูปในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ (ศิลปะในการสร้างพระพุทธรูปอันเป็นศิลปะอยุธยา ได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากศิลปะอู่ทอง ลพบุรี และสุโขทัยนอกจากนั้นยังให้อิทธิพลต่อศิลปะรัตนโกสินทร์ในยุคต่อมา  วัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธรูป ได้แก่ โลหะ ศิลา และปูนปั้น  ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อวัดบ้านแหลม วัดเพชรสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม

๘ ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ (Rattanakosin Style) พ.ศ. ๒๓๒๕-ปัจจุบัน

           ระยะแรกเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี  ศิลปะที่ลอกแบบมาจากศิลปะอยุธยาขึ้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓-๕  มีการรับอิทธิพลศิลปะแบบจีนและยุโรปเข้ามา ทำให้รูปแบบและวิธีการนำเสนอทั้งด้านจิตรกรรม  ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม  ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาจนถึงรัชสมัยกาลปัจจุบัน  ศิลปะได้มีการพัฒนามาโดยลำดับ ศิลปะในการสร้างพระพุทธรูป ในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากงานศิลปะอยุธยา  มีการสร้าง  ปางพระพุทธรูปเพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่เป็นงานจำลอง พระพุทธรูปเก่าแก่ ในยุคสำคัญต่าง ๆ เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์  วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ  เป็นต้น

สกุลช่างที่กล่าวมานี้มีผลต่อพระพุทธปฏิมากรและพระพิมพ์ไม่ว่าในด้านของเชิงช่าง ศิลปะและความเชื่อ เนื่องจากในบางยุคงานพุทธศิลป์สร้างตามความเชื่อแบบมหายาน พุทธปฏิมากรและพระพิมพ์จะสะท้อนแนวคิดดังกล่าว มีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่หากความเชื่อเถรวาทนั้นจะสร้างรูปเคารพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกเป็นหลัก

นอกจากนี้งานศิลปะในแต่ละยุคสมัยยังบ่งบอกลักษณะความเป็นอยู่ชองประชาชนและบ้านเมือง จะสังเกตได้ว่าหากบ้านเมืองมีความสงบสุข พุทธศิลป์จะดูละมุล ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียดผิดกับยุคสมัยที่บ้านเมืองไม่สงบ พุทธศิลป์จะแสดงออกถึงความเคร่งขรึมไปด้วย

           ส่วนวัสดุและมวลสารในการนยำมาสร้างพระพิมพ์ต่าง ๆ นั้น โดยทั่วแยกได้เป็น ๒ ประเภทคือ พระพิมพ์ที่สร้างด้วยโลหะ ได้แก่ สำริด ทองแดง ทองเหลือง นวโลหะ ชินต่าง ๆ และพระพิมพ์ที่ไม่ใช่โลหะ ได้แก่ ดิน ว่าน ผงพุทธคุณต่าง ๆ อย่างไรก็ตามสื่งสำคัญของการาร้างพระพิมพ์นั้นอยู่ที่การลงพระยันต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายหลากหลายรูปแบบ โดยการนำมาประยุกต์สร้างเป็นพระพิมพ์และเครื่องรางของขลังต่าง ๆ ที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ โดยสามารถจำแนกประเภทได้ดังนี้ 

๑. ผ้ายันต์ หรือ ประเจียด คือ การลงอักขระเลขยันต์บนผืนผ้า โบราณใช้โพกศีรษะบ้าง ผูกแขนบ้าง หรือถ้าลงที่เสื้อจะเรียกว่าเสื้อยันต์ การทำผ้ายันต์บางตำรามีความยุ่งยากมาก โดยโบราณาจารย์ท่านกำหนดผ้าที่จะใช้ลงยันต์ต้องเป็นผ้าที่บริสุทธิ์ ได้แก่ ผ้าบังสุกุล เมื่อได้มาแล้วต้องซักน้ำที่ตักขึ้นมาในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ จากนั้นต้องย้อมด้วยน้ำว่าน ถ้าเป็นยันต์ทางคงกระพันต้องย้อมด้วยว่านที่มีคุณทางด้านคงกระพัน เช่น ว่านเพชรน้อย ว่านเพชรใหญ่ ถ้าเป็นยันต์ทางเมตตาก็ย้อมด้วยว่านที่มีคุณทางเมตตา เช่น ว่านเสน่ห์จันทร์ แล้วจึงลงด้วยน้ำหมึกที่ผสมด้วยดีสัตว์ 5 ชนิด  ได้แก่  ดีไก่ดำ (แทนพระกกุสันธะ) ดีงู (แทนพระโกนาคม) ดีเต่า (แทนพระกัสสปะ) ดีวัว (แทนพระโคตมะ) และดีเสือ (แทนพระเมตไตรยะ) ผ้ายันต์หรือผ้าประเจียดจะถือว่ามีอานุภาพตามยันต์ที่ลง เช่นถ้าลงยันต์ตรีนิสิงเห ก็จะมีอานุภาพทางป้องกันภูตผีปีศาจต่าง ๆ กันคุณไสย ถ้าลงยันต์ปิโยก็จะมีอานุภาพทางเมตตามหานิยม     

๒. แผ่นพระยันต์ และ ตะกรุด คือ การลงยันต์ในแผ่นโลหะต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นมวลสารในการสร้างพระโลหะประเภทต่าง ๆ แต่หากนำมาม้วนเป็นแท่งกลมจะเรียกว่า “ตะกรุด” บางครั้งมีการเรียกต่อด้วยชื่อยันต์ที่ลง เช่นแผ่นโลหะที่ลงด้วยยันต์โสฬสมงคลเมื่อลงแล้วก็เรียกว่าตะกรุดโสฬสมงคล แผ่นโลหะที่ลงด้วยยันต์ตรีนิสิงเหเมื่อลงแล้วก็เรียกตะกรุดตรีนิสิงเห  บางตำราเมื่อลงยันต์เสร็จแล้วให้พอกด้วยว่ายาต่าง ๆ ซึ่งในตำราจะใช้ชื่อต่างกันออกไป เช่น ถ้าตำราบอกให้ถมด้วยพระไตรสรณาคมน์หมายถึง ให้พอกด้วยเครื่องยามีดอกพุทธรักษาสีขาว ดอกพุทธรักษาสีแดง และดอกพุทธรักษาสีเหลือง ถมด้วยสัตตโพชฌงค์ได้แก่ใบไม้รู้นอน 7 อย่าง (ใบชุมแสง ใบสมิ ใบระงับ ใบหิงหาย ใบผักกะเฉด ใบหญ้าใต้ใบ และใบกระถิน) ถมด้วยนวหรคุณได้แก่เครื่องหอม 9 อย่าง (จันทร์แดง จันทร์ขาว กฤษณา กลำพัก ขอนดอก ชะมด พิมเสน อำพันทอง และน้ำมันหอม) เครื่องยาเหล่านี้ตากให้แห้งบดเป็นผงผสมรักพอกไว้ที่ด้านนอกของตะกรุดอีกที

๓. พิรอด คือ การลงยันต์ในกระดาษ (โบราณใช้กระดาษว่าว) นำมาม้วนแล้วถักเป็นแหวน หากใช้สวมแขนก็เรียกพิรอดแขน หากใช้สวมนิ้วก็เรียกพิรอดนิ้ว โดยพิรอดนี้บางครั้งต้องโรยผงวิเศษในกระดาษยันต์เสียก่อน แล้วจึงนำมากระดาษนั้นมาควั่นเป็นเชือกแล้วถักจากนั้นลงรักเพื่อให้คงทน

๔. ประคำ  คือ วัตถุมงคลสำหรับใช้คล้องประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดมีจำนวน ๑๑๑ เม็ด (จำนวน ๑๐๘ รวมกับลูกยอดอีก ๓ เม็ด)  ซึ่งมีวิธีการสร้างโดยนำกระดาษสาหรือแผ่นตะกั่วที่รีดจนบางจำนวน ๑๑๑ แผ่นลงยันต์องค์พระภควัมบดี ๑๑๑ ยันต์โดยแต่ละยันต์จะไม่ซ้ำกัน นำมาปั้นเป็นเม็ดประคำยันต์ละ ๑ เม็ดโดยใช้ผงปถมังและว่านยาต่าง ๆ พอกแผ่นตะกั่ว เรียงตามลำดับห้ามสลับที่กันร้อยด้วยไหมหรือด้ายเรียกว่าประคำพระเจ้ากลืนไตรภพ เครื่องรางประเภทนี้เหมาะสำหรับพวกที่มีพื้นความรู้ดีเนื่องจากอุปเท่ห์วิธีใช้จะแปลกกว่าเครื่องรางประเภทอื่น คือผู้ที่ใช้ต้องสามารถกำหนดจิตภาวนาคาถาที่กำหนดได้

๕. มีดหมอ  คือ การลงอัตราเลขตรีนิสิงเหบนเหล็กสำหรับตีมีดแล้วตีเป็นทับ ๆ ให้ได้ ๑๐๘ ทับนำมาทำเป็นใบมีด แล้วลงยันต์ประจุขาดในแผ่นโลหะสำหรับพันไว้ที่กั่นมีด (ส่วนปลายของใบมีดที่บรรจุเข้าที่ด้าม) ด้ามมีดให้ใช้ไม้มงคลแกะเป็นรูปท้าวเวสสุวรรณให้ลงด้วยเลขตรีนิสิงเหตามจุดต่าง ๆ คนโบราณเชื่อว่าสามารถป้องกันและขับไล่ภูตผีต่าง ๆ รวมทั้งสามารถขับไล่คุณไสยสารพัดชนิดได้ ดังนั้นมีดหมอนี้จึงเรียกว่า มีดเทพศาสตราวุธ พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงทางวิทยาคมหลายรูปก็เคยสร้างเอาไว้ เช่น หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ หลวงพ่อยิ้ม วัดหนองบัว จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อบุญมี วัดเขาสมอคอน จังหวัดลพบุรี

๖. เทียน ประเภทต่าง ๆ โดยการลงยันต์ในกระดาษแล้วนำไปควั่นเป็นเทียนมีน้ำหนัก ๑ บาทบ้าง ๒ บาทบ้าง แล้วแต่ตำรา เมื่อจะใช้ให้จุดเทียนบูชาพระแล้วสวดคาถาตามที่กำหนด ส่วนใหญ่จะกำหนดให้สวดจนเทียนไหม้หมดเล่ม เทียนเหล่านี้ได้แก่เทียนยันต์มหาราช และเทียนพระฉิม (พระสีวลี) เป็นต้น

๗. พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ถึงแม้ว่าโดยลักษณะแล้วพระกริ่งและพระชัยวัฒน์จะไม่ได้มียันต์ปรากฏที่องค์พระให้เห็น แต่กรรมวิธีการสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้นต้องใช้ยันต์ต่าง ๆ มากมายถึง ๑๐๘ ยันต์โดยกำหนดให้ลงยันต์ต่าง ๆ  อาทิ ยันต์ปทุมจักร ๕ ดวง ยันต์พระภควัมบดี ๕ ดวง ยันต์องครักษ์ ๔ ดวง ยันต์นวภา ๒๕ ดวง แล้วนำแผ่นโลหะที่ลงยันต์บังคับตามตำราไปหล่อเป็นพระกริ่งและพระชัยวัฒน์

๘. พระไม้โพธิ์ห้ามสมุทร คือ การนำเอาไม้โพธิ์นิพพานหรือกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ที่ชี้ไปทางทิศตะวันออกที่หักลงมาเอง นำมาแกะเป็นพระปางห้ามสมุทร เอาไม้ขนุนมาแกะเป็นฐานพระ และเอาไม้ชุมแสงมาแกะเป็นเกศพระบรรจุแผ่นยันต์พระพิชัยสงครามซึ่งตรงกลางเป็นดวงชะตาของเจ้าของพระล้อมด้วยพระพุทธคุณทั้ง ๕๖ อักขระ (อิติปิโส ฯลฯ ภควาติ) เดินตาม้าหมากรุกด้านนอกล้อมด้วยคาถาฆะเฏสิและคาถาในคัมภีร์วชิรสารวินิจฉัย เชื่อว่าสามารถคุ้มภัยอันตรายแก่เจ้าของพระได้

๙. เหรียญพระคณาจารย์ต่าง ๆ คือเหรียญโลหะส่วนใหญ่ด้านหน้าจะเป็นรูปพระเกจิอาจารย์หรือพระพุทธรูปที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ด้านหลังจะเป็นยันต์ต่าง ๆ เหตุที่การสร้างวัตถุมงคลมีการพัฒนารูปแบบเป็นเหรียญเพราะเทคโนโลยีที่เจริญขึ้น ประกอบกับคนมีจำนวนมากขึ้นการสร้างวัตถุมงคลแบบเก่าที่ต้องทำทีละชิ้นจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ อีกทั้งหาผู้รู้ที่ชำนาญได้ยาก การปั๊มเหรียญจึงเป็นวิวัฒนาการอีกขั้น แต่กระนั้นยังมียันต์แบบต่าง ๆ อยู่บนเหรียญด้วย

๑๐. พระผงสมเด็จต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มียันต์ปรากฏบนองค์พระ แต่พระผงสมเด็จนั้นสร้างโดยการลงยันต์ต่าง ๆ ในกระดานชนวนเรียกว่าการลบผงแล้วลบเอาผงที่ได้มาผสมกับตัวประสานสร้างเป็นพระพิมพ์ต่าง ๆ ดังเช่นสมเด็จอะระหังของสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร วัดมหาธาตุ สมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

ขั้นตอนการลบผงนั้นกระทำโดยใช้ดินสอพองปั้นเป็นแท่งแล้วเขียนอักขระและยันต์ต่าง ๆ ไปบนกระดานดำ ซึ่งเรียกว่ากระดานชัยหรือกระดานครูโบราณใช้ไม้มะละกอแช่น้ำจนเปื่อย แล้วแผ่ออกเป็นแผ่นพอกด้วยรัก ขัดจนเรียบทำเป็นแผ่นใส่ขอบไม้การลบผงที่ถือเป็นหลักมาตรฐานนั้นมีอยู่ ๕ คัมภีร์ คือ คัมภีร์ปถมัง คัมภีร์อิธะเจ คัมภีร์ตรีนิสิงเห คัมภีร์มหาราช คัมภีร์พุทธคุณ นอกจากจะเป็นแบบในการฝึกเขียนยันต์แล้ว ผงที่ได้จากการเขียนยันต์ตามคัมภีร์ทั้ง ๕ ยังเชื่อกันว่ามีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์ด้วย ดังความเชื่อเกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) อดีตเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม….

๑. ผงปถมัง  เป็นคัมภีร์เก่าแก่คาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเนื่องจากพบคัมภีร์ดังกล่าวจารึกในสมุดไทยที่มีอายุในช่วงอยุธยาตอนปลาย อีกทั้งการเรียนผงปถมังนี้ได้ปรากฏอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนหลายตอน  อาทิ  “ครานั้นจึงโฉมเจ้าเณรแก้ว  แต่เพลแล้วทำผงดินสออยู่  ปถมังตั้งเพียรเรียนต่อครู…” ผงปถมังนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในยันต์ เมื่อผู้ศึกษาเขียนและลบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์ปถมังจะสามารถเข้าใจวิธีเรียกสูตรองค์พระ จันทร์ สูญ อุณาโลมได้ เพราะจะต้องเขียนลบสัญลักษณ์ดังกล่าวหลายครั้ง

ผงปถมังเมื่อลบเสร็จแล้วโบราณจะปั้นเป็นแท่งไว้โดยผสมเครื่องยา  มีชะมด  ขอนดอก  กฤษณา  กะลำพัก  สักขี  จันทน์ทั้งสองเป็นต้น  บดผสมปั้นเป็นแท่งไว้  เมื่อจะใช้ก็ฝนใช้แต่ทีละน้อยเท่านั้น  คนโบราณเชื่อว่าผงปถมังมีอานุภาพทางอยู่ยงคงกระพัน  แคล้วคลาด  กำบังกาย  ตลอดถึงล่องหนหายตัว  เป็นตบะเดชะ  จังงังป้องกันภยันตรายทุกประการ  ในการเล่าเรียนเลขยันต์ต่าง ๆ นั้นต้องเรียนคัมภีร์นี้เสียก่อน  คัมภีร์นี้จะบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ครั้งต้นกัป และการอุบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงการบำเพ็ญบารมี จนถึงสูญนิพพาน ทั้งหมดจะต้องเขียนและลบบนกระดาน เรื่อยไปจนจบ

๒. ผงอิธะเจ  หรือบางแห่งเรียก อิทธิเจ เป็นการลบผงตามสูตรพระมูลกัจจายน์  ซึ่งเป็นตำราไวยากรณ์บาลีโบราณ  ปัจจุบันได้ถูกยกเลิกไปหลังจากปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาคณะสงฆ์  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  การศึกษาบาลีแบบมูลกัจจายน์จึงค่อย ๆ สูญไปโดยลำดับ  ผงอิธะเจนี้จะเริ่มที่ตั้งเป็นสระและพยัญชนะต่าง ๆ ตามวิธีการทำรูปศัพท์ของบาลีไวยากรณ์  เป็นการแยกให้เห็นที่มาอย่างชัดแจ้ง  จากนั้นก็อ้างสูตรบริกรรมทำตัวสระพยัญชนะมาสมาสสนธิกันจนสำเร็จเป็น อิ ธะ เจ ตะ โส ทัฬ หัง คัณ หา หิ ถา มะ สา  เป็นอันขาดตัวในสูตรสนธิ  การทำตัว  ตั้งเป็นประโยคแล้วแปลยกศัพท์นี้เป็นวิธีการเรียนบาลีไวยากรณ์ใหญ่  ในการฝึกลบผงอธะเจนี้จะทำให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจเรื่องสระพยัญชนะที่มีอยู่ในยันต์ต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการเรียกสูตรอักขระต่าง ๆ ทำให้สามารถเรียกสูตรอักขระในยันต์ได้อย่างไม่ผิดพลาด  ดังนั้นผงอิธะเจนี้มีความยุ่งยากในขั้นต้นเนื่องจากการทำตัวจะต้องอ้างสูตรทุกคราวไป  สูตรดังกล่าวนี้เชื่อกันตามจารีตของผู้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ว่า  พระมหากัจจายนะเถระแต่ครั้งพุทธกาลได้วางแบบแผนไว้   อานุภาพของผงอิธะเจนั้นคนโบราณเชื่อว่าเป็นเสน่ห์ยิ่งนัก

๓. ผงตรีนิสิงเห  เป็นผงที่บังเกิดจากอัตรากำลังเทวดานพเคราะห์  มีหลักสำคัญอยู่ที่อัตราทวาทสมงคล  ซึ่งเป็นกลเลข ๑๒ ตัว แบ่งเป็น ๔ ชุด ชุด ละ ๓ ตัวและทุกชุดจะบวกกันได้เท่ากับ ๑๕  มีความหมายใช้แทนคุณพระตลอดจนเทพยดาในโลกธาตุ เช่น เลข ๓ แทนราชสีห์ทั้ง ๓ เลข ๗ แทนพญาช้างทั้งเจ็ด  โดยมีที่มาจากการบวกลบคูณหารอัตราเลขโบราณโดยพิสดารซึ่งใช้กำลังพระพุทธคุณเป็นฐานคือ ๑๐๘ แล้วบวกลบคูณหารจนได้อัตราดังกล่าว  เลขชุดนี้ปรากฏอยู่ในยันต์  เรียกว่ายันต์ตรีนิสิงเห  ซึ่งมีแต่ตัวเลขเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  เมื่อตั้งกลเลขสำเร็จเป็นอัตราทวาทสมงคลทั้ง ๑๒ ตัวแล้ว ก็เอาเลขกำลังในอัตราดังกล่าวมาคูณหารกันตามลำดับไป  มีการลงยันต์ประทับแล้วเสก การฝึกลบเลขต่าง ๆ ในคัมภีร์ตรีนิสิงเหนี้จะช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจถึงที่มาของตัวเลขต่าง ๆ ที่มีอยู่ในยันต์ได้ เนื่องจากมียันต์อยู่หลายแบบที่มีตัวเลขอยู่ในยันต์ด้วย

             ผงที่ลบจากกลเลขในคัมภีร์ตรีนิสิงเหเรียกว่าผงตรีนิสิงเห   เชื่อกันว่ามีอานุภาพใช้ป้องกันคุณไสยและภูตผีปีศาจ  การกระทำย่ำยีทั้งคุณผีคุณคนได้ทุกประการ  ทั้งยังเป็นตบะเดชะมหาอำนาจ  คงกระพันชาตรีทั้งคมอาวุธและป้องกันสัตว์ร้าย ผู้ใดที่สำเร็จผงตรีนิสิงเหจะเป็นสีหนาท  สามารถกำราบภูติผี ถอนทำลายอาถรรพ์ต่าง ๆ ได้  ยันต์ตรีนิสิงเหนี้ โบราณาจารย์ท่านใช้ในการป้องกันบ้านเรือนให้พ้นจากอาถรรพ์ต่าง ๆ รวมถึงป้องกันอวมงคล  โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้

๔.  ผงมหาราช  เป็นการลบนามของคนทั้งหลายที่กำหนดใช้แทนมนุษย์ทั้งปวง โดยตั้งเป็น เจ้า นาง ออ สัพเพชนา พหูชนา  นามทั้ง ๕ นี้เป็นสิ่งสมมุติใช้แทนมนุษย์หญิงชายทั้งปวงในโลก จากนั้นลบเป็น นะโม พุท ธา ยะ ลบเป็น มะ อะ อุ ลบเป็นอุโองการ  แล้วลบเป็นยันต์มหาราช ประกอบด้วยอักขระ “งะ ญะ นะ มะ”  ซึ่งโบราณเรียกว่าหัวใจสนธิ  อันเป็นพยัญชนะตัวที่สุดวรรคและตัวพยัญชนะนาสิกในบาลีไวยากรณ์นั่นเอง  การฝึกลบผงมหาราชจะทำให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจเรื่องวิธีการลากเส้นของยันต์ต่าง ๆ รวมถึงการนำเอาอักขระเข้าไปไว้ในยันต์ ผงที่ได้จากการลบยันต์ตามคัมภีร์มหาราชเชื่อกันว่ามีอานุภาพทางด้านมหานิยม  อำนวยความเจริญรุ่งเรือง  และเป็นเสน่ห์แก่ชนทั้งหลาย

๕. ผงพุทธคุณ  เป็นการลบจากอิติปิโสบทต้นห้องพระพุทธคุณโดยใช้พระอิติปิโสรัตนมาลาจนครบ  ๕๖ บท  โดยตั้งเป็นทีละอักขระนับแต่ อิ ติ ปิ โส ภะ คะ วา เป็นต้นจนถึง ภะ คะ วา ติ  ลบเป็น นะ โม พุท ธา ยะ แล้วลบเป็น มะ อะ อุ แล้วลบเป็น อิ สวา สุ แล้วลบเป็น โส ธา ยะ จากนั้นทำเป็นองค์พระเสกด้วยพระคาถาพุทธนิมิต  เรียกว่าผงพุทธคุณหรือผงอิติปิโสรัตนมาลา การฝึกลบอักขระตามคัมภีร์รัตนมาลาจะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงอักษรในหมวดพุทธคุณที่ลงในยันต์ต่าง ๆ ว่าต้องเรียกสูตรอย่างไร   ผงที่ได้จากการลบอักขระในคัมภีร์พุทธคุณเชื่อกันว่ามีอานุภาพครอบจักรวาล  ทั้งทางคุ้มครองป้องกัน และยังเป็นเมตตามหานิยมอีกด้วย     อิติปิโสรัตนมาลานั้นเป็นการบรรยายพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพิสดาร  สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

การเรียนลบผงแบบโบราณนั้นจะมีขั้นตอนและอุปการณ์ในการเรียนตามที่โบราณาจารย์ท่านได้กำหนดเอาไว้ ขั้นแรกคือการจัดเตรียมกระดานสำหรับใช้ลบผง กระดานที่ใช้เรียนนี้บางครั้งเรียกว่ากระดานหัวครู กระดานประเภทนี้หากเป็นแบบโบราณจะทำด้วยใยต้นมะละกอสมุกรัก ซึ่งทำขึ้นโดยนำเอาต้นมะละกอมาแช่น้ำให้เปื่อยยุ่ย แล้วใช้ตะแกรงกรองเอาเยื่อมะละกอขึ้นเป็นชั้น ๆ สมุกด้วยรัก กระดานแบบนี้ใช้ในผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ด้วยเช่นกัน ขั้นต่อมาคือการเตรียมดินสอสำหรับเขียนผงการทำผงตามตำรับโบราณนี้  มีการพิถีพิถันนับแต่ส่วนผสมอันนำมาทำเป็นแท่งดินสอ  โดยมากมักเป็นดินสอพองร่อนละเอียด  บางแห่งอาจผสมเครื่องหอมกระแจะจันทน์  และยอดไม้มงคลอย่างรักซ้อน  สวาด  กาหลง  แต่บางคณาจารย์ใช้ดินเหนียวบริสุทธิ์เช่นดินขุยปู  หรือดินกลางใจนาขุดลึกสักศอกหนึ่งก็จะได้ดินบริสุทธิ์  ผสมกับสิ่งของอื่น ๆ เช่นเกสรดอกไม้  ไคลเสมา  ไคลพระเจดีย์  ดินโป่ง  ดอกบัวในปลักควาย  เป็นต้น 

ผสมทำเป็นแท่งดินสอเขียนผงตามแต่เคล็ดของแต่ละสำนัก แต่จากบันทึกของเจ้าคุณพระธรรมถาวร ผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้กล่าวว่า ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จ กวดขันในการปั้นดินสอพองเป็นอันมาก ทั้งนี้ก็เพื่อหวังจะให้บังเกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์ในการเขียนคาถา เพื่อลบเอาผงวิเศษไว้ใช้ในการสร้างพระพิมพ์ ส่วนผสมของแท่งดินสอที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จทำขึ้นนั้นมีหลายชนิด เรียกว่าแท่งดินสอมหาชัย ประกอบด้วย ดินโป่ง ๗ โป่ง ดินตีนท่า ๗ ท่า ดินหลักเมือง ๗ หลัก ขี้ธูปบูชาพระประธานในโบสถ์ ยอดกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ใบพลูร่วมใจ พลูสองทาง กระแจะตะนาว(ดินสอผองผสมน้ำอบไทย) น้ำสระเจ็ดสระ(บางแห่งเรียกว่าน้ำบ่อเจ็ดรส) และดินสอพองละเอียด เสร็จแล้วนำมาปั้นเป็นแท่งดิน เคลือบด้วยน้ำเถาตำลึงคั้นเพื่อช่วยไม่ให้ผงดินสอติดมือในขณะเขียน

โครงการ พุทธธรรม พุทธศิลป์ พุทธคุณ ค้ำจุนโลก ผลงานจากนิตยสารอนุรักษ์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

About the Author

Share:
Tags: สารคดี ตอนที่ ๙ / ผ้ายันต์ / พระ / พระเครื่อง / ยันต์ / กองทุนสื่อ / กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยเเละสร้างสรรค์ / ผลงานผู้รับทุนกองทุนสื่อ / ฉบับที่ 67 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ