Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม นิตยสารอนุรักษ์

อยู่อย่างยั่งยืน

Sustainability Expo 2020

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 60
เรื่องและภาพ โดย ศิริวรรณ เต็มผาดี

จะดีแค่ไหน ถ้าเรามีพลังที่จะเปลี่ยน ‘เรา’ และ ‘โลก’
สู่สิ่งที่ดีกว่าในวันนี้ได้

อากาศที่ดีกว่า อาหารที่ดีกว่า สุขภาพที่ดีกว่า การศึกษาที่ดีกว่า เศรษฐกิจการเงินที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า 

ในช่วงสองทศวรรษมานี้ ความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้านของโลก สร้างแรงเหวี่ยงให้เกิดประโยคที่เรามักพูดกันบ่อยครั้งขึ้นว่า “สังคมเราเดี๋ยวนี้มันแย่” “โลกเราแย่ขึ้นทุกวัน ๆ” “อากาศเลวร้ายขึ้นทุกปี”


สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ยิ่งเป็นตัวหนุนให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ความมั่นคงทางด้านอาหาร พลังงาน และความสงบสุขของโลกยิ่งถดถอย ในขณะที่สภาวะด้านสิ่งแวดล้อมโลกก็เข้าขั้นวิกฤติไปทุกขณะ เห็นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อให้เราสามารถ ‘อนุรักษ์’ โลกที่น่าอยู่เอาไว้ได้ ‘ความยั่งยืน’ (sustainability) จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาโลก ซึ่งหมายถึงการหาแนวทางเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ไปพร้อม ๆ กับการทำให้โลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตน่าอยู่ โดยจะเป็นการพัฒนาความยั่งยืนทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรทางสังคม 

การคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วในงาน ทำให้คนใส่ใจในการแยกทิ้งมากขึ้น

หลังจากที่องค์กรสหประชาชาติได้นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนของโลกมาเป็นข้อแนะนำในการพัฒนาประเทศต่าง ๆ บรรดาผู้นำโลกก็ได้รับรองข้อตกลงใน “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals – SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาในระดับนานาชาติ เพื่อให้เป็นทิศทางการพัฒนาโลก โดยกำหนดกรอบเวลาไว้ตั้งแต่ปี ๑๕๐๑ – ๒๐๓๐ เป้าหมายเหล่านี้เป็นการเรียกร้องในระดับโลกเพื่อใช้เป็นมาตรการในการกำจัดความยากจน ปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลก และเป็นหลักประกันว่าผู้คนบนโลกจะอยู่ในความสงบสุขและรุ่งเรือง

แต่เป้าหมายนี้ไม่อาจจะเป็นจริงได้ หากไม่เกิดการร่วมลงมือทำอย่างแท้จริง 

งาน Sustainability Expo 2020 จากความคิดริเริ่มของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีขึ้นเพราะอยากให้ผู้คนได้ตระหนัก เข้าใจ แล้วนำไปสู่การลงมือทำอย่างแท้จริง

ภายใต้สโลแกน ‘สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า’ งานเอ็กซ์โปนี้ ได้แบ่งออกเป็น ๔ โซน โซนอาหาร ที่นำเสนออาหารอร่อยและมีส่วนร่วมในการรักษ์โลก โซนเด็ก ที่ให้คนรุ่นเยาว์ได้เรียนรู้ร่วมแรงสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืน โซนตลาดขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสินค้าเพื่อความยั่งยืน สุดท้ายคือ โซนนิทรรศการหลัก ที่แม้ผู้เข้าชมจะคับคั่งน้อยกว่าโซนอาหารที่มีนักชิมนักช้อปเนืองแน่นตลอดวัน แต่โซนนิทรรศการหลักนี้แหละคือหัวใจของงานครั้งนี้ ซึ่งได้นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการจัดงาน โดยมีจุดประสงค์หลักคือ สร้างการรับรู้และสนับสนุนแนวทางปฏิบัติจริงในการแก้ปัญหาระดับโลก สร้างสมดุลที่ดีขึ้นสำหรับเรา ชุมชนของเรา และโลกของเรา

การจัดแสดงเรื่อง ‘ฝุ่นไม่ได้หายไปไหนแต่ย้ายที่’
บูธแสดงการร่วมเปลี่ยนแปลง
เพื่อสร้างความยั่งยืนของแบรนด์ “ช้าง”
Greenlab นำเสนอถุงพลาสติกทำจากมันสำปะหลัง
และผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารทำจากพืชหลากชนิด

ในงาน นอกจากจะมีผู้มีบทบาทในการเป็นผู้นำเพื่อการขับเคลื่อนสังคมสู่สิ่งที่ดีกว่าในด้านต่าง ๆ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ อาทิ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล คุณต้องใจ ธนะชานันท์  คุณสุทธิชัย หยุ่น  รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต  คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นต้น ยังมีการจัดแสดงผลงานของหลากหลายองค์กรที่มีหมุดหมายในการสร้างความยั่งยืนร่วมกัน

บริเวณทางเข้าด้านหน้าของโซนนิทรรศการหลัก ต้อนรับผู้มาเยือนซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนเมืองหลวงมากที่สุดด้วย ‘ชีวิตท้าทายที่กรุงเทพฯ’ มหานครที่ต้องเผชิญความท้าทายในการพัฒนาหลายประการ (จากสถิติในช่วง ๔ ปี (The Economist Intelligence Unit 2018 / Safe Cities Index 2021) พบว่า กรุงเทพฯ รั้งท้ายทั้งในแง่ความน่าอยู่ ความปลอดภัยส่วนบุคคล ด้านสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานและไซเบอร์ อาชญากรรมและความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการมีพื้นที่สีเขียว คุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย) 

บนบอร์ดใหญ่ยักษ์ ไล่เรียงความท้าทายอันดับที่ ๑: เมืองที่พื้นที่สีเขียวสาธารณะยังกระจายไม่ทั่วถึงทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ อันดับที่ ๒: เมืองที่ยังเดินไม่ได้เดินไม่ดี เพราะการเดินทางที่หลากหลาย รถ ราง เรือ ยังครอบคลุมไม่ทุกพื้นที่ อันดับที่ ๓: เมืองที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขของผู้คนในเมือง ด้วยการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ ในขณะที่บริการสาธารณสุขกระจุกตัวอยู่ในใจกลางเมืองเสียมาก อันดับ ๔: เมืองที่ยังมีข้อจำกัดด้านความรู้ที่เท่าเทียม ด้วยแหล่งเรียนรู้อย่าง พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ห้องสมุด และสถานที่ช่วยเสริมประสบการณ์การเรียนรู้อย่างสวนสาธารณะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองชั้นใน

นิทรรศการ ‘ชีวิตท้าทายที่กรุงเทพฯ’
ร่วมกันแสดงความคิดเห็นแก้ปัญหาเมืองกรุง ด้วยการตอบ yes/no

ที่น่าสนใจคือการให้ผู้เข้าชมงานได้มีส่วนร่วม ผ่านการตอบคำถาม  ‘yes’ หรือ ‘no’  ๑๐ ข้อ  เป็นการเปิดให้ผู้มาร่วมงานได้แสดงพลังความคิดต่อการจัดการกับปัญหาของเมือง  อาทิ ไฟส่องสว่างสำคัญกว่านำสายไฟลงดิน  เปลี่ยนพื้นที่ร้างใต้สะพานให้เป็นสวนขนาดเล็ก ออกกฎบังคับให้มีสถานพยาบาลไม่เกิน ๕ กิโลเมตรในเขตชุมชน เป็นต้น

ใกล้ ๆ กันคือบู้ธของภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่าง Bangkok Rooftop Farming, Circular Urban Farming Network (เครือข่ายหมุนเวียนเปลี่ยนเมือง) The NETWORK for Sustainable Development Association (สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ที่มาร่วมกันจัดแสดงสวนผักบนดาดฟ้า และการเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย

ผลงานแปลงผักบนดาดฟ้าของคนเมืองหลวงที่มีทั้งพืชผลไม้ไทย และพืชผักสายพันธุ์ฝรั่งอย่างเคล คอส สวิสชาร์ด จากหลายนักปลูกคนกรุงที่ไม่ได้มีพื้นที่มากมาย แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ กระจายไปทั่วเมือง และทำให้มีผักปลอดภัยเป็นอาหารของคนเมือง

การจัดแสดง ‘ฝุ่นเมือง เรียนรู้และอยู่ร่วม’ ทำให้หลาย ๆ คนรู้ว่า คำว่า ‘ไม่มีฝุ่นแล้ว’ นั้น ไม่มีอยู่จริง เพราะฝุ่นไม่ได้หายไป เพียงแต่ย้ายที่ของมันแค่นั้น และฝุ่นยังคงอยู่ แม้ว่าเราจะไม่เห็นมันก็ตาม

เช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ไทยก็เป็นหนึ่งที่ร่วมวางเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ผลผลิตจากฟาร์มผักบนดาดฟ้าในเมืองกรุง

โรดแมพของกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นเส้นทางสู่ Net Zero ๒๐๖๔ ของไทย ที่เน้นการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อย  GHG (Greenhouse Gas อันเกิดจากรถยนต์ โรงงาน การทำฟาร์มปศุสัตว์ ขยะมูลฝอย ) กับ การดูดกลับ GHG (ด้วยต้นไม้ และการใช้พลังงานที่มีอยู่ในธรรมชาติ)

GC ให้ผู้มางานได้สัมผัสประสบการณ์ Upcycling จากพลาสติกใช้แล้ว มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า

หลายแบรนด์ หลากองค์กร ได้เข้ามาร่วมในงานนี้ เพี่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อโลก เพราะทุกวันนี้ ธุรกิจใด ๆ ก็ไม่อาจยั่งยืนได้ หากไม่ใส่ใจความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เราได้เห็นแบรนด์น้ำดื่ม “ช้าง” บอกเล่าเรื่องการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดทรัพยากรในการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมมากกว่า ๓ ล้านกิโลกรัม/ปี  เราได้เห็น GC – บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ตั้งบู้ธ Trashpresso เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้มีประสบการณ์ Upcycling พลาสติกใช้แล้วนำไปมีมูลค่าเพิ่มได้ เราได้เห็นสารพัดรถทั้งเล็กและใหญ่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เราได้เห็นการนำเอาเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาขยะ ทั้งในรูปแบบของการกลายเป็นปุ๋ยและเป็นสินค้าอื่น ๆ เราได้เห็นถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำมาจากพืช และแนวคิดน่าสนใจหลายประการในงานนี้

แต่ชุดข้อมูลความรู้หรือเทคโนโลยีใด ๆ ก็ไม่อาจช่วยได้ หากเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เหมือนที่ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต  กล่าวไว้ว่า “นวัตกรรมที่ดีต่อโลกและสังคม ต้องเริ่มจากการลงมือทำ”

เราแสดงพลังเปลี่ยนโลกสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ด้วยการร่วมกันลงมือทำเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เพื่อโลกที่เรายังใช้ชีวิตอยู่ และเพื่อโลกที่คนรุ่นหลังเราจะได้อยู่สืบไป

About the Author

Share:
Tags: สิ่งแวดล้อม / Sustainability Expo 2020 / Thailand /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ