Monday, May 6, 2024
เพื่อสังคม ซีพีเอฟ

CPF ปลูกฝังเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม จัดค่าย “ปันรู้ ปลูกรักษ์”ที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี

ห้องเรียนธรรมชาติ จากการนำเด็กและเยาวชนลงมือปฏิบัติจริง เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กๆ รัก หวงแหน และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ด้วยตระหนักถึงความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ และอากาศบริสุทธิ์ “บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ” สานต่อโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชายเลน และยังต่อยอดไปสู่การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการเหล่านี้ ผ่านการจัด”โครงการปันรู้ ปลูกรักษ์” โดยร่วมมือกับเครือข่ายสถานศึกษามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา

ปี 2567 ซีพีเอฟ นำร่องความร่วมมือกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกโคกกรวด โครงการรักษ์นิเวศ และกรมป่าไม้ นำร่องจัดค่ายอนุรักษ์สภาพแวดล้อมปันรู้ ปลูกรักษ์ ณ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี

โดยชาวค่ายในครั้งนี้อาจารย์นัทภา วรรณประพันธ์ ผู้อำนวยการและคณะครู นำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สมาชิกชมรมอนุรักษ์ฯ และนักเรียนที่มีความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 40 คน เข้าร่วมกิจกรรม

โครงการเขาพระยาเดินธง พื้นที่ต้นแบบด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าโดยซีพีเอฟ ร่วมกับกรมป่าไม้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ได้จัดการเรียนรู้แบบ Play+Learn เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) บูรณาการกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์(Science Technology Engineering and Mathematics หรือ STEM) ประกอบด้วย ฐานเส้นทางของนักอนุรักษ์ โดยให้ชาวค่ายทุกคนได้เดินสำรวจป่าธรรมชาติ ในเส้นทางการทำไม้ในอดีต การทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ฐาน Climate Change เรียนรู้ชนิดเมล็ดพันธุ์ไม้ การเพาะชำกล้าไม้ การทำ Seedball เลียนแบบการขยายพันธุ์ไม้ของสัตว์ รุกขกรผู้พิทักษ์ต้นไม้ การวัดกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ ฐาน Biodiversity เรียนรู้ความหลากหลายของผีเสื้อ แมลง

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Bird Walk การเดินชมนกในธรรมชาติ ก่อนที่จะนำสู่กิจกรรมภาพในฝันของนักอนุรักษ์ โดยระดมความคิดกันที่แหล่งอาหารสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือบึงนกกระจาบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูนก และแหล่งน้ำที่สำคัญในโครงการฯ พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การฟื้นฟูป่าเขาพระยาเดินธงจากป่าเสื่อมโทรมสู่สภาพปัจจุบัน

อาจารย์นัทภา วรรณประพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งตามหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตลอดจนการส่งเสริมให้นักเรียนได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่ มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันเป็นทีม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สำนึกรักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ แหล่งน้ำ และสัตว์ป่าในธรรมชาติ ซึ่งทาง ร.ร.มีชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอยู่แล้ว สอดคล้องกับฐานการเรียนรู้ต่างๆในพื้นที่ของโครงการฯ

ภคนนท์ อองกุลนะ นักเรียน ชั้น ม.4 กล่าวว่า ดีใจที่มาร่วมกิจกรรมกับค่ายอนุรักษ์ ได้เรียนรู้วิธีเพาะพันธุ์ไม้ รู้จักชนิดของต้นไม้ ชอบมากกับกิจกรรมในครั้งนี้ และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ได้ และยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนไทย มีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ธนโชติ ขุนงิ้ว ชั้น ม.6 แชร์ประสบการณ์ลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า ชอบกิจกรรมส่องนก เพราะการที่เราได้มาเห็นความสมบูรณ์ของป่าจากป่าที่เสื่อมโทรม เป็นการสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพ อาทิ นกชนิดต่างๆ ทำให้เห็นว่าความสมบูรณ์ของป่ากำลังกลับมา และเมื่อป่าสมบูรณ์ขึ้นก็จะมีสัตว์ชนิดต่างๆ มากขึ้น ขอบคุณพี่ๆ ซีพีเอฟ ที่มาแชร์ข้อมูลและทำโครงการดีๆ และอยากให้มีการทำต่อเนื่อง

ซีพีเอฟ คาดหวังให้โครงการ”ปันรู้ ปลูกรักษ์” เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการรับรู้และส่งเสริมความตระหนักสู่เด็กและเยาวชนไทย ในความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยกันดูแลทรัพยากรของชาติอย่างยั่งยืน

About the Author

Share:
Tags: CPF / เขาพระยาเดินธง / ค่ายปันรู้ปลูกรักษ์ / ห้องเรียนธรรมชาติ / ป่าต้นน้ำ / โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ