Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม ซีพีเอฟ

ซีพี – ซีพีเอฟ เพิ่มพื้นที่สีเขียว คิกออฟฟื้นฟูป่าชายเลนที่ตราด

“ป่าชายเลน” ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการปกป้อง ฟื้นฟู และรักษาป่าชายเลน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ภายใต้นโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรป่าชายเลนมาอย่างต่อเนื่อง เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว คิกออฟปลูกป่าชายเลน พื้นที่ตำบลท่าพริก จังหวัดตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัทเอง สานต่อ” โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ ซีพี-ซีพีเอฟ นำคณะผู้บริหารในเครือ ฯ อาทิ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร ซีพีเอฟ นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ เขตประเทศอินเดีย น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ และพนักงานซีพีเอฟ ร่วมกับ นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และชาวชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันปลูกต้นถั่วขาว ประสักดอกแดง โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ แสมขาว แสมดำ ลำแพน มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าชายเลนที่นี่ มากกว่า 1,300 ไร่ พร้อมทั้งปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทั้งปลาและปูดำ สร้างแหล่งอาหารสำหรับชุมชน

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ชุมชน และภาคเอกชนอย่างซีพีเอฟในการปลูกป่า เป็นการปลูกความรักธรรมชาติ ให้พี่น้องประชาชน เพราะจังหวัดตราดมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ก็ต้องเน้นเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงจะมีความยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ ในการทำกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องและเติบโตได้ดี อาทิ การทำผ้าสามป่า คือ ป่าชุมชน ป่าสมุนไพร และป่าชายเลน เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนใช้ของจากธรรมชาติ มาทำเป็นเสื้อผ้า นำธรรมชาติไปสู่ธรรมชาติ และไม่ทำร้ายธรรมชาติ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่คู่โลกใบนี้ โครงการน้ำดื่มชุมชน ช่วยชุมชนได้ซื้อน้ำดื่มที่สะอาดในราคาที่ไม่แพง และยังทำให้พี่น้องชุมชนมีรายได้ นำรายได้กลับสู่สังคม รวมไปถึงการทำปุ๋ยนาโน และการบริหารจัดการขยะ

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์ป่าชายเลน กล่าวว่า กิจกรรมปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ต.ท่าพริก จ.ตราด เป็นการคิกออฟปลูกป่าในพื้นที่ของบริษัทฯเอง ต่อยอดการอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่า ภายใต้โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีเอฟร่วมมือกับภาครัฐและชุมชน ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งระหว่างปี 2557-2561 เป็นระยะที่หนึ่งของโครงการฯ ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนรวม 2,388 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระยอง สงขลา ชุมพร และพังงา ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่สอง ปี 2562-2566 มีเป้าหมายอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่รวมเกือบ 3,000 ไร่ พื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร และ ตราด และในวันนี้ ยังมีกิจกรรมปล่อยปลาและปูดำ เพื่อสร้างแหล่งอาหารของชุมชน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน ตามกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืนของซีพีเอฟ คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดิน น้ำ ป่าคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทฯดำเนินงานเกี่ยวข้องกับอาหาร ดังนั้นการสร้างอาหารมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และตอบโจทย์ปรัชญาสามประโยชน์ของเครือซีพี คือ ประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และบริษัท

นายเสน่ห์ อภิบาลศรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลท่าพริก กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐมาช่วยกันดูแลป่า เพราะที่นี่ก็เป็นแหล่งทำกินของชาวชุมชน ไม่ใช่เฉพาะชุมชนตำบลท่าพริกเท่านั้น แต่รวมชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ขอขอบคุณแทนชาวชุมชน ที่ภาคเอกชนเห็นความสำคัญและเข้ามาช่วยดูแลป่าชายเลนในชุมชนของเรา ซึ่งจะช่วยให้ป่าชายเลนแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ วันนี้ ผมมีความสุขมากที่เห็นทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมาช่วยกันดูแลป่า

กิจกรรมลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังได้เยี่ยมชมความสำเร็จของชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ อาทิ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส จ.ระยอง มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อ เช่น กะปิ น้ำปลา ชาใบขลู่ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด ทำผ้าสามป่า ซึ่งเป็นการทำสีของผ้าจากใบไม้ที่เก็บจาก 3 ป่า คือ ป่าชุมชน ป่าสมุนไพร และป่าชายเลน การผลิตน้ำดื่มชุมชน ปุ๋ยนาโน ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะ ซึ่งปัจจุบัน สร้างอาชีพที่ยั่งยืนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / เที่ยวไปรักษ์ไป / anurakmagazine / อนุรักษ์ออนไลน์ / CPF / เพื่อสังคม /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ