Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม ภูมิปัญญาไทย ปตท

ฟาร์มดูฮาร์ต อุดรธานี ต้นแบบ Smart Farming เพื่อคนพิการ

ฟาร์มดูฮาร์ต อุดรธานี

ต้นแบบ Smart Farming เพื่อคนพิการ

คนพิการปรารถนาที่จะอยู่อย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตนเองได้ ขอเพียงคนในสังคมนั้นให้โอกาส ที่ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคนพิการจังหวัดอุดรธานี หรือ “ฟาร์มดูฮาร์ต” แห่งนี้ ก็มีความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะเสริมสร้างให้คนพิการในพื้นที่ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ได้นำหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในการเลี้ยงชีพด้วยเกษตรกรรม


นอกจากอบรมพัฒนาให้คนพิการในหมู่บ้านและพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีอาชีพและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์เพื่อลดภาระของครอบครัวและผู้ดูแลแล้ว ที่นี่ยังมีคนพิการที่ทำการเกษตรอยู่ภายในฟาร์มด้วย ทว่าเกษตรกรรมที่หวังพึ่งฟ้ารอฝนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถให้ผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ศูนย์ฯ มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายที่จะนำกลับมาเป็นรายได้หล่อเลี้ยงศูนย์ฯ ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน


ด้วยเล็งเห็นถึงความตั้งใจอันดี ประกอบกับที่ตั้งของฟาร์มดูฮาร์ตอยู่ในพื้นที่เครือข่ายของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ(IRPC) หนึ่งในบริษัทในกลุ่ม ปตท. จึงได้นำระบบการบริหารจัดการและนวัตกรรมการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ หรือ Smart Farming ในโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มกลุ่ม ปตท. เข้าไปช่วยกลุ่มคนพิการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรโดยต่อยอดจากต้นทุนเดิมที่ทางฟาร์มมีอยู่แล้ว ผ่านทางพนักงานจากโครงการ Restart Thailand ซึ่งเป็นโครงการที่ให้โอกาสพนักงานและนักศึกษาจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่น


เนื่องจากหัวใจในการทำการเกษตรคือ น้ำ แผนพัฒนาพื้นที่ในเฟสแรกจึงได้มีการขุดลอกสระเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ปริมาตร ๒๘,๐๐๐ ลบ.ม. ภายใต้โครงการลำไทรโยงโมเดล เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน และใช้เป็นแหล่งน้ำหลักในการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยจะใช้โซลาร์เซลล์เป็นตัวช่วยผันน้ำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรทั้งหมด

ภายหลังการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง IRPC คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคนพิการ สังฆมณฑลอุดรธานี ความร่วมมือด้านวิชาการก็เกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาด้านการปลูกพืช การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร จะเชื่อมโยงมาปรับใช้ในโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันพัฒนาฟาร์มดูฮาร์ตให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ Smart Farming สำหรับคนพิการ รวมทั้งเป็นแหล่งฝึกงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนพิการต่อไป

ขณะเดียวกันทีมงานจากโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มกลุ่ม ปตท. ยังช่วยดำเนินการขุดบ่อปริมาตร ๔,๘๐๐ ลบ.ม. และก่อสร้างโรงเลี้ยงไก่ไข่เหนือบ่อปลา ถือเป็นวิถีการทำเกษตรแบบผสมผสานคือ เลี้ยงไก่ไข่ ได้ปลา ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างรายได้ ๒ ทาง ในอนาคตยังตั้งใจจะเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยพัฒนาเป็นไข่ไก่เสริมไอโอดีนด้วย


สำหรับโรงเลี้ยงไก่ไข่นั้นได้พัฒนารูปแบบการวางกรงไก่ที่ง่ายต่อการทำความสะอาด มีการวางระบบน้ำผ่านหัวนิปเปิ้ลแทนการให้น้ำแบบปกติเพื่อป้องกันโรคติดต่อของไก่ รวมทั้งติดตั้งสปริงเกอร์บนหลังคาเพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน ที่น่าสนใจคือการออกแบบทางเดินที่คำนึงถึงคนพิการที่นั่งวีลแชร์ ให้สามารถเคลื่อนที่ตัวเองไปดูแลและเลี้ยงไก่ไข่ได้โดยสะดวกอีกด้วย

นอกจากนี้ยังได้นวัตกรรมนาโนซิงค์ออกไซด์ (Nano ZnO) ของไออาร์พีซีที่พัฒนาต่อยอดมาจากซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ทำให้มีขนาดเล็กระดับอนุภาคนาโนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืชได้ดียิ่งขึ้นเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรและปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม มาทดสอบใช้กับนาข้าวในฟาร์มทั้งยังนำระบบให้น้ำด้วยเทคโนโลยี IoT จากสถาบันนวัตกรรม ปตท. มาใช้ลดระยะเวลาในการให้น้ำในโรงเรือน เรียกว่าใช้เทคโนโลยีให้เอื้อต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของคนพิการมากที่สุด ถือเป็นการส่งต่อกำลังใจหวังให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีดั่งใจปรารถนา


About the Author

Share:
Tags: อุดรธานี / นิตยสารอนุรักษ์ / คนพิการ / anurakmagazine / Restart Thailand / ไออาร์พีซี / เกษตรกรรมสมัยใหม่ / ภูมิปัญญาไทย / ชุมชนท้องถิ่น / มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / ptt / วีลแชร์ / เกษตรกร / เลี้ยงไก่ / Smart Farming / โครงการลำไทรโยงโมเดล / ฟาร์มดูฮาร์ต /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ