Monday, May 20, 2024
เพื่อสังคม ภูมิปัญญาไทย ปตท

ตามรอยเกษตรปลอดภัยนำสมัย วิถีชุมชนท่ามะนาว

ชุมชนตำบลท่ามะนาว จ.ลพบุรี ถือเป็นหนึ่งในชุมชนตัวอย่างที่เปิดใจรับการพัฒนา และต้องการที่จะพึ่งพาตนเองจากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง เมื่อได้เรียนรู้การจัดทำบัญชีครัวเรือน แล้วพบว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานค่อนข้างสูง ก็พยายามหันมาผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกร และใช้พลังงานทดแทนนี้ช่วยลดภาระค่าพลังงานของครัวเรือนลง

ตามรอยเกษตรปลอดภัย นำสมัย

วิถีชุมชนท่ามะนาว

ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนเกษตรปลอดภัยตำบลท่ามะนาวขึ้นในปี 2558 หวังยกระดับคุณภาพพืชผักสวนครัวสู่อาหารปลอดภัย และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนจากเกษตรกรรมที่ยึดเป็นอาชีพมาแต่บรรพบุรุษ แต่ปัญหาเรื่องแมลงศัตรูพืช และปัญหาฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจ ทำให้ชาวชุมชนไม่สามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ตลอดทั้งปี

ทุกปัญหามีทางออก และปัญหาด้านการเกษตรยุคนี้ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการแบบสากลมาประยุกต์ใช้ ภายใต้การนำของพนักงาน Restart Thailand ที่ลงพื้นที่ไปคลุกคลีอยู่กับปัญหา แม้ปี 2563 จะเป็นปีที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดพอดี แต่ความทุกข์ร้อนเรื่องปากท้องของชุมชนนั้นรอไม่ได้ และทางทีมงานก็แนะนำให้เกษตรกรในชุมชนได้รู้จักกับการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ หรือ Smart Farming ในโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มของกลุ่ม ปตท.

หลังจากนั้นโรงเรือนต้นแบบ 3 หลัง 3 รูปแบบก็ถูกสร้างขึ้น ทั้งหมดคลุมด้วยผ้าใบกันความร้อนซึ่งเป็นเทคโนโลยีจาก GC พร้อมติดตั้งระบบให้น้ำอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT สำหรับทดลองใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวในโรงเรือน ที่พึ่งพาพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ระบบดังกล่าวเป็นการพัฒนาร่วมกันของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และสถาบันนวัตกรรม ปตท. นอกจากนี้ ยังมีการใช้นวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรในการให้ปุ๋ยแก่แปลงปลูกพืชไร่อย่างอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชเป้าหมายของตำบลท่ามะนาวเช่นกัน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก ปตท.สผ. และ ARV

คำว่านวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม จึงไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด เพราะแม้เกษตรกรจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวที่บ้าน ก็สามารถเปิด-ปิดระบบการให้น้ำพืชผักในโรงเรือนแบบอัตโนมัติ เพียงกดสั่งการง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ขณะเดียวกันยังสามารถปลูกพืชผักสวนครัวได้ทุกชนิดในทุกฤดูกาล โดยไม่ต้องกลัวว่าแมลงร้ายจะมารบกวนแปลงผักอีกต่อไป

ความท้าทายนับต่อจากนี้ คือการขยายผลความสำเร็จที่ตั้งต้นจากโรงเรือนต้นแบบจำนวน 3 หลัง โดยพนักงาน Restart Thailand ได้ช่วยชุมชนตำบลท่ามะนาวในการจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานรัฐและเอกชน มาก่อสร้างโรงเรือนปลูกผักพร้อมติดตั้งระบบการให้น้ำอัจฉริยะในพื้นที่ทั้งหมด 73 โรงเรือนตามแผนที่วางเอาไว้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้งามๆ ให้กับวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 940,000 บาท รวมทั้งนำโดรนเพื่อการเกษตรมาใช้ในพื้นที่จริงของเกษตรกรรวม 500 ไร่ เพื่อเพิ่มรายได้จากความสามารถในการผลิต ลดเวลาการทำงาน และลดค่าแรงงานของเกษตรกรลงอย่างน่าพอใจ

ความฝันที่อยากจะเห็นชุมชนตำบลท่ามะนาวเป็นศูนย์กลางผลผลิตทางการเกษตร และศูนย์จำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับผู้บริโภคโดยตรง ก็คงจะเป็นจริงในไม่ช้าด้วยพลังการขับเคลื่อนของเกษตรกรรมสมัยใหม่นั่นเอง

About the Author

Share:
Tags: เกษตรกรรมสมัยใหม่ / นิตยสารอนุรักษ์ / ชุมชนท่ามะนาว / anurakmagazine / เกษตร / ภูมิปัญญาไทย / เพื่อสังคม / ปตท / ptt / Smart Farming /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ