Monday, May 20, 2024
เพื่อสังคม ภูมิปัญญาไทย ปตท

นวัตกรรมโรงเรือนอัจฉริยะ จุดเปลี่ยนผลผลิตฟักทอง ของเกษตรกรหนองกุงศรี

ด้วยพื้นที่อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่นอกเขตชลประทาน การทำการเกษตรจึงค่อนข้างยากลำบาก เมื่อต้องอาศัยพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก แต่เกษตรกรก็เรียนรู้ที่จะปรับตัว โดยหันมาปลูกฟักทองซึ่งเป็นพืชทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย ดูแลง่าย ศัตรูพืชไม่รบกวน ฟักทองที่ได้จึงมีผลงาม เป็นที่ต้องการของตลาดเพราะผลผลิตปลอดจากการใช้สารเคมี

นวัตกรรมโรงเรือนอัจฉริยะ

จุดเปลี่ยนผลผลิตฟักทอง ของเกษตรกรหนองกุงศรี

ที่น่าสนใจคือเกษตรกรในเขตอำเภอหนองกุงศรีมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งในการทำเกษตรแปลงใหญ่ ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักปลอดภัยและสมุนไพร รวมทั้งจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรก้าวแสน จำกัด เพื่อยกระดับเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชน กระทั่งมีโอกาสส่งฟักทองป้อนให้กับโมเดิร์นเทรดปีนี้เป็นปีที่ ๒ แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจน แต่วิถีการทำเกษตรดั้งเดิมในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเพาะปลูกฟักทองได้เพียง ๑ รอบต่อครั้งในฤดูกาลเท่านัน เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ผลิตผลที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ทว่าเกษตรกรกลับมายิ้มได้ มองเห็นอนาคตที่สดใสมากขึ้น เมื่อมีคนรุ่นใหม่อย่างพนักงาน Restart Thailand มาช่วยยกระดับศักยภาพชุมชน โดยแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรรู้จักประยุกต์ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริหารจัดการแบบสากลสำหรับทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ หรือ Smart Farming ภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม” ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่ม ปตท.

สิ่งที่เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างในพื้นที่หนองกุงศรีวันนี้คือ โรงเรือนที่มีการติดตั้งเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งจะมาเป็นผู้ช่วยเกษตรกรในการตรวจวัดและควบคุมมาตรฐานการเพาะปลูกฟักทองภายในโรงเรือน เช่น ระบบการให้น้ำตามค่าความชื้นในดินที่ตรวจวัดได้จากเซ็นเซอร์ ระบบการให้ปุ๋ย ใส่ฮอร์โมนโดยไม่สูญเปล่า ระบบการเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับเซ็นเซอร์วัดค่าความเข้มของแสงในโรงเรือน เมื่อสามารถควบคุมความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศได้ เกษตรกรย่อมจะปลูกฟักทองให้เจริญเติบโตงอกงามได้ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ พนักงาน Restart Thailand ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานเพื่อการเกษตร ได้ช่วยเขียนข้อเสนอโครงการจนกลุ่มเกษตรกรพื้นที่หนองกุงศรีได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างโรงเรือนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ขณะเดียวกันก็ยังช่วยออกแบบแปลงปลูกโดยคำนวณจากความต้องการฟักทองของตลาดในปี ๒๕๖๕ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ ๖,๐๐๐ กิโลกรัมต่อสัปดาห์

เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการจึงเป็นที่มาของการออกแบบแปลงให้สามารถปลูกฟักทองได้ ๑๐๐ ต้นต่อแปลง และโรงเรือนหนึ่งจะได้ผลผลิตฟักทอง ๒๐๐ ลูกต่อรอบ จากการคำนวณศักยภาพของโรงเรือนอัจฉริยะเชื่อว่าจะสามารถปลูกฟักทองได้สูงถึง ๓ รอบต่อปี โดยเกษตรกรได้รับคำแนะนำเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนการนำผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยนี้ไปขอรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่อไปในอนาคต

และนี่คือ แนวทางสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งสร้างรอยยิ้มให้เกษตรกรทั่วไทยแม้ในช่วงวิกฤตโควิด-๑๙เมื่อผลผลิตของชุมชนเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพด้วยเกษตรกรรมสมัยใหม่ พี่น้องเกษตรกรจึงมีรายได้เพิ่มขึ้นและเรียนรู้ที่จะขยายโอกาสด้วยการกระจายฟักทองหนองกุงศรีผ่านช่องทางออนไลน์ไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศต่อไป

About the Author

Share:
Tags: ปตท / นิตยสารอนุรักษ์ / ptt / อนุรักษ์ / ฟักทอง / anurakmagazine / เกษตรกร / Smart Farming / ชุมชน / กลุ่มปตท. / โรงเรือน / ภูมิปัญญาไทย / หนองกุงศรี / pttep / กาฬสินธ์ุ / อนุรักษ์ออนไลน์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ