Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ในระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา จะเห็นข่าวการควบรวมของบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ หรือกรณีที่ผู้ประกอบการถูกร้องเรียนจากผู้ประกอบการด้วยกัน หรือผู้ประกอบการถูกภาครัฐตรวจสอบว่ามีการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เช่น การไม่ต่อสัญญาจัดจำหน่าย หรือการห้ามจำหน่ายสินค้าของคู่แข่ง ที่เรียกว่า Exclusive Dealing ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าทั้งสิ้น

Baker McKenzie จะชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมจะช่วยให้สินค้าและบริการมีความหลากหลาย ถูกจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม และมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด นอกจากเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นแรงกระตุ้นที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจพัฒนาและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยฉบับที่ปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ปรับปรุงและแก้ไขจากพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฉบับที่แรก ที่ออกในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแล ๔ ด้านหลัก ที่เป็นไปตามหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าสากล ได้แก่

๑ การป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม
๒ การห้ามตกลงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ก่อให้เกิดการผูกขาด การลด และการจำกัดการแข่งขันในตลาด
๓ การกำกับดูแลการรวมธุรกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดผ่านกลไกการขออนุญาตหรือการแจ้งการรวมธุรกิจ
๔ การป้องกันการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ

ทั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่างๆ สามารถพัฒนาและเติบโตได้ พร้อมเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีกด้วย

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าเป็นกฎหมายแม่บทใช้บังคับทั่วไปกับทุกธุรกิจ แต่มีข้อยกเว้นในบางกลุ่มธุรกิจที่มีการกำหนดไว้โดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโทรคมนาคม เป็นต้น หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพแล้ว การกระทำทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ และอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้ เช่น อาจเกิดการผูกขาดการขายสินค้าโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เองจึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ Trade Competition
Commission Thailand (TCCT) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เนื่องด้วยเป็นองค์กรอิสระและไม่ถือเป็นหน่วยงานราชการ อีกทั้งมีนโยบายการดำเนินงานที่ทันสมัย TCCT จึงถือเป็นหน่วยงานรัฐที่มีความแอ็กทีฟในการปฏิบัติหน้าที่อย่างยิ่ง

ปัจจุบันเทรนด์ในการบังคับใช้กฎหมายของสำนักแข่งขันทางการค้า หรือ OTCC นั้น ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและเฝ้าระวังการรวมธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการรวมธุรกิจในรูปแบบที่ต้องขออนุญาตก่อนการรวมธุรกิจ หรือในกรณีที่ต้องแจ้งการรวมธุรกิจภายหลัง

การเฝ้าระวังกิจกรรมทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการป้องกันพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจอันอาจถือเป็นการกระทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมีการออกแนวทางปฏิบัติเฉพาะสำหรับผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและแพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ประกอบธุรกิจที่มีคู่ค้าเป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ร้องเรียน เพื่อรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ จากผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย

เมื่อผู้บังคับใช้กฎหมายมีความกระตือรือร้นในการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าก็มีบทบาทและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ในขั้นตอนการเริ่มลงทุน จนถึงการดำเนินธุรกิจ และติดต่อกับคู่ค้า ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบเชิงรุก ให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของตนและระบบของบริษัทนั้น สอดคล้องและเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากจะทำให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพในตลาดอีกด้วย ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ กฎหมายการแข่งขันทางการค้านั้นมีการบังคับใช้ทั่วโลกกว่า ๑๖๐ ประเทศ และกฎหมายในบางประเทศมีสภาพบังคับนอกราชอาณาจักร หมายความว่า แม้ผู้ประกอบธุรกิจจะกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร อาจจะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายด้วย ดังนั้น จึงควรจะต้องมีความระมัดระวังอย่างยิ่ง

About the Author

Share:
Tags: กฎหมายการแข่งขันทางการค้า / ธุรกิจ / กฏหมาย / การแข่งขันทางการค้า / การค้า /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ