Sunday, May 19, 2024
เพื่อสังคม บทความแนะนำ นิตยสารอนุรักษ์

อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

อันตราย

อุณหภูมิทะเลพุ่งสูงสุด

ตอนนี้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการบันทึกแล้ว! องค์การบริหารมหาสมุทรศาสตร์และชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) เปิดเผยว่า ปีนี้ปรากฏการณ์เอลนีโญจะกลับมา (ตอนนี้เริ่มปรากฏในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว) อุณหภูมิน้ำทะเลและอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น ตอนนี้อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวทะเลพุ่งสูงถึง ๒.๑ องศาเซลเซียสแล้ว ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่เคยมีการบันทึก สาเหตุกว่า ๙๐% หนีไม่พ้นตัวการปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้น เมื่ออุณหภูมิทะเลสูงขึ้น ไม่เพียงส่งผลต่อสัตว์ทะเล ปะการังฟอกขาว และกระทบห่วงโซ่อาหาร ทำให้สัตว์ทะเลที่มนุษย์กินได้ลดน้อยลงแล้ว เตรียมรับมือสถิติความร้อนที่จะพุ่งสูงขึ้นในปีนี้ ตามมาด้วยพายุและอากาศแปรปรวน…ทราบแล้วก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้

ต้นไม้เหลว

ต้นไม้ไฮเทค

เมื่อโลกเกิดวิกฤต ก็มักจะมีเทคโนโลยีจากไอเดียมนุษย์ออกมาช่วยโลกเสมอ “ต้นไม้เหลว” LIQUID3 Bioreactor ตามถนนในเมืองเบลเกรด เมืองหลวงของประเทศเซอร์เบีย ซึ่งภายในบรรจุน้ำ ๖๐๐ ลิตร มีสาหร่ายขนาดเล็ก (Microalgae) คอยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตออกซิเจนกลับมา จึงได้ชื่อว่าต้นไม้เหลว มาจากข้อจำกัดที่เบลเกรดไม่มีพื้นที่พอปลูกต้นไม้ แต่ต้องเผชิญมลพิษรุนแรง (รั้งตำแหน่งเมืองอันดับ ๔ ของเซอร์เบียที่มีมลพิษเยอะที่สุด เพราะมีโรงงานถ่านหินถึงสองโรงใหญ่ๆ) Institute for Multidisciplinary Research มหาวิทยาลัยเบลเกรด หนึ่งในผู้ร่วมผลิต เปิดเผยว่า ต้นไม้เหลวมีประสิทธิภาพมากกว่าต้นไม้ตามธรรมชาติ ๑๐-๕๐ เท่า ต้นไม้เหลว ๑ เครื่อง ทำหน้าที่เหมือนต้นไม้อายุ ๑๐ ปี จำนวน ๒  ต้น หรือสนามหญ้า ๒๐๐ ตารางเมตร แถมยังติดตั้งได้ไว ติดตั้งแล้วเริ่มฟอกอากาศได้เลย สาหร่ายก็ยังนำมาทำปุ๋ยต่อได้อีก ถึงหน้าหนาวไม่มีแสงอาทิตย์ ไฟบิลด์อินในเครื่องช่วยสังเคราะห์แสงได้ตลอดปี สร้างทั้งที พื้นที่น้อยก็ใช้สอยหลายประโยชน์ มีแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ที่นั่งรอบๆ พร้อมชาร์จโทรศัพท์ขณะนั่งรอได้อีก

ภาพ: www.gp-award.com

โซลาร์เซลส์

โอริกามิ

ไอเดียสุดเจ๋งนี้มาจาก Levante  สตาร์ทอัปจากอิตาลี ผู้ผลิตเทคโนโลยีสีเขียวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโอริกามิ กระดาษพับของญี่ปุ่น นอกจากโอริกามิแล้ว ความชื่นชอบการแคมปิ้ง ล่องเรือ ทำให้ทีมผู้ก่อตั้ง Levante เกิดไอเดียน่าทึ่ง ออกแบบโซลาร์เซลส์ที่ง่ายต่อการพกพา ไม่เปลืองเนื้อที่จัดเก็บ พับแล้วเล็กลงกว่าเดิม ๙ เท่า ประกอบง่าย สะดวกใช้ น้ำหนักเบากว่าแผงพับได้แบบอื่นๆ ๒๐% ให้กำลังไฟ ๓๓๐ และ ๕๐๐ วัตต์ โดยสามารถให้พลังงานตู้เย็น ๓๘ ชั่วโมง แล็ปท็อป ๒๗ ชั่วโมง เครื่องปรับอากาศ ๔ ชั่วโมง และเตาแม่เหล็กไฟฟ้าชั่วโมงครึ่ง พลังงานสะอาดแบบนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสายกรีนที่ชื่นชอบชีวิตเอาต์ดอร์ นักแคมปิ้ง นักเดินทางที่ชอบสัมผัสธรรมชาติที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ฯลฯ โซลาร์เซลส์โอริกามิยังได้รับรางวัล 2022 Best Practices Award for Innovation

ภาพ: Levante

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 68 / โลกร้อน / globalwarming /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ