Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

วิถีแม่ทา

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 6
เรื่อง: รัตน-รัตน์
ภาพ: ชลิต สภาภักดิ์

วิถีแม่ทา

เที่ยงตรง เงาของเราเองบอกเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ตรงตั้งฉากกับพื้นดินหนทางข้างหน้ายังอีกแสนไกลอากาศที่ร้อนแล้ง ริ้วของเปลวแดดแผดเผาพื้นถนน ทำให้เห็นฝุ่นผงก่อตัวขึ้นและปลิวหายด้วยแรงลมบ่ายคล้อยเมื่อเข้าเขตแนวป่าแดดยังร้อนแรงจนขึ้นเปลว แต่อากาศกลับไม่ร้อนแล้งเหมือนหนทางที่ผ่านมาเมื่อผ่านซุ้มต้นไม้ ไม้ใหญ่ตลอดแนวทิวเขากรองอุณหภูมิให้ลดลงและรูสึกสดชื่นขึ้นเรื่อยๆ หอมกลิ่นป่าลอยลมมาไม่ไกลจากจุดหมายปลายทางป่าชุมชนตำบลแม่ทา

แม่ทาชุมชนในหุบเขา
ชุมชนแม่ทา อยู่ที่ตำบลแม่ทา กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนพึ่งตนเองที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง จากการร่วมมือร่วมใจของชาวแม่ทาและผู้นำ ชุมชนที่ทุกคนล้วนผ่านประสบการณ์ทั้งดีและร้ายผ่านวิกฤติและโอกาส ความผิดพลาดและบทเรียนร่วมกัน จึงต้องการแก้ปัญหาให้กับชุมชน และสามารถหลอมรวมความเป็นอยู่ของชุมชนคนแม่ทาและการอนุรักษ์ป่าต้นนํ้าเข้าด้วยกันเป็นวิถีแม่ทา ป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์

แม่ทา เป็นชุมชนในหุบเขาที่มีอายุเกือบ ๔๐๐ ปี พื้นที่ร้อยละ ๘๐ เป็นหุบที่ล้อมด้วยเทือกเขาผีปันนํ้า อันเป็นต้นกำเนิดห้วยเล็กๆ หลายสายที่ไหลรวมเป็นลำนํ้าแม่ทา หล่อเลี้ยงคนในชุมชนสันนิษฐานจากข้อมูลและหลักฐานชุมชนได้ว่า ผู้คนที่นี่อพยพมาตั้งรกรากราว พ.ศ. ๒๑๘๖ ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ เช่น ลั๊วขุนคง อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่แถบบริเวณแจ่งหัวริน เนื่องจากการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษี ส่วนชาวเชียงแสนหนีพ่ายศึกหัวเมือง ชาวละกอนหนีศึกจากเมืองเขลางนคร (ลำปาง) กลุ่มคนที่มาตอนหลังมีสัญชาติขมุ เขมร ซึ่งมีความรู้ด้านการทำไม้และการเลี้ยงช้าง ชุมชนมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยป่าต้นนํ้าแม่ทาทั้งการอุปโภคและบริโภค ยึดการทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก

ทำลายป่าอย่างถูกกฎหมาย
วิกฤติเยือนชาวบ้านแม่ทาจากการแย่งชิงทรัพยากรจากบุคคลภายนอกและความไม่รู้เท่าทันความเสียหายจากคนในชุมชนเอง เริ่มจากสัมปทานป่าไม้ที่รัฐบาลให้บริษัทเอกชนสัมปทานไม้ในเขตป่าใกล้หมู่บ้านถึง ๔ ครั้ง เริ่มจากบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าเข้ามาสัมปทานป่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ และ พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐก็ให้เข้ามาสัมปทานไม้สัก จากนั้นก็มีสัมปทานไม้หมอนรถไฟและไม้ฟืนรถไฟต่ออีก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ – ๒๕๐๐ นี่คือกระบวนการทำลายป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสมัยนั้นส่วนชาวบ้านเองก็ตัดไม้ฟืนจำนวนมากเพื่อนำไปขายให้กับบริษัท ไทยแอมป์ยาสูบ ที่เข้ามาก่อสร้างโรงบ่มใบยาสูบ เมื่อป่าเริ่มหายไป ปริมาณนํ้าลำห้วยสาขาของแม่นํ้าแม่ทาที่หล่อเลี้ยงนาข้าวก็เหือดแห้ง เป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดพลังในการคัดค้านการทำลายป่าจนสามารถรักษาป่าต้นนํ้าผืนสุดท้ายไว้ได้จำนวน ๔ จุดได้แก่ ป่าแม่บอน ป่าแม่แทน ติดเขต อ. ห้างฉัตร จ. ลำปาง, ป่าห้วยนํ้าขุ่นติดเขตกิ่ง อ. บ้านธิ จ. ลำพูน, ป่าแม่เลาะ ติดเขต อ. แม่ทา จ. ลำพูน และป่าแม่ปงกา ติดเขต อ. บ้านธิ จ. ลำพูน

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / เชียงใหม่ / ป่า / แม่ทา / แม่ออน / แม่นํ้า /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ